ก.ล.ต. นับหนึ่งไฟลิ่ง 'บูรพา เทคนิคอล เอ็นจิเนียริ่ง’ ขาย IPO 140 ล้านหุ้น ลงสนามเทรด m a i

จันทร์ ๒๖ ธันวาคม ๒๐๑๖ ๑๗:๒๘
ก.ล.ต. นับหนึ่งไฟลิ่ง "บูรพา เทคนิคอล เอ็นจิเนียริ่ง" เสนอขายไอพีโอ 140 ล้านหุ้น ระดมทุนชำระเงินกู้ยืม และเป็นเงินทุนหมุนเวียน เตรียมเดินหน้าโรดโชว์ทั่วทุกภาคต้นปีหน้า

นายวรชาติ ทวยเจริญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟินเน็กซ์ แอ๊ดไวเซอรี่ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) บริษัท บูรพา เทคนิคอล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ ETE ผู้ให้บริการ บริหารจัดการบุคลากร และระบบงานธุรกิจ ในรูปแบบ Outsourcing บริการงานวิศวกรรมระบบไฟฟ้า และระบบโทรคมนาคม รวมถึงพลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์ เปิดเผยว่า หลังจากที่ 'ETE' ได้ยื่นคำขออนุญาตเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนเป็นครั้งแรก หรือ IPO และได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ หรือ ไฟลิ่ง ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) ขณะนี้สำนักงาน ก.ล.ต. ได้เริ่มนับหนึ่งไฟลิ่งของ บมจ.บูรพา เทคนิคอล เอ็นจิเนียริ่ง ตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2559 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

โดยที่ ETE มีทุนจดทะเบียนเท่ากับ 280 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 560 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท โดยทุนเรียกชำระแล้วเท่ากับ 210 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญ 420 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท โดยที่จะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 140 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท หรือ คิดเป็นร้อยละ 25 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์ในการระดมทุนเพื่อชำระเงินทุนกู้ยืม และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในบริษัท

นายวรชาติ กล่าวต่อว่า หลังจากนี้บริษัทฯอยู่ในระหว่างวางแผนสำหรับการเดินสายนำเสนอข้อมูลบริษัทแก่นักลงทุน หรือโรดโชว์ โดยมีเป้าหมายเพื่อพบ และให้ข้อมูลกับนักลงทุนทั่วทุกภาคของประเทศ โดยเชื่อว่า ETE จะได้รับกระแสตอบรับที่ดีจากนักลงทุนในการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ ด้วยองค์ประกอบของบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ ในการเป็นผู้ให้บริการบริหารจัดการบุคลากร และระบบงานธุรกิจ และบริการงานวิศวกรรมระบบไฟฟ้า และระบบโทรคมนาคม รวมถึงพลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีโอกาสขยายตัวตามความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต และที่สำคัญทีมผู้บริหารล้วนแล้วแต่มีความสามารถ และมีวิสัยทัศน์ รวมถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาธุรกิจ ซึ่งคาดหวังว่าจะทำให้นักลงทุนมีความสนใจต่อหุ้น ETE มากยิ่งขึ้น

นายไรวินท์ เลขวรนันท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บูรพา เทคนิคอล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ ETE กล่าวว่า บริษัทดำเนินธุรกิจหลักๆใน 3 ลักษณะประกอบไปด้วย 1.ธุรกิจให้บริการบริหารจัดการ (Management Service หรือ MS) แบ่งเป็นงานบริหารจัดการบุคลากร (Manpower Management หรือ MM) และงานบริหารจัดการระบบงานธุรกิจ (Business Process Outsourcing หรือ BPO) และงานบริหารจัดการรถเช่าพร้อมพนักงานขับรถ (Car Rental management หรือ CM) 2.ธุรกิจให้บริการงานวิศวกรรม (Engineering Service หรือ EN) ประกอบด้วยงานวิศวกรรมระบบไฟฟ้า (Electrical Power Engineering System หรือ EE) และงานวิศวกรรมระบบโทรคมนาคม (Telecommunication Engineering System หรือ TL) และ 3.ธุรกิจพลังงานทดแทนจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Energy หรือ SE) โดยมีโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินสำหรับหน่วยงานราชการ และสหกรณ์ภาคการเกษตร จำนวน 4 โครงการ กำลังการผลิตรวมทั้งสิ้น 16.47 เมกะวัตต์ ได้แก่ 1.สหกรณ์การเกษตรเมืองตราด จำกัด อ.เมือง จ.ตราด กำลังการผลิต 5 เมกะวัตต์ ซึ่งได้ทำการทดลองเดินเครื่องโดยเชื่อมต่อกับระบบโครงข่ายไฟฟ้า (First Sync.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว 2.สหกรณ์การเกษตรวัฒนานคร จำกัด อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว กำลังการผลิต 5 เมกะวัตต์ 3.สหกรณ์การเกษตรบางสะพานน้อย จำกัด อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ กำลังการผลิต 5 เมกะวัตต์ 4.สหกรณ์การเกษตรนิคมฯ คลองน้ำใส จำกัด อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว กำลังการผลิต 1.47 เมกะวัตต์ โดยทั้ง 4 โครงการจะสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ หรือ COD ได้ภายในสิ้นปี 2559

ทั้งนี้บริษัท บูรพา เทคนิคอล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) มีบริษัทย่อยอีก 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท อีทีอี เมเนจเมนท์ จำกัด หรือ ETEM มีทุนจดทะเบียน 80 ล้านบาท ดำเนินธุรกิจบริการบริหารจัดการ และธุรกิจพลังงานทดแทนจากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งบริษัทถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 99.27 และบริษัท ไทย สปีดี้ เมเนจเมนท์ จำกัด หรือ TSDM มีทุนจดทะเบียน 30 ล้านบาท ดำเนินธุรกิจบริหารจัดการรถเช่าพร้อมพนักงานขับนรถ

"เรามีประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญในธุรกิจการให้บริการในรูปแบบ Outsourcing และงานวิศวกรรมทั้งไฟฟ้า และโทรคมนาคม รวมถึงเราเริ่มเข้าสู่ธุรกิจพลังงานทดแทน ซึ่งทั้ง 4 โครงการได้รับ PPA แล้ว และอยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง และคาดว่าจะสามารถ COD ได้ในช่วงปลายปี 2559 ซึ่งเรามีความมั่นใจว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน จากโอกาสในการเติบโตของธุรกิจในอนาคต รวมถึงการทำงานร่วมกับที่ปรึกษาทางการเงินที่เป็นมืออาชีพทำให้กระบวนการต่าง ๆ เดินหน้าไปอย่างเป็นที่น่าพอใจ" นายไรวินท์กล่าว

ขณะที่ผลการดำเนินงานในปี 2557 บริษัทฯมีรายได้รวมทั้งหมด 1,143.19 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 18.78 ล้านบาท และผลประกอบการในปี 2558 บริษัทฯมีรายได้รวมทั้งหมด 1,594.47 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 64.64 ล้านบาท ส่วนผลประกอบการ 9 เดือนประจำปี 2559 สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2559 บริษัทฯมีรายได้รวมทั้งหมด 1,061.46 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 19.36 ล้านบาท

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ