จับตาวาระ กทค. ครั้งที่ 33/2559

ศุกร์ ๒๓ ธันวาคม ๒๐๑๖ ๑๖:๕๒
ในการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 33/2559 วันอังคารที่ 20 ธันวาคม 2559 มีวาระที่น่าจับตาคือ เรื่อง บมจ. กสท โทรคมนาคม ฟ้องมติ กคท. กรณีบังคับใช้เงื่อนไขแนวทางการคงสิทธิเลขหมายที่ปรับปรุงใหม่ เรื่องรายงานผลการดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในกิจการโทรคมนาคม และเรื่อง บจ. ทรู ยูนิเวอร์แซล คอนเวอร์เจ้นซ์ และ บจ. ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น ไม่นำส่งรายงานบัญชีแยกประเภท

วาระ CAT ฟ้องมติ กทค. กรณีบังคับใช้เงื่อนไขแนวทางการคงสิทธิเลขหมายที่ปรับปรุงใหม่

วาระนี้สืบเนื่องจากการประชุม กทค. ครั้งที่ 13/2559 เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2559 มีมติเห็นชอบให้มีการบังคับใช้เงื่อนไขแนวทางปฏิบัติการโอนย้ายผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามแนวทางการคงสิทธิเลขหมายฉบับปรับปรุงใหม่ ให้มีผลภายในกรอบระยะ 4 เดือน หรือภายในวันที่ 21 ตุลาคม 2559 อย่างไรก็ดี ในเวลาต่อมา บมจ. กสท โทรคมนาคม ได้มีหนังสือชี้แจงมายังสำนักงาน กสทช. ลงวันที่ 25 สิงหาคม 2559 ระบุว่า บริษัทฯ จำเป็นต้องปรับปรุงระบบสารสนเทศเพิ่มเติม จึงขอขยายกรอบระยะเวลาการเปิดให้บริการออกไปอีก 6 เดือน แต่จะขอเปิดให้บริการชั่วคราวก่อนภายในวันที่ 15 ธันวาคม 2559 ทว่าหลังจากนั้น บมจ. กสท โทรคมนาคม ก็ได้ฟ้องศาลปกครองขอให้มีคำสั่งเพิกถอนมติ กทค. ครั้งที่ 13/2559 รวมทั้งหนังสือของสำนักงาน กสทช. ที่แจ้งให้บริษัทฯ ปฏิบัติตามมติดังกล่าว

ด้วยเหตุนี้ สำนักงาน กสทช. จึงนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 24 เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2559 เพื่อให้ที่ประชุมพิจารณาข้อจำกัดในการเปิดให้บริการของ บมจ. กสท โทรคมนาคม ขณะที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายอื่นนั้นพร้อมเปิดให้บริการ แต่ผลสุดท้าย กทค. เห็นว่าการให้บริการดังกล่าวจำเป็นที่ผู้ให้บริการทุกรายต้องเปิดให้บริการพร้อมกัน จึงมีมติให้เลื่อนกำหนดการเปิดให้บริการคงสิทธิเลขหมายตามเงื่อนไขปรับปรุงออกไปก่อน พร้อมทั้งมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. ประสานกับ บมจ. กสท โทรคมนาคม เพื่อกำหนดวันที่เหมาะสมและพร้อมเปิดให้บริการ โดยต่อมา บมจ. กสท โทรคมนาคม ได้มีหนังสือลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2559 แจ้งยืนยันว่าพร้อมเปิดให้บริการในวันที่ 20 มกราคม 2560 เป็นต้นไป แต่ปรากฏว่าหลังจากนั้นไม่กี่วัน สำนักงาน กสทช. ก็ได้รับคำสั่งจากศาลปกครองให้ผู้ถูกฟ้องคดี คือ สำนักงาน กสทช. และ กทค. จัดทำคำให้การแก้คำฟ้องยื่นต่อศาลภายในเงื่อนเวลาที่กำหนด

สำหรับวาระนี้ สำนักงาน กสทช. เสนอที่ประชุม กทค. เพื่อขอให้กำหนดผู้รับมอบอำนาจในการดำเนินคดีแทน รวมทั้งแนวทางการดำเนินคดีในศาลปกครอง แต่ประเด็นที่เป็นสาระและน่าสนใจยิ่งกว่าคือ เมื่อถึงวันที่ 20 มกราคม 2559 ผู้ให้บริการทุกราย ซึ่งรวมทั้ง บมจ. กสท โทรคมนาคม จะพร้อมเปิดให้บริการคงสิทธิเลขหมายตามเงื่อนไขใหม่หรือไม่ หรือจะมีเหตุอันใดให้ต้องผัดผ่อนออกไปอีก

วาระรายงานผลการดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในกิจการโทรคมนาคม

วาระนี้เป็นเรื่องเพื่อทราบ โดยสำนักงาน กสทช. เตรียมรายงานให้ที่ประชุม กทค. ทราบถึงผลการดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในกิจการโทรคมนาคมประจำเดือนพฤศจิกายน 2559 ซึ่งในเดือนนี้มีเรื่องร้องเรียนที่ผู้บริโภคหรือผู้ให้บริการแจ้งความประสงค์ขอไกล่เกลี่ยข้อพิพาทและเรื่องที่ตกค้างจากการดำเนินการในเดือนก่อนหน้านั้น จำนวนทั้งสิ้น 31 เรื่อง แต่มีเรื่องที่เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยจริงและสำเร็จเพียง 2 เรื่อง

ทั้งนี้ หากพิจารณาสถิตินับตั้งแต่ที่มีการเปิดศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในกิจการโทรคมนาคมเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2556 จนถึงเดือนพฤศจิกายน 2559 พบว่า ตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา มีเรื่องร้องเรียนที่มีผู้ประสงค์เข้าสู่กระบวนไกล่เกลี่ยจำนวน 757เรื่อง แต่มีเรื่องที่เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยเพียง 54 เรื่อง โดยไกล่เกลี่ยสำเร็จ 50 เรื่อง คิดเป็น 6.6% ของเรื่องร้องเรียนที่มีผู้ประสงค์เข้าสู่กระบวนไกล่เกลี่ยเท่านั้น ยิ่งหากเปรียบเทียบกับปริมาณเรื่องที่มีผู้ร้องเรียนมายังสำนักงาน กสทช. ในแต่ละปีจำนวนหลายพันเรื่องด้วยแล้ว ก็ยิ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยมากๆ จนสะท้อนได้ว่ากระบวนการดังกล่าวขาดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการแก้ไขเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภคอย่างแทบสิ้นเชิง รวมทั้งอาจไม่คุ้มค่ากับงบประมาณและทรัพยากรบุคคลที่ต้องใช้ในการดำเนินการ ซึ่งที่ผ่านมานายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพประชาชน ได้เคยตั้งข้อสังเกตเรื่องนี้ในที่ประชุม กทค. มาแล้วหลายครั้งหลายหน แต่สำนักงาน กสทช. ยังคงดำเนินกระบวนการเช่นเดิมต่อไป มิได้มีการประเมินความคุ้มค่าหรือปรับปรุงกระบวนการให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด

วาระ TRUE ไม่นำส่งรายงานบัญชีแยกประเภท

วาระนี้สืบเนื่องจากสำนักงาน กสทช. ได้เคยนำเสนอระเบียบวาระเรื่อง บจ. ทรู ยูนิเวอร์แซล คอนเวอร์เจ้นซ์ และ บจ. ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น ขอขยายระยะเวลานำส่งรายงานบัญชีแยกประเภทในกิจการโทรคมนาคมฉบับแก้ไขปรับปรุงของปีบัญชี 2558 ต่อที่ประชุม กทค. เพื่อพิจารณาในการประชุมครั้งที่ 25/2559 เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2559 โดยที่ประชุมครั้งนั้นได้ให้สำนักงาน กสทช. ถอนเรื่องออกจากการพิจารณา เพราะไม่แน่ใจว่าเป็นฐานอำนาจของ กทค. ในการพิจารณาเรื่องนี้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ได้พ้นกำหนดระยะเวลา 60 วันที่ทั้ง 2 บริษัทได้ขอขยายระยะเวลานำส่งรายงานบัญชีแยกประเภทดังกล่าวแล้ว (ครบเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2559) โดยทั้งสองบริษัทยังคงไม่นำส่งรายงานบัญชีแยกประเภทและไม่มีหนังสืออื่นใดแจ้งมายังสำนักงาน กสทช. ซึ่งถือเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 และในเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาขอขยายการนำส่งรายงานบัญชีแยกประเภทไปแล้ว ในการประชุม กทค. ครั้งนี้ สำนักงาน กสทช. จึงรายงานให้ที่ประชุมทราบเพื่อที่จะดำเนินการบังคับทางปกครองต่อไป นั่นคือเป็นอำนาจของเลขาธิการ กสทช. ในการสั่งให้ผู้รับใบอนุญาตปฏิบัติให้ถูกต้องหรือเหมาะสมภายในระยะเวลาที่กำหนด หากยังคงฝ่าฝืน ก็เป็นเรื่องที่ต้องมีการกำหนดค่าปรับทางปกครองต่อไป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ