บมจ. อาฟเตอร์ ยู (AU) เริ่มซื้อขายใน mai 23 ธ.ค. นี้

พฤหัส ๒๒ ธันวาคม ๒๐๑๖ ๑๗:๒๐
บมจ. อาฟเตอร์ ยู (AU) ผู้นำร้านขนมหวานและเบเกอรี่ภายใต้แบรนด์ "อาฟเตอร์ ยู" พร้อมเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ mai 23 ธ.ค. นี้ ด้วยมูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO 3,263 ล้านบาท

นายประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) เปิดเผยว่า บมจ. อาฟเตอร์ ยู (AU) จะเข้า จดทะเบียนและเริ่มซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ mai ในกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร ในวันที่ 23 ธันวาคม 2559 โดย AU ดำเนินธุรกิจร้านขนมหวาน แบรนด์ "อาฟเตอร์ ยู" 18 สาขา และร้านน้ำแข็งไส แบรนด์ "เมโกริ" 2 สาขา รวมถึงให้บริการจัดงานเลี้ยงนอกสถานที่ และรับจ้างผลิตสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของบริษัทให้กับลูกค้ากลุ่มต่างๆ เช่น ผู้ประกอบการสายการบิน และร้านอาหาร เป็นต้น

AU มีทุนชำระแล้ว 72.50 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.10 บาท ประกอบด้วยหุ้นสามัญเดิม 560 ล้านหุ้น และหุ้นสามัญเพิ่มทุน 165 ล้านหุ้น โดยจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 163 ล้านหุ้นให้แก่ประชาชนทั่วไป (IPO) และกรรมการของบริษัท ในราคาหุ้นละ 4.50 บาท (จัดสรรให้ประชาชนทั่วไป 161.5 ล้านหุ้นและกรรมการของบริษัท 1.5 ล้านหุ้น) และจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ผู้บริหาร และ/หรือพนักงานของบริษัทฯ (ESOP) จำนวน 1.57 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 0.1 บาท และจำนวน 0.43 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 2.25 บาท เมื่อวันที่ 14-16 ธันวาคม 2559 มีมูลค่าการระดมทุนรวม 735 ล้านบาท มูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO 3,262.50 ล้านบาท มีบริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย

นายแม่ทัพ ต.สุวรรณ กรรมการผู้จัดการ บมจ. อาฟเตอร์ ยู (AU) เปิดเผยว่า AU ให้ความสำคัญกับการคิดค้นผลิตภัณฑ์ที่มีความแปลกใหม่และนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีความแตกต่างจากคู่แข่งมาอย่างต่อเนื่อง บริษัทใส่ใจในการเลือกสรรวัตถุดิบที่มีคุณภาพ และการให้บริการที่สร้างความประทับใจให้กับลูกค้า การนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai จะช่วยสร้างระบบงานที่แข็งแกร่ง และเพิ่มฐานทุนให้กับบริษัทเพื่อรองรับโอกาสทางธุรกิจในอนาคต โดย AU จะนำเงินที่ระดมทุนได้ลงทุนขยายธุรกิจของบริษัท ชำระคืนเงินกู้ และเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงาน

AU มีผู้ถือหุ้นใหญ่ 3 ลำดับแรกหลัง IPO ได้แก่ กลุ่มนางสาวกุลพัชร์ กนกวัฒนาวรรณ ถือหุ้น 42.48% กลุ่มนายแม่ทัพ ต.สุวรรณ ถือหุ้น 34.76% และกลุ่มนามสกุลอารีเจริญเลิศ ถือหุ้น 3.98% ทั้งนี้ ในวันแรกที่เริ่มทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ mai ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทฯ อาจจะเสนอขายหุ้นสามัญเดิมที่ตนถืออยู่ต่อบุคคลในวงจำกัด จำนวนไม่เกิน 50 ราย รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 52.50 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 7.2% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ บนกระดานรายใหญ่ (Big-lot Board) ในราคาเสนอขายเดียวกับราคา IPO

ทั้งนี้ การกำหนดราคาเสนอขายหุ้น IPO มาจากการสำรวจความต้องการซื้อหลักทรัพย์ของนักลงทุนสถาบัน (book building) โดยราคาเสนอขายหุ้น IPO อยู่ที่ 4.50 บาทต่อหุ้น คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E ratio) ที่ 34.6 เท่า โดยคำนวณจากผลประกอบการ 12 เดือนย้อนหลัง (ตุลาคม 2558-กันยายน 2559) ซึ่งมีกำไรสุทธิเท่ากับ 95.3 ล้านบาทหารด้วยจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหุ้นครั้งนี้ (fully diluted) คิดเป็นกำไรสุทธิต่อหุ้น 0.13 บาท ทั้งนี้ บริษัทมีนโยบายจ่ายเงินปันผลไม่น้อยกว่า 50% ของกำไรสุทธิหลังจากหักภาษีเงินได้นิติบุคคลและสำรองต่างๆ ทุกประเภทตามที่กฎหมายกำหนด

ผู้ลงทุนและผู้สนใจ โปรดดูรายละเอียดจากหนังสือชี้ชวนของบริษัทที่เว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต. ที่ www.sec.or.th และข้อมูลทั่วไปของบริษัทที่ www.afteryoudessertcafe.com และที่เว็บไซต์ www.set.or.th

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ