ดร.กฤษดา สังข์สิงห์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมและพัฒนาการผลิต การยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในช่วงเดือนธันวาคมเรื่อยไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์เป็นช่วงที่มีสภาพอากาศค่อนข้างแห้ง ตอนเช้ามีอากาศค่อนข้างเย็น และช่วงสายจะมีอากาศร้อน แสงแดดแรง เป็นสาเหตุทำให้ดินแห้ง และส่งผลกระทบต่อต้นยางพารา หรือสวนยางพาราได้ โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ปลูกยางแถบภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ซึ่งเกษตรกรชาวสวนยางควรดูแลสวนยางอย่างใกล้ชิด เริ่มตั้งแต่การคลุมโคนต้นยางด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ เช่น ฟางข้าว เศษหญ้า ซังข้าวโพด เป็นต้น จัดวางให้มีระยะห่างจากต้นยางประมาณ 5-10 เซนติเมตร เพื่อช่วยรักษาความชื้นในดินอีกทั้งยังเป็นการเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของต้นยาง รวมทั้ง การป้องกันไฟไหม้สวนยาง ด้วยการกำจัดวัชพืชระหว่างแถวยาง ซึ่งในช่วงหน้าแล้ง อาจมีความเสี่ยงในการเกิดไฟไหม้สวนยางค่อนข้างสูง จึงควรทำแนวกันไฟ เพื่อเป็นการป้องกันไฟที่ลุกลามมาจากบริเวณข้างเคียงที่อยู่ติดกับสวน สามารถทำได้โดยการไถ หรือขุดถากวัชพืชและเศษซากพืชออกเป็นแนวกว้างไม่ต่ำกว่า 3 เมตร รอบบริเวณสวนยาง ในกรณีสวนยางขนาดใหญ่ควรทำแนวกันไฟ ทุกๆ 100 เมตร ภายในสวนระหว่างแถวยาง และกำจัดวัชพืชในบริเวณแถวยางออกให้หมดข้างละ 1 เมตร เพื่อป้องกันไฟไหม้ที่จะเกิดภายในสวนยาง
ดร.กฤษดา กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีต้นยางที่ถูกไฟไหม้ไม่รุนแรง หรือต้นยางเล็กอายุระหว่าง 1-3 ปี เกษตรกรควรดูแลเป็นพิเศษ เนื่องจากในต้นยางอ่อนที่ได้รับแดดแรงติดต่อกันเป็นเวลานาน จะส่งผลให้เซลล์เนื้อเยื่อส่วนที่รับแสงแดดไหม้เสียหาย และเจริญเติบโตช้ากว่าปกติ แนะนำให้เกษตรกรใช้ปูนขาวผสมน้ำอัตรา 1:2 ทิ้งไว้ค้างคืน แล้วทาลำต้น เพื่อป้องกันความร้อนจากแสงแดด ป้องกันต้นยางสูญเสียน้ำ และที่สำคัญ ป้องกันโรคและแมลงที่อาจเข้าทำลายได้ในเวลาต่อมา และในกรณีต้นยางที่ถูกไฟไหม้ไม่รุนแรง หากต้นยางถูกไฟไหม้แล้ว ถ้าเปลือกต้นยางบริเวณที่ถูกไฟไหม้แสดงอาการแตกออกมา ให้ใช้มีดคมๆ ปาดเอาส่วนที่เสียหายออก แล้วทายาป้องกันเชื้อรา และสารเคมีรักษาเนื้อไม้ทาซ้ำอีกครั้ง จะทำให้รอยแผลหายสนิทได้เร็วขึ้น หากต้นยางในสวนได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก จนไม่อาจรักษาหน้ายางได้เกิน 40% ของทั้งสวน ควรทำการปลูกใหม่ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือปรึกษาได้ที่ การยางแห่งประเทศไทยที่ท่านสะดวก