การอภิปรายครั้งนี้ได้เปิดโอกาสให้ผู้กำหนดนโยบายด้านสะเต็มจากทุกภาคส่วนได้ร่วมวงสนทนาถึงแนวนโยบายในการพัฒนาและเสริมกำลังทรัพยากรบุคคลด้านสะเต็ม ตลอดจนความท้าทายต่าง ๆ ทั้งจากมุมมองของผู้พัฒนาและถ่ายทอดความรู้ ผู้จัดการศึกษา ผู้ประเมินศักยภาพแรงงาน ผู้จ้างงาน และผู้ทำงานพัฒนาที่จะเป็นตัวกลางในการผนึกกำลังของทุกภาคส่วน เพื่อบรรลุเป้าหมายในการผลิตกำลังพลคนเก่งด้านสะเต็ม ที่สามารถขานรับกับการปฏิรูปเศรษฐกิจประเทศได้อย่างทันท่วงที
ดร.ศิริชัย กิตติวราพงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในฐานะตัวแทนกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยถึงแนวนโยบายส่งเสริมด้านสะเต็มเพื่อการสร้างนวัตกรรมใหม่ว่า "ทาง สวทช. ส่งเสริมการเรียนรู้ด้านสะเต็มและความคิดสร้างสรรค์แก่ครูและนักเรียนอย่างต่อเนื่อง ด้วยการจัดเวิร์คชอปด้านสะเต็มโดยเน้นหัวข้อที่ไฮเทค น่าตื่นเต้น ออกนอกกรอบ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจใหม่ ๆ นอกจากนี้ยังมีแนวคิดส่งเสริมให้ครูเลือกบทเรียนสะเต็มที่เหมาะสมกับท้องถิ่น หรือประสานความร่วมมือกับผู้ประกอบการในท้องถิ่นเพื่อสร้างหลักสูตรสะเต็มที่เชื่อมโยงกับสังคมและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่นั้น ๆ วิธีนี้จะช่วยให้ครูและนักเรียนสามารถเชื่อมโยงสิ่งต่าง ๆ ที่พบเจอในชีวิตประจำวันเข้ากับสะเต็ม และจะเห็นว่าสะเต็มไม่ใช่เรื่องยากหรือเรื่องไกลตัวแต่อย่างใด"
ดร.พิเชฏษ์ จับจิตต์ รองผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา (สวก.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ได้เปิดเผยถึงแนวนโยบายด้านสะเต็มศึกษาเพื่อเตรียมคนสู่การทำงานในยุคแห่งนวัตกรรมว่า "กระทรวงศึกษาธิการเล็งเห็นถึงความสำคัญของสะเต็มว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการนำพาเยาวชนไทยไปสู่แรงงานคุณภาพ และจะนำพาประเทศไทยไปสู่การแข่งขันในระดับโลก จึงได้วางรากฐานด้านสะเต็มตั้งแต่ระดับปฐมวัย (อนุบาล) ไปจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เพื่อให้เด็กไทยมีทักษะพร้อมสู่ศตวรรษที่ 21 โดยได้ออกแบบหลักสูตรสะเต็มศึกษาขึ้นเพื่อช่วยให้การจัดการเรียนรู้มีประสิทธิภาพ นั่นคือเน้นสร้างความรู้ ทักษะ กระบวนการคิด ซึ่งนำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรม การเรียนจะมุ่งเน้นให้นักเรียนได้เรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติ การทำงานกลุ่ม ได้แลกเปลี่ยนและแสดงออก และจะต้องมีนวัตกรรมเกิดขึ้นในห้องเรียน ที่สำคัญเด็กจะต้องสามารถนำสิ่งที่ได้รียนรู้ไปใช้แก้ปัญหาในชีวิตประจำวันและนำไปสู่การประกอบอาชีพในอนาคตได้"
คุณกัญณัฏฐ์ สวัสดิ์สว่าง, ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวเพิ่มเติมถึงหลักสูตรสะเต็มศึกษาของไทยว่า "สสวท. มีความมุ่งมั่นที่จะผลักดันให้ครูและนักเรียนมีแรงบันดาลใจและรักที่จะเรียนรู้ในเรื่องวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี การสอนแนวใหม่จะมุ่งบูรณาการความรู้ต่าง ๆ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กสนใจใฝ่รู้ที่จะเรียนต่อในสายอาชีพสะเต็มมากขึ้น รวมถึงผลักดันให้เด็กสร้างนวัตกรรมด้วยตนเอง เพราะเรามองว่าคนทำงานรุ่นใหม่ในอนาคตไม่จำเป็นต้องไปสมัครงานกับใคร แต่จะสามารถสร้างนวัตกรรม สร้างอาชีพใหม่ๆ และสร้างรายได้ได้ด้วยตัวเอง สุดท้ายอยากฝากถึงคุณครูว่าสะเต็มไม่ใช่เรื่องใหม่หรือเรื่องยาก แค่ปรับเปลี่ยนวิธีการสอนเพื่อทำให้ความรู้วิทยาศาสตร์มีประโยชน์กับอาชีพและชีวิตประจำวันของคนรุ่นใหม่อย่างแท้จริง"
คุณวิรัช คันศร ผู้ตรวจราชการกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงความท้าทายในเรื่องศักยภาพด้านสะเต็มของแรงงานไทย และแนวนโยบายในการพัฒนาทักษะอาชีพด้านสะเต็มว่า "ณ วันนี้แรงงานไทยมีระดับความรู้ที่หลากหลาย นโยบายของกระทรวงแรงงานในการเตรียมพร้อมทรัพยาการมนุษย์เพื่อรองรับไทยแลนด์ 4.0 จึงแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ระยะละ 5 ปี สำหรับระยะที่ 1 คือ 5 ปีแรกจะเน้นการวางรากฐานด้านสะเต็มให้กับกลุ่มแรงงานที่มีความรู้ปานกลางจนถึงน้อย ด้วยการพัฒนาทั้งความรู้ ทักษะ และทัศนคติในด้านสะเต็มอย่างรอบด้าน จากนั้นในระยะที่ 2 หรือ 5 ปีถัดมาจะมุ่งสร้าง Innovative Workforce หรือแรงงานที่สามารถใช้งานเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต่อมาในระยะที่ 3 จะมุ่งเน้นความคิดสร้างสรรค์และการพัฒนางาน และระยะที่ 4 ตั้งเป้าสร้างแรงงานที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มหรือเพิ่มรายได้ด้วยเทคโนโลยี โดยปัจจุบันกรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้บูรณาการร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมและสภาอุตสาหกรรมในการดำเนินโครงการพัฒนาบุคลากรด้านปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง"
คุณภาวศุทธิ ศรีวิโรจน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายการตลาดและสื่อสารองค์กร บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด ในฐานะตัวแทนภาคเอกชน ได้กล่าวถึงแนวโน้มความต้องการและความสำคัญของทรัพยากรบุคคลด้านสะเต็มว่า "เรากำลังก้าวเข้าสู่ยุคที่เรียกว่าค็อกนิทีฟคอมพิวติ้ง (Cognitive Computing) หรือยุคที่คอมพิวเตอร์มีความสามารถมากขึ้นจนเข้าใจภาษามนุษย์ ตั้งสมมุติฐาน และเรียนรู้ได้ด้วยการสอน เทคโนโลยีในยุคนี้แตกต่างอย่างมากจากเมื่อก่อน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญและมีความคิดสร้างสรรค์ ในการนำสิ่งเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ในอีก 5 ปีข้างหน้าเราคงได้เห็นอาชีพใหม่ๆ เกิดขึ้นอีกมากมายอันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงนี้ ซึ่งเราเชื่อว่าความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ วิศวกรรม และเทคโนโลยีจะเป็นพื้นฐานสำคัญที่ส่งเสริมให้เด็กไทยมีศักยภาพในการแข่งขัน ตลอดจนเร่งให้เกิดการพัฒนาทั้งระดับอุตสาหกรรมและประเทศ"
คุณไสว ศรีไสย ที่ปรึกษาอาวุโส ด้านนวัตกรรมการศึกษา สถาบันคีนันแห่งเอเซีย กล่าวสรุปว่า "การสร้างความเข้มแข็งให้กับทรัพยากรบุคคลนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันและความเจริญรุ่งเรืองของชาติ ความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนและภาคประชาสังคมจะสามารถสนับสนุนภาครัฐและภาคการศึกษาเพื่อให้บรรลุปัญหาและความท้าทายต่าง ๆ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ปัจจุบันสถาบันคีนันแห่งเอเซียได้ทำงานร่วมกับบริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งพัฒนาบทเรียนด้านสะเต็มให้มีความหลากหลาย เป็นไปได้จริงในทางปฏิบัติ เหมาะสมกับบริบทการศึกษาของประเทศไทย และเพื่อพัฒนาศักยภาพครูผู้สอนเพื่อให้สามารถนำบทเรียนสะเต็มไปใช้และเกิดการปฏิวัติห้องเรียนได้จริง"
การอภิปรายครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ IBM Thai Teachers TryScience ซึ่งไอบีเอ็ม (ประเทศไทย) และคีนัน ร่วมกันดำเนินโครงการเป็นปีที่ 2 เพื่อส่งเสริมสะเต็มศึกษาในประเทศไทยผ่านการเรียนรู้แบบการทำโครงการ ด้วยการนำหน่วยการเรียนรู้ดิจิตัลจากเว็บไซต์ Teachers TryScience ของไอบีเอ็มมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาศักยภาพของครูไทย โดยเป็นหนึ่งในความมุ่งมั่นของไอบีเอ็มที่ดำเนินกิจกรรมพัฒนาการศึกษาไทยมาอย่างยาวนานกว่า 64 ปีแล้ว
ติดตามข่าวสารการพัฒนาด้านสะเต็มศึกษาและงานพัฒนาด้านอื่นๆ ของคีนันได้ที่
www.kenan-asia.org
www.facebook.com/KenanInstituteAsia