วันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๙ นายชัชพงศ์ เอมะสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวภายหลังการประชุมศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินของจังหวัดอุบลราชธานี ว่า ขณะนี้อากาศในภาคอีสานเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว ซึ่งทำให้บางพื้นที่มีการเก็บน้ำไว้ใช้เพื่อการบริโภค อุปโภค ทำให้เกิดเป็นแหล่งเพาะพันธ์ยุงลายได้ หากไม่มีการป้องกัน จะทำให้จำนวนยุงลายเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และ โรคติดเชื้อไวรัสซิก้า เพิ่มในหลายพื้นที่
จากรายงานการเฝ้าระวังโรคของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี พบว่า ตั้งแต่วันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ถึงวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๙ มีผู้ป่วยยืนยันโรคติดเชื้อไวรัสซิก้า จำนวน ๑ รายในจังหวัดอุบลราชธานี หลังจากวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ ไม่มีรายงานผู้ป่วยรายใหม่เกิดขึ้น ทั้งนี้ที่ผ่านมาจังหวัดอุบลราชธานี ได้มีนโยบายให้ทุกหมู่บ้านรณรงค์กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง ในพื้นที่ที่พบผู้ป่วยให้มีการพ่นสารเคมีกำจัดยุงตัวแก่ไปพร้อมๆกันด้วย และให้มีการสุ่มประเมินภาชนะเก็บน้ำที่สามารถเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในทุกสัปดาห์ ตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข จากรายงานการเฝ้าระวังโรคพบว่า มีการเก็บตัวอย่างเลือดและปัสสาวะจากผู้สงสัยว่าจะป่วย เป็นจำนวน ๑๒๔ .คน ซึ่งผลการตรวจเป็นลบทุกตัวอย่าง การสุ่มประเมินภาชนะเก็บน้ำพบว่าไม่มีลูกน้ำ (ค่า HI = ๐) ในวันที่ ๕, ๑๔ และวันที่ ๒๘ จึงถือว่า วันนี้ เป็นวันที่สิ้นสุดการระบาดของโรคไวรัสซิก้าในอำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี
ทั้งนี้มาตรการที่สำคัญที่สุดได้แก่มาตรการ "๓ เก็บ ป้องกัน ๓ โรค" ได้แก่๑. การเก็บบ้านให้สะอาด โล่ง ไม่ให้มีมุมอับทึบ เป็นที่เกาะพักของยุง ๒.เก็บขยะ เศษภาชนะรอบบ้าน โดยทำต่อเนื่องสัปดาห์ละครั้ง ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ๓.สำรวจภาชนะใส่น้ำ ต้องปิดฝาให้มิดชิด ป้องกันยุงลายไปวางไข่ เพื่อป้องกัน ๓ โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิก้า รวมทั้งการกำจัดและควบคุมยุงตัวแก่ เช่น การพ่นสารเคมีกำจัดยุงลาย และการป้องกันไม่ให้ยุงกัด เช่น ทายากันยุง นอนในมุ้งหรือห้องที่มีมุ้งลวด กำจัดยุงโดยใช้ไม้ช้อตไฟฟ้า จุดสมุนไพรหรือยาจุดสมุนไพรหรือยาจุดไล่ยุง หรือใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นต้น
หากประชาชนมีข้อสงสัย ให้สอบถามที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร ๑๔๒๒