อย่างไรก็ตาม ราคาทองคำตลาดโลกในปี 2559 (ณ 27 ธ.ค.59) ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 78.14 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือ 7.4% จากราคาเปิดในช่วงต้นปี 2559 ที่ 1,060.71 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยมีกรอบการเหวี่ยงตัวจากจุดต่ำสุดถึงจุดสูงสุดในระดับ 314.29 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือ 30% จากราคาเปิด ขณะที่ราคาทองคำในประเทศนั้นปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันถึง 1,200 บาทต่อบาททองคำ หรือ ประมาณ 6.5%
นางพวรรณ์ กล่าวว่า สำหรับภาพรวมราคาทองคำในตลาดโลกปี 2560 วายแอลจีประเมินกรอบความเคลื่อนไหวราคาทองคำมีแนวรับที่ 1,090 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือ 18,600 บาทต่อบาททองคำ และแนวต้านอยู่ที่ 1,260 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือ 21,500 บาทต่อบาททองคำ โดยเบื้องต้นจับตาแนวรับบริเวณ 1,090 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หากยืนได้อย่างแข็งแกร่งยังมีโอกาสที่ราคาทองคำจะขยับขึ้นและทดสอบแนวต้าน 1,200 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หากไม่ผ่านจะมีการอ่อนตัวลงเพื่อตั้งฐานราคาอีกครั้ง แต่หากผ่าน 1,200 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ ราคาทองคำมีแนวโน้มจะปรับตัวขึ้นต่อเพื่อทดสอบแนวต้านสำคัญถัดไปในโซน 1,250-1,260 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งหากราคาทองคำสามารถกลับไปยืนเหนือโซนดังกล่าวได้มีโอกาสทดสอบ High เดิมของปี 2559 บริเวณ 1,375 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อย่างไรก็ตาม หากราคาทองคำหลุดแนวรับระดับ 1,090 ดอลลาร์ต่อออนซ์จะส่งผลให้เกิดแรงขายและกดดันให้ราคาทองคำมีโอกาสปรับตัวลงต่อเพื่อทดสอบทดสอบ Low ของปี 2558บริเวณ 1,045 ดอลลาร์ต่อออนซ์
ส่วนกลยุทธ์การลงทุนนั้น แนะนำให้นักลงทุนเข้าซื้อเมื่อราคาย่อตัวลงมาบริเวณแนวรับ และรอไปขายทำกำไรเมื่อราคาดีดตัวขึ้นไปหรือตามบริเวณแนวต้านต่างๆ อย่างไรก็ตามวายแอลจีเน้นย้ำว่านักลงทุนระยะสั้นควรวางแผนการลงทุนที่ชัดเจน มีจุดเข้าซื้อ จุดขายทำกำไร หรือจุดตัดขาดทุน และปฏิบัติตามแผนที่วางไว้อย่างเคร่งครัด
สำหรับประเด็นหลักที่อาจเป็นปัจจัยกดดันความเคลื่อนไหวของราคาทองคำในปี 2560 คือ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด หากเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ 3 ครั้งตามคาดหรือปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอัตราที่รวดเร็วมากกว่า 3 ครั้งอาจยิ่งหนุนให้สกุลเงินดอลลาร์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรให้พุ่งขึ้นซึ่งเป็นปัจจัยหนักที่จะกดดันราคาทองคำ นอกจากนี้การคาดการณ์ในเชิงบวกต่อนโยบายของนาย โดนัลด์ ทรัมป์จะกระตุ้นความต้องการสินทรัพย์เสี่ยงของนักลงทุนต่อเนื่องในปีหน้าซึ่งความต้องการสินทรัพย์เสี่ยงที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้เกิดแรงขายทองคำที่อยู่ในสินทรัพย์ปลอดภัยเช่นกัน ทั้งนี้ นับตั้งแต่การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐเป็นต้นมา กองทุน SPDR ซึ่งเป็นกองทุน ETF ทองคำที่ใหญ่ที่สุดในโลกมีการลดการถือครองทองคำต่อเนื่องมากกว่า 130 ตันสะท้อนความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยที่ลดลง ตลอดจนอุปสงค์ทองคำในจีนและอินเดียที่อาจซบเซาต่อเนื่องซึ่งทำให้ราคาทองคำขาดปัจจัยหนุนและกดดันการฟื้นตัวของราคาทองคำในปีหน้าได้
ทั้งนี้ยังคงมีปัจจัยบวกที่จะสนับสนุนราคาทองคำได้ คือ นายกรัฐมนตรีของอังกฤษ นางเทเรซา เมย์ จะเริ่มต้นกระบวนการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป(อียู) หรือ Brexit ก่อนสิ้นเดือนมีนาคม 2017 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเจรจาที่จะต้องเสร็จสิ้นภายใน 2 ปี คือต้นปี 2019 และหากการเจรจาในปี 2017 เป็นไปอย่างไม่ราบรื่นอาจกลับมาหนุนทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยได้ และถึงแม้การเจรจาจะราบรื่นโดยอังกฤษได้รับเงื่อนไขที่ดีเมื่อออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป ก็จะยิ่งกระตุ้นให้อีกหลายประเทศในสหภาพยุโรปทั้ง เยอรมัน ฝรั่งเศส อิตาลี เนเธอร์แลนด์ สเปน ต้องการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปเช่นกันซึ่งความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นจะส่งผลหนุนราคาทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยตลาดจนความไม่แน่นอนทางการเมืองในยุโรป ซึ่งในปี 2017 จะมีการจัดการเลือกตั้งทั้งในเยอรมัน, ฝรั่งเศสและเนเธอร์แลนด์ หากเกิดการพลิกขั้วอำนาจทางการเมืองไปสู่พรรคการเมืองฝ่ายขวาจัดก็อาจนำมาซึ่งการจัดทำประชามติขอแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปทั้งในฝรั่งเศสและเนเธอร์แลนด์ได้ นอกจากนี้หากในปีหน้าธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้น้อยกว่าคาดการณ์ที่ 3 ครั้ง หรือหากนโยบายอย่างเป็นทางการของนายโดนัล ทรัมป์สร้างความผิดหวังและทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนลดลงอาจส่งผลให้สกุลเงินดอลลาร์กลับมาอ่อนค่าและหนุนราคาทองคำให้ฟื้นตัวได้เช่นกัน