ความสำเร็จในการช่วยฟื้นคืนชีพทั้ง 2 ครั้งนี้ ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า มาจากความรู้เรื่องวิธีการทำ CPR ของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ และการมีเครื่องAED เตรียมความพร้อมสำหรับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน แต่ใช่ว่าความโชคดีนี้จะเกิดขึ้นในทุกครั้ง!เพราะจากสถิติ "ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน" ในแต่ละปีประเทศไทยมีประชาชนเสียชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันกว่า 54,000 คน เท่ากับว่าในทุกๆ 1 ชั่วโมงมีคนเสียชีวิตจากโรคหัวใจมากถึง 6 คน และเป็นภัยเงียบที่คร่าชีวิตคนไทยทุกเพศ ทุกวัย แต่หากผู้ป่วย ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที และถูกวิธีตามหลักห่วงโซ่การรอดชีวิต คือการช่วยเหลือด้วยการ CPR ประกอบกับการใช้เครื่อง AED ภายในระยะเวลา 4 นาทีหลังจากหัวใจหยุดเต้น ก็จะเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของประชาชนที่หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันนอกสถานพยาบาลได้
นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า จากตัวอย่างของสองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการเรียนรู้เรื่องการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน CPR และการติดตั้งเครื่อง AED ในพื้นที่สาธารณะที่มีคนอยู่เป็นจำนวนมากเป็นเรื่องสำคัญที่สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้ ดังนั้นเราจะต้องช่วยกันผลักดันให้มีการติดตั้งเครื่อง AED ในพื้นที่สาธารณะให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยที่ผ่านมาสพฉ.ได้ร่วมกับมูลนิธิการแพทย์ฉุกเฉินญี่ปุ่น (Japan Emergency medical Foundation (JEMF)) ตั้งคณะทำงานทำการวิจัยเพื่อพิจารณาแนวทางการติดตั้งและการใช้งานเครื่องAED อย่างมีประสิทธิภาพ และมีการประกาศใช้แนวทางดังกล่าวไปแล้วในประเทศญี่ปุ่น ซึ่ง สพฉ. ได้นำแนวทางและข้อเสนอแนะดังกล่าวมาปรับปรุงให้สอดคล้องกับประเทศไทย
สำหรับสถานที่ติดตั้งเครื่องAED เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลจะพิจารณาจากสถานที่ที่ประชาชนโอกาสเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันโดยส่วนใหญ่เป็นสถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน อาทิ สถานีรถไฟ สถานีรถโดยสารประจำทาง สนามบิน ท่าเรือ บนเครื่องบิน และการขนส่งมวลชนที่มีระยะทางไกล (รถไฟหรือเรือโดยสาร) ฟิตเนส เซ็นเตอร์ สปอร์ตคลับ หรือ สนามกีฬาและการแข่งขันกีฬาจำนวนคนมาก ๆ รวมถึงสนามกอล์ฟ ห้างสรรพสินค้า และย่านร้านอาหารขนาดใหญ่ ที่มีคนมาใช้บริการประมาณ 5,000 คนต่อวัน หรือสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ สถานที่สาธารณะขนาดใหญ่ ศูนย์กลางชุมชน สถานพยาบาล หรือสถานดูแลผู้สูงอายุ อพาร์ตเมนท์ที่มีผู้สูงอายุมากกว่า 50 คน โรงเรียน โดยเฉพาะสนามกีฬาของโรงเรียน บริษัท โรงงาน และสถานที่ให้บริการที่มีคนพลุกพล่าน สถานบันเทิง โรงแรมหรือศูนย์ประชุมขนาดใหญ่ รวมทั้งพื้นที่ห่างไกลจากหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน เช่น เกาะ หรือหุบเขาลึก และที่ผ่านมา สพฉ.ก็ได้กระจายการติดตั้งเครื่อง AED ที่ได้รับการสนับสนุนมาจากภาคเอกชนในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่างๆ เหล่านี้ หากแต่ยังไม่เพียงพอเมื่อเทียบเท่ากับประเทศญี่ปุ่น ที่มีการติดตั้งเครื่อง AED ในพื้นที่สาธารณะมากถึง 600,000 เครื่องทั่วประเทศ ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนควรมาร่วมช่วยกันผลักดันเรื่องนี้ให้เกิดอย่างเป็นรูปธรรมให้ได้
ทั้งนี้นอกจากการกระจายการติดตั้งเครื่อง AED ให้เพียงพอและทั่วถึงในพื้นที่สาธารณแล้วการเรียนรู้การใช้งานเครื่อง AED และการเรียนรู้การทำ CPR เพื่อช่วยในการฟื้นคืนชีพผู้ป่วยที่ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันก็เป็นเรื่องที่สำคัญเช่นกัน โดยล่าสุด สพฉ.ได้จัดทำคู่มือสำหรับประชาชนในการช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันด้วยการใช้เครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจชนิดอัตโนมัติ หรือ เออีดีเพื่อให้ประชาชนได้ดาวน์โหลดไปอ่าน โดยประชาชนสามารถดาวน์โหลดคู่มือไปอ่านและเรียนรู้การทำ CPR และการใช้งานเครื่อง AED ด้วยตนเองได้ได้ที่ลิงค์นี้ http://www.thaiemsinfo.com/autopagev4/files/jkzA229Tue44812.pdf นอกจากนี้เรายังได้หารือกับกระทรวงศึกษาธิการเพื่อบรรจุหลักสูตรการเรียนรู้เรื่องการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน (CPR) ไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอบสำหรับเด็กๆ ด้วย
"หากเราสามารถร่วมกันผลักดันให้เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมทั้งการติดตั้งเครื่อง AED ในพื้นที่สาธารณะและการเรียนรู้การใช้งานเครือง AED กับการทำ CPR ในเบื้องต้นก็จะเป็นประโยชน์กับประชาชนจำนวนมากที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้ คุณภาพในการใช้ชีวิตของประชาชนในบ้านเมืองเราก็จะดีขึ้น โอกาสในการรอดชีวิตของประชาชนต่อภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันก็จะรอดมากขึ้นนั่นเอง "เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)กล่าวทิ้งท้าย