เช่นเดียวกับ ชาวบ้านห้วยลึก ตำบลห้วยทรายขาว อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ ที่ได้นำหลักคิดดังกล่าวมาใช้ในการแก้ปัญหาด้าน "ขยะ" ของชุมชน ที่ส่งผลกระทบต่อ "สุขภาวะ" ของคนในพื้นที่ จากปัญหาขยะจำนวนกว่า 500-1,000 กิโลกรัมในแต่วันที่สร้างปัญหาสะสมให้กับชุมชนมาอย่างยาวนาน ทั้งมลภาวะจากการเผาทำลาย กลิ่นเน่าเหม็นจากขยะที่ถูกที่ไม่เป็นที่เป็นทาง ขยะสะสมจนกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายจนมีผู้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น รวมไปถึงทัศนียภาพที่ไม่น่ามองของชุมชน
"โครงการร่วมสร้างชุมชนให้น่าอยู่ บ้านห้วยลึกจัดการขยะชุมชน" จึงเกิดขึ้นด้วยการนำพลังศรัทธาในศาสนาอิสลามและแนวคิด "ความสะอาดเป็นส่วนหนึ่งของศรัทธา" มาเป็นเครื่องมือในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนในชุมชน และสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จนทำให้ชุมชนบ้านห้วยลึกได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่งในการประกวดการจัดการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงของจังหวัดกระบี่ประจำปี 2559
นายอนุชา หลานเด็น กำนันตำบลห้วยทรายขาว เล่าว่าในอดีตบ้านห้วยลึกมีปัญหาขยะในชุมชนค่อนข้างมาก เนื่องจากมีขยะรวมกันมากถึงเกือบ 1 ตันในแต่ละวัน แต่ทางเทศบาลสามารถเข้ามาเก็บขยะได้เพียงสัปดาห์ละ 1 ครั้ง จึงทำให้มีปัญหาขยะล้น ส่งกลิ่นเน่าเหม็น และเป็นต้นเหตุของโรคไข้เลือดออก จึงเป็นที่มาของการจัดทำประชาคมหมู่บ้านเพื่อหาทางออก ประกอบกับมัสยิดบ้านห้วยลึกได้มีการทำในเรื่องของการคัดแยกขยะเพื่อให้มัสยิดสะอาด และมีกองทุนจากการขายขยะเพื่อเป็นค่าน้ำและค่าขนมของเด็กๆ ที่มาเรียนศาสนาในวันเสาร์และอาทิตย์ จึงได้ต่อยอดขยายผลในเรื่องนี้เชื่อมโยงลงไปสู่ชุมชน
"ชุมชนมีการจัดตั้งธนาคารขยะขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมและคัดแยกขยะ มีการจัดทำบัญชีการรับบริจาคขยะหรือซากาด เพื่อนำเงินที่ได้จากการขายขยะกลับคืนสู่ชุมชนในรูปแบบของสวัสดิการชุมชน ไม่ว่าจะเป็นทุนการศึกษาแก่เด็กยากจน และสวัสดิการแก่ผู้เสียชีวิตรายละ 1,000 บาท"
โดยการดำเนินงาน "ธนาคารขยะ" และ "บัญชีการรับบริจาคขยะ" ของหมู่บ้านห้วยลึกนั้นได้น้อมนำหลักคำสอนของศาสนาอิสลามที่ว่า "ความสะอาดเป็นส่วนหนึ่งของความศรัทธา" และหลักการจ่าย "ซากาต" หรือการบริจาคทานและการทำบุญมาเป็นแนวทางในการดำเนินงาน นอกจากนี้ยังร่วมกับ "มัสยิดบ้านห้วยลึก" ในการให้ความรู้และความเข้าใจกับชาวบ้านในการคัดแยกขยะและสุขภาวะของชุมชนทุกวันศุกร์ในช่วงก่อนที่จะมีการละหมาดใหญ่ รวมไปถึงการนำความรู้ในเรื่องขยะเข้าไปบูรณาการกับการจัดการเรียนการสอนใน "โรงเรียนบ้านห้วยลึก" เพื่อปูพื้นฐานในเรื่องดังกล่าวให้กับเด็กๆ
"หลักของศาสนาอิสลามเน้นในเรื่องของความสะอาดเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ ร่างกาย เสื้อผ้า จนไปถึงอาหารการกินที่สะอาดที่เรียกว่าฮาลาล ซึ่งเรื่องของความสะอาดนั้น เราจะต้องเน้นการปฏิบัติจริงอย่าให้มีแต่ในกระดาษและคัมภีร์ ความสะอาดนั้นสามารถเริ่มต้นได้ตั้งแต่ที่บ้าน ชุมชน และมัสยิด แล้วขยะที่เหลือใช้ก็ยังนำมาบริจาคเป็นซากาต ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการทำบุญตามหลักศาสนาอิสลามได้เช่นกัน" นายเวียง จิงู อิหม่ามมัสยิดบ้ายห้วยลึกระบุถึงการใช้หลักศาสนามาแก้ปัญหาของชุมชน
"คณะทำงานโครงการได้ทำงานร่วมกับทางโรงเรียนบ้านห้วยลึก โดยได้นำกิจกรรมการคัดแยกขยะเข้าสู่ห้องเรียน เพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้วิธีการดูแลรักษาความสะอาดในครอบครัวและชุมชนของตนเอง มีการพาเด็กๆ ไปศึกษาดูงานเรื่องขยะที่บ้านห้วยน้ำขาว ซึ่งตั้งแต่เริ่มโครงการมาก็เห็นความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นตามลำดับแต่ละบ้านแต่ละครัวเรือนมีการพัฒนา ซึ่งการพัฒนาเหล่านี้ส่งผลต่อการพัฒนาในภาพรวมของชุมชน" นายพงษ์ศักดิ์ ค้ามาก ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยลึก เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
ปัจจุบัน "ธนาคารขยะบ้านห้วยลึก" มีสมาชิกเข้าร่วมโครงการมาประมาณ 200 ครัวเรือน จากการทำงานมาระยะเวลา 1 ปี ปริมาณขยะในชุมชนลดลงจากเดิมเหลือเพียง 1 ใน 3 ด้วยการรณรงค์ให้ชาวบ้านคัดแยกขยะที่ขายได้รวมใส่ถุงไว้ ทุก 15 วันจะมีทีมงานเข้าไปรับถึงหน้าบ้าน มีการบันทึกยอดซากาตในบัญชีบริจาคของแต่ละครัวเรือน ก่อนที่นำขยะมาคัดแยกชนิดและประเภทของขยะที่ธนาคารขยะเพื่อรอผู้มารับซื้อ สำหรับร้านค้าต่างๆ ในชุมชนที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 15 ร้าน จะมีถังคัดแยกขยะตั้งอยู่ด้านหน้า เพื่อให้ผู้มาใช้บริการได้คัดแยกขยะก่อนส่งเข้าธนาคาร
นายวันชัย อำหมัด ประธานธนาคารขยะบ้านห้วยลึก เล่าว่าจากการดำเนินงานมากว่า 1 ปีธนาคารขยะของชุมชนมีเงินที่ได้จากการจำหน่ายขยะในบัญชีประมาณ 4 หมื่นบาท และได้มอบเงินสวัสดิการช่วยเหลือค่าทำศพให้กับสมาชิกไปแล้วจำนวน 8 ราย รายละ 1,000 บาท
"ปัจจุบันเรื่องของการคัดแยกขยะเราได้จัดทำเป็นกติกาของชุมชน ผลดีที่เกิดขึ้นนอกจากจะมีสวัสดิการของชุมชนแล้ว ปัญหาขยะก็ลดลงไป ชุมชนก็สะอาดขึ้น จากเดิมที่รถขยะจะมาเก็บขยะอาทิตย์ละ 1 ครั้ง ก็เหลือเพียง 3 สัปดาห์ต่อครั้ง ช่วยลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ของเทศบาลไปได้มากพอสมควร"
นายสมยศ บรรดา ผู้รับผิดชอบโครงการฯ เปิดเผยว่าแนวทางการขยายผลต่อจากนี้จะพยายามเชิญชวนให้สมาชิกทั้งหมดที่เหลืออีก 200 ครัวเรือนให้เข้าร่วมโครงการทั้งหมด และจะขยายผลการดำเนินงานด้านสวัสดิการออกไปในด้านอื่นๆ เช่นทุนการศึกษาสำหรับลูกหลานของสมาชิกหรือผู้พิการ
"ผลที่ได้รับจากการจัดทำธนาคารขยะของชุมชนก็คือ การสร้างจิตสำนึกให้กับคนในชุมชนและลูกหลานของเราในเรื่องของการจัดการขยะ เกิดเป็นสวัสดิการในด้านต่างๆ ของชุมชน ลดภาระค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะของเทศบาลได้มหาศาล ชุมชนสะอาดหน้าบ้านน่าอยู่น่ามองมากขึ้น และปัญหาโรคไข้เลือดออกก็ลดลงด้วยโดยเหลือเพียง 1 คน เมื่อเทียบจากก่อนทำโครงการที่มีถึง 5 คน"
จาก "ขยะ" ไร้ค่าที่นำมาซึ่งปัญหามลภาวะและสุขภาวะของชุมชน เมื่อนำพลังจิตสาอาและพลังศรัทธาแห่งศาสนาเข้ามาผสมผสาน "ขยะ" ของชุมชนบ้านห้วยลึกในวันนี้จึงได้กลายเครื่องมือที่สามารถต่อยอดการดำเนินงานไปสู่เรื่องอื่นๆ เพื่อสร้างความเข้มแข็งกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน.