สถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (ไอเอฟดี) ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนจำนวน 1,188 หน่วยตัวอย่าง ที่มีอายุ 15 ปี ขึ้นไป ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ และกำหนดขนาดตัวอย่างตามสัดส่วนประชากร แบ่งเป็นในและนอกเขตเทศบาล และกระจายทุกระดับการศึกษา เพศและอาชีพ เรื่อง ความเห็นต่อโครงการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย 8.3 ล้านราย ที่รัฐจัดสรรงบ 19,290 ล้านบาท พบว่าประชาชนเห็นด้วยกับโครงการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยดังกล่าวถึงร้อยละ 85.6% แต่ถึงกระนั้นประชาชนมีข้อกังวลเกี่ยวกับการจัดสรรเงินฯ สู่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยนี้ว่า อาจจะไม่ถึงหรือไม่แน่ใจว่าจะถึงผู้มีรายได้น้อยได้จริงถึง 51.2% โดยมีรายละเอียดดังนี้
ด้าน "เห็นด้วย" 85.6% นั้น มองว่า
1. ผู้มีรายได้น้อยจะได้รับการดูแลช่วยเหลือ 55.1%
2. แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลให้การดูแลช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยจริง 31.6%
3. จะทำให้ใช้จ่ายมากขึ้น เศรษฐกิจดีขึ้น 12.7%
4. อื่น ๆ 0.6%
และ "ไม่เห็นด้วย" 14.4% มองว่า
1. วิธีนี้ไม่สามารถช่วยคนจนได้จริง/ ยั่งยืน 56.1%
2. ใช้จ่ายงบประมาณประเทศอย่างไม่เหมาะสม 24.6%
3. เป็นการหาเสียง สร้างคะแนนนิยม 14.9%
4. อื่น ๆ 4.9%
เมื่อถามเพิ่มเติมว่า การจัดสรรเงินนี้ฯ จะถึงมือผู้มีรายได้น้อยได้จริงหรือไม่ พบว่า 51.2% มีความไม่แน่ใจ
1. ถึงมือกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย 48.8%
2. ไม่น่าจะมือถึงกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยได้จริง 42.8%
3. ไม่แน่ใจ 8.4%
จึงตั้งข้อสังเกตว่าที่ผ่านมา รัฐบาลชุดต่าง ๆ ต่างพยายามอัดฉีดเม็ดเงินไปที่ระดับรากหญ้า แต่พบว่าฝนตกไม่ทั่วฟ้า และคนที่ควรได้ก็ไม่ได้หรือคนที่ควรจะได้ก็ได้ไม่เพียงพอ คนที่ไม่ควรได้กลับได้รับ ซึ่งโครงการฯ นี้ มีส่วนลดปัญหาในระบบสวัสดิการสำหรับคนจนแบบเหวี่ยงแห เพราะเป็นการจัดสรรงบฯ ไปยังผู้มีรายได้น้อยโดยตรง และยังจูงใจให้แรงงานนอกระบบมาขึ้นทะเบียนมากขึ้น แต่กระนั้นการรับรู้ของประชาชนยังกังวลว่า การช่วยเหลือจะเข้าถึงกลุ่มคนยากจนจริงหรือไม่
ข้อเสนอในการจัดสรรงบฯ ไปช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยตรงจากภาครัฐ ดังนี้
1. ควรประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้ถึงโครงการจัดสรรเงินช่วยเหลือคนจนผ่านการลงทะเบียนคนจนว่า แตกต่างจากโครงการลักษณะนี้ที่ผ่านมาอย่างไร เพราะประชาชนส่วนหนึ่งยังรับรู้ว่าโครงการฯช่วยเหลือในอดีตนั้นเงินจากรัฐถูกจัดสรรตาม "ดุลยพินิจ" ของผู้มีอำนาจในชุมชน และการใช้จ่ายภาครัฐมีขั้นตอนซับซ้อน อาจล่าช้าในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และคอร์รัปชันได้ง่าย จนทำให้เม็ดเงินไปถึงคนยากจนไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย และคนจนตัวจริงเข้าไม่ถึง
2. ควรมีกระบวนที่ชัดเจนในการตรวจสอบและเข้าถึงกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่แท้จริง โดยบูรณาการฐานข้อมูลของภาครัฐและเอกชนบางส่วนเข้าด้วยกัน เพื่อตรวจสอบได้ว่าผู้ที่มาลงทะเบียนเป็นคนยากจนตัวจริง และสร้างความมั่นใจและเชื่อถือของประชาชนมีต่อโครงการนี้
3. ควรกำหนดมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยโดยแยกเป็นสองกลุ่ม คือ ผู้ที่ขาดความสามารถหารายได้ เช่น คนสูงวัย ผู้พิการ ฯลฯ และกลุ่มคนจนแต่ยังมีความสามารถหารายได้ โดยคนกลุ่มแรกรัฐควรให้การช่วยเหลือโดยตรงแบบให้เปล่าตามความจำเป็นในการดำรงชีพ ส่วนกลุ่มที่ยังสามารถทำงานได้ ควรได้รับเงินอุดหนุนแบบอัตราก้าวหน้า เพื่อจูงใจให้คนจนพยายามทำงานมากขึ้น เพื่อที่จะได้รับเงินอุดหนุนในอัตราที่สูงขึ้น
4. ควรมีมาตรการส่งเสริมอาชีพให้แก่คนยากจนควบคู่กันไปด้วยกับการให้การอุดหนุนเงินโดยตรงที่เป็นการช่วยเหลือระยะสั้น เพื่อส่งเสริมให้คนยากจนมีผลิตภาพเพิ่มขึ้น และไม่จนเรื้อรังที่ต้องรับการช่วยเหลืออยู่ตลอดไป
สถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (ไอเอฟดี)
http://www.ifd.or.th/