นางจันทร์ธิดา มีเดช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 22 (COP22) ณ เมืองมาร์ราเกซ ประเทศโมร็อกโก ระหว่างวันที่ 7-18 พฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า ที่ประชุมได้หารือถึงแนวทางการดำเนินงานภายใต้อนุสัญญาฯ ตามความตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 4 พฤศจิกายน 2559
การหารือได้ให้ความสำคัญกับกลไกทางการเงิน การพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี และการเสริมสร้างศักยภาพ เพื่อบรรลุเป้าหมายของความตกลงปารีสทั้งในมิติของการลดก๊าซเรือนกระจกที่จะจำกัดการเพิ่มขึ้นอุณหภูมิโลกเฉลี่ยไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียส และในมิติการตั้งรับปรับตัวต่อผลกระทบต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกดังกล่าว
สำหรับภาคเกษตร ได้หารือถึงการดำเนินงานต่างๆ ที่ให้ความสำคัญกับการปรับตัวและผลประโยชน์ร่วมจากการปรับตัว (Adaptation co-benefits) พร้อมทั้งเน้นการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี การเสริมสร้างศักยภาพ และการช่วยเหลือทางการเงิน เพื่อยกระดับการดำเนินงานของภาคเกษตรภายใต้อนุสัญญาฯ ซึ่งกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วต้องการให้ภาคเกษตรเน้นการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาแบบคาร์บอนต่ำ (Low carbon development) ไปพร้อมๆ กัน ขณะที่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ยังมีความกังวลต่อการดำเนินงานที่เน้นการพัฒนาแบบคาร์บอนต่ำในภาคเกษตรที่อาจจะกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศกำลังพัฒนาที่ยังไม่มีความพร้อมในเรื่องดังกล่าว ซึ่งอนุสัญญาฯ ควรเร่งสร้างกลไกด้านการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี การเสริมสร้างศักยภาพ และการช่วยเหลือทางการเงิน เพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาในการปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรที่เน้นลดการปล่อยคาร์บอนต่ำ
ทั้งนี้ สศก. เห็นว่า ประเทศไทยมีการเตรียมความพร้อมในการปรับโครงสร้างภาคเกษตรที่มุ่งการพัฒนาแบบคาร์บอนต่ำ แต่ยังต้องการการสนับสนุนจากกลไกต่างๆ ภายใต้อนุสัญญาฯ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของเกษตรกร บุคลากรภาครัฐ และการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่สำคัญ เช่น เทคโนโลยีเกษตรแม่นยำ เทคโนโลยีปรับปรุงพันธุ์พืช/สัตว์ และเทคโนโลยีพยากรณ์และเตือนภัย
นอกจากนี้ ระหว่างการประชุม COP22 สศก. ได้ร่วมเสวนาเกี่ยวกับแนวทางการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในหัวข้อ "Collaborations on Agriculture Climate Insurance in South East Asia" โดยมีผู้ร่วมเสวนาจากประเทศในกลุ่มอาเซียน ซึ่งผลการเสวนาเสนอให้การจัดทำการประกันภัยพืชผลเกษตรควรที่จะมุ่งสร้างโครงสร้างพื้นฐานของกลุ่มอาเซียนเพื่อพัฒนาการประกันภัยพืชผลเกษตรที่ใช้ Weather Index พร้อมทั้งมุ่งพัฒนาความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนในการดำเนินงาน