ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส ,อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ ,ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการ และอาจารย์วัฒนา บุญปริตร กรรมการรองผู้อำนวยการสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (ระดับอุดมศึกษา) แถลงผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อการที่เจ้าของพาสุนัข/แมวไปร้านอาหารด้วย ซึ่งได้ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 11 ถึง 16 ธันวาคม พ.ศ. 2559 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,167 คน
ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าวว่า สุนัขและแมวจัดเป็นประเภทสัตว์เลี้ยงที่มีความใกล้ชิดกับผู้คนมากที่สุดทั้งที่อยู่ในสังคมชนบทและสังคมเมือง ทั้งนี้นอกจากจะเลี้ยงสุนัขไว้คอยเฝ้าบ้านและเลี้ยงแมวไว้เพื่อดักจับหนูแล้ว ผู้คนส่วนใหญ่ยังเลี้ยงสุนัขและแมวไว้เป็นเพื่อนเล่น และไว้แก้เหงาและถือว่าสุนัขและแมวเป็นสมาชิกในครอบครัว จึงมีผู้คนบางส่วนนิยมพาสุนัขหรือแมวไปในสถานที่ต่างๆรวมทั้งพอไปยังอาคารสถานที่สาธารณะ เช่น ห้างสรรพสินค้าหรือร้านอาหาร
แต่อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมักมีเรื่องราวปรากฏผ่านทางเครือข่ายสังคมออนไลน์อยู่เป็นระยะถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของเจ้าของสุนัขและแมวบางส่วนในการพาสัตว์เลี้ยงของตนไปในสถานที่สาธารณะโดยเฉพาะในร้านอาหาร เช่น การให้สุนัขหรือแมวนั่งอยู่ข้างๆโต๊ะซึ่งอยู่ใกล้กับโต๊ะของผู้อื่น การนำภาชนะของร้านอาหาร เช่น จานหรือชามมาใส่อาหารให้สุนัขหรือแมวของตน หรือการใช้ช้อนตักอาหารป้อนสุนัขหรือแมว เป็นต้น ซึ่งกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางของสังคมถึงพฤติกรรมดังกล่าวของเจ้าของสุนัขและแมว รวมถึงมาตรการการดูแลจัดการของทางร้านอาหาร ขณะเดียวกันผู้คนยังแสดงความกังวลเกี่ยวกับความสะอาดปลอดภัยในการเข้าไปใช้บริการร้านอาหารที่เจ้าของพาสุนัขหรือแมวเข้าไปใช้บริการด้วย
จากประเด็นดังกล่าว สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อการที่เจ้าของพาสุนัข/แมวไปร้านอาหารด้วย
ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าวต่อว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดซึ่งเป็นเพศหญิงร้อยละ 50.73 และเพศชายร้อยละ 49.27 อายุ 15 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีสามารถสรุปผลได้ดังนี้ ในด้านการพบเห็นและความรู้สึกต่อการที่มีผู้นำสุนัข/แมวเข้ามาภายในร้านอาหาร/ร้านเครื่องดื่ม/ร้านไอศกรีม กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 47.04 ระบุว่าตนเองเคยพบเห็นผู้ที่พาสุนัข/แมวเข้าไปภายในร้านอาหาร/ร้านเครื่องดื่ม/ร้านไอศกรีมด้วย ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 52.96 ระบุว่าไม่เคยพบเห็น ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างเกือบสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 65.81 ยอมรับว่าตนเองจะรู้สึกอึดอัด/รำคาญหากพบเห็นผู้ที่พาสุนัข/แมวเข้าไปภายในร้านอาหาร/ร้านเครื่องดื่ม/ร้านไอศกรีม ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 24.85 ระบุว่าไม่รู้สึกอึดอัด/รำคาญ ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 9.34 ไม่แน่ใจ
กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 71.89 ร้อยละ 70.01 และร้อยละ 67.95 ระบุว่าการที่มีผู้นำสุนัข/แมวเข้าไปในร้านอาหาร/ร้านเครื่องดื่ม/ร้านไอศกรีมส่งผลให้ตนเองรู้สึกเกิดความไม่มั่นใจในความสะอาดปลอดภัยของภาชนะที่ใช้ใส่อาหาร/เครื่องดื่ม/ไอศกรีมของร้านนั้นๆ รู้สึกกลัวอันตรายที่เกิดกับสุขภาพจากการรับประทานอาหาร/เครื่องดื่ม/ไอศกรีมของร้านนั้นๆ และไม่กล้ากลับไปรับประทานอาหาร/เครื่องดื่ม/ไอศกรีมในร้านนั้นๆอีก ตามลำดับ
ในด้านความคิดเห็นต่อการนำสุนัข/แมวเข้าไปภายในร้านอาหาร/ร้านเครื่องดื่ม/ร้านไอศกรีม กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 69.58 มีความคิดเห็นว่าการติดป้ายห้ามนำสุนัข/แมวเข้าไปภายในร้านอาหาร/ร้านเครื่องดื่ม/ร้านไอศกรีมไม่ถือเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของผู้เลี้ยงสุนัข/แมวในการเข้าไปใช้บริการ ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างเกือบสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 74.29 มีความคิดเห็นว่าร้านอาหาร/ร้านเครื่องดื่ม/ร้านไอศกรีมควรเอาผิดกับผู้ที่นำอุปกรณ์ เช่น ช้อน ส้อม จาน ชาม ของทางร้านไปป้อนอาหาร/เครื่องดื่ม/ไอศกรีมให้กับสุนัข/แมว และกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 55.18 เห็นด้วยกับการที่ร้านอาหาร/ร้านเครื่องดื่ม/ร้านไอศกรีมจะจัดพื้นที่เฉพาะต่างหากให้กับผู้ที่นำสุนัข/แมวมาด้วย แต่อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 57.07 มีความคิดเห็นว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องออกกฎข้อบังคับห้ามนำสุนัข/แมวเข้าไปในร้านอาหาร/ร้านเครื่องดื่ม/ร้านไอศกรีมเว้นแต่สุนัขเพื่อการนำทาง ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าว