"สถาบันฯ สิ่งทอ" เปิดแผนปี 2560 โชว์งานวิจัย เร่งพัฒนาดีไซน์รูปลักษณ์อุตฯสิ่งทอตามเทรนด์โลก ชี้จุดเปลี่ยนแฟชั่นทั่วโลก แบรนด์ระดับกลาง เริ่มตีตลาดแบรนด์ดัง จากปัจจัยเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน เผยคอลเลคชั่นเสื้อผ้าออกกำลังกายและสุขภาพมาแรง สถาบันฯ พร้อมทุ่มงบพัฒนา เชื่อมโยงงานวิจัย เกาะเทรนด์ตลาดอาเซียน วางเป้าสร้างผู้ประกอบการ 4,000 ราย
เมื่อเร็วๆ นี้ ดร.ชาญชัย สิริเกษมเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กล่าวในงาน สัมมนา Design for Wellness : Functional textiles นวัตกรรม แนวคิด และการออกแบบเพื่อการแข่งขันในอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน ภายใต้โครงการเพิ่มประสิทธิภาพอุตสาหกรรมสิ่งทอ ประจำปีงบประมาณ 2560 ว่าเป็นการกำหนดทิศทางนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมสิ่งทอให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์กระทรวงอุตสาหกรรม ปี 2560 -2564 ที่ให้ความสำคัญในงานวิจัยและพัฒนา โดยนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และดิจิตอล เพื่อเพิ่มผลิตภาพและมาตรฐานให้ภาคอุตสาหกรรมตลอดห่วงโซ่คุณค่า และเสริมสร้างศักยภาพของอุตสาหกรรมสิ่งทอบนแนวทางการค้นคว้าสิ่งทอพิเศษ และการออกแบบที่มีนวัตกรรม เพื่อพัฒนารูปลักษณ์สินค้าให้สวยงามและสอดคล้องกับเทรนด์ของตลาดทั่วโลก
นอกจากนั้น สถาบันฯ ได้มีการประเมินทิศทางของอุตสาหกรรมสิ่งทอและแฟชั่นในปี 2560 พบว่าจากความไม่มั่นใจในทิศทางเศรษฐกิจ กลุ่มแบรนด์ระดับบนมีอัตราการเติบโตที่ลดลง และกลุ่มแบรนด์ระดับกลางมีอัตราการเติบโตขึ้น ดังนั้นกลุ่มสินค้าที่น่าจับตามอง จะอยู่ในกลุ่มสินค้าเพื่อการออกกำลังกาย สินค้าเพื่อสุขภาพ และสินค้าที่สร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งสถาบันฯ ได้วางแนวทางในการส่งเสริมการพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพในกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าว โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) โดยแบ่งการดำเนินงาน 2 ส่วนคือ
• กิจกรรมที่ 1 : การพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่มีคุณสมบัติพิเศษ (Functional Textiles) สู่เชิงพาณิชย์เพื่อการแข่งขันในอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน
• กิจกรรมที่ 2 : โครงการประกวดงานออกแบบสิ่งทอเชิงสร้างสรรค์ ภายใต้แนวคิดการยกระดับคุณภาพชีวิต ด้วยสุนทรียะแห่งอนาคต
"สถาบันฯ จะเร่งผลักดันนโยบายเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอและแฟชั่นให้ครบวงจร เพื่อการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ โดยอาศัยด้านการออกแบบ การนำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ และการกำหนดมาตรฐานให้ได้ตรงกับความต้องการของตลาด พร้อมทั้งการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมสิ่งทอและแฟชั่น การสร้างฐานข้อมูลในการแลกเปลี่ยนทิศทางทางการตลาดโดยนำเทคโนโลยีและอินเตอร์เน็ตเข้ามาพัฒนาเพื่อให้เกิดประโยชน์ทางด้านการตลาด รวมถึงการสร้างเครือข่ายทางด้านแฟชั่น ที่จะเชื่อมโยงสู่ตลาดอาเซียนและตลาดโลกได้" ดร.ชาญชัยกล่าว
อย่างไรก็ตาม ได้มีการตั้งเป้าหมายการสร้างผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสิ่งทอ และแฟชั่นในกลุ่มต่างๆ ที่เป็น ผู้ประกอบการ โรงงาน SMEs Start up และ กลุ่มคลัสเตอร์ ทั่วประเทศให้ได้ 4,000 ราย พร้อมสร้างการเชื่อมโยงผ่านระบบอินเตอร์เน็ตและการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมสิ่งทอสู่ตลาดอาเซียนและตลาดโลก ทั้งทางด้านงานวิจัยและเทรนด์ของตลาดให้ได้ภายในปี 2563