"สถานการณ์ราคาหมูของไทยไม่ต่างจากประเทศอื่นๆ ปัจจุบันราคาหมูเป็นหน้าฟาร์มลดลงมาอยู่ที่กิโลกรัมละ 56-63 บาท ซื้อขายจริงอยู่ที่กิโลกรัมละ 54-61 บาทเท่านั้น ขณะที่ต้นทุนการผลิตสูงถึง 64-68 บาทต่อกิโลกรัมแล้ว เท่ากับว่าผู้เลี้ยงบางส่วนโดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยที่แบกรับภาระขาดทุนไม่ไหวและต้องชะลอการเลี้ยงไปแล้ว ซึ่งเราเกรงว่าจะส่งผลต่อปริมาณหมูขุนที่จะเข้าสู่ตลาดในช่วง 6 เดือนข้างหน้า" นายสุรชัย กล่าวและว่า
ภาวะราคาหมูตกต่ำนี้ เกิดจากความต้องการบริโภคของประชาชนลดลงอย่างชัดเจน จากที่ปกติเคยบริโภคประมาณ 4-4.3 หมื่นตัวต่อวัน ลดลงมาอยู่ที่ 3.8-4 หมื่นตัวต่อวันในปัจจุบัน สวนทางกับปริมาณการผลิตหมูขุนที่ทั้งประเทศผลิตได้ถึง 4.5 หมื่นตัวต่อวัน จากผลกระทบสำคัญคือรายได้หลักของเกษตรกรที่ลดลง เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่องทั้งข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด ฯลฯ อย่างไรก็ตามแม้ต้องประสบปัญหานี้ แต่เกษตรกรส่วนใหญ่ต่างยอมรับในปัญหาและพยายามประคับประคองอาชีพต่อไปเพื่อไม่ให้กระทบกับผู้บริโภค เพราะทุกคนทราบดีว่า"วัฏจักรหมู" มีขึ้นมีลง ขึ้นอยู่กับความสมดุลระหว่างปริมาณการผลิตหมูขุนและความต้องการการบริโภค ทำให้ช่วงที่ผลผลิตหมูออกสู่ตลาดมาก แต่การบริโภคน้อยราคาจะปรับลดลง และยังขึ้นกับหลายปัจจัยทั้งเรื่องปริมาณการเลี้ยง ต้นทุนการผลิต ภาวะอากาศแปรปรวนที่ส่งผลต่อการให้ผลผลิต การบริโภค และเทศกาลต่างๆ
ส่วนการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย เช่น ภาครัฐที่ต้องเร่งกระตุ้นการบริโภคเนื้อหมูให้มากขึ้นจาก 14 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ที่เป็นอัตราคงที่เช่นนี้มากว่า 10 ปีแล้ว ซึ่งไทยถือว่าบริโภคหมูต่ำกว่าประเทศอื่นๆที่บริโภคมากถึง 20-40 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ทั้งจีน เวียดนาม และรัสเซีย ขณะที่เกษตรกรผู้ผลิตต้องวางแผนการเลี้ยงอย่างเป็นระบบ ต้องเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลการผลิตระหว่างกัน เพื่อให้สามารถผลิตหมูได้ต่อไป
ด้าน นายมงคล พิพัฒสัตยานุวงศ์ นายกสมาคมผู้ผลิต ผู้ค้า และผู้ส่งออกไข่ไก่ กล่าวถึงภาวะราคาไข่ไก่ที่ตกต่ำในปัจจุบันว่า เกิดจากช่วงต้นปีมีภัยหนาวเฉียบพลันและภาวะแล้งตามมา ส่งผลให้ปริมาณไข่ไก่ลดลงและราคาไข่ไก่ปรับตัวสูงขึ้น กลายเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรเพิ่มปริมาณการเลี้ยงมากขึ้น รวมทั้งมีการยืดอายุปลดแม่ไก่ยืนกรงออกไป ส่งผลต่อปริมาณไข่ไก่ที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
"ปีนี้อุตสาหกรรมไก่ไข่ของไทยต้องประสบกับภาวะราคาตกต่ำอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน จากทุกปีที่ราคาไข่จะตกต่ำมากที่สุดในช่วงเทศกาลกินเจจากนั้นราคาจะกระเตื้องขึ่น แต่จนถึงวันนี้ราคาไข่กลับถูกกว่าช่วงกินเจเสียด้วยซ้ำ เป็นเพราะอัตราการบริโภคที่ลดต่ำลงอย่างมาก จึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนหันมาบริโภคทั้งไข่ไก่ หมู และเนื้อไก่ ที่ราคาไม่สูง ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ และถือเป็นโอกาสของผู้บริโภคที่ได้รับประทานโปรตีนคุณภาพดีเหล่านี้" นายมงคล กล่าว
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีการผลิตไข่ไก่เฉลี่ย 15,500 ล้านฟองต่อปี ขณะที่การบริโภคในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีอัตราเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 4 ต่อปี โดยปัจจุบันคนไทยมีการบริโภคต่ำเพียง 220 ฟองต่อคนต่อปี ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆที่บริโภค 300-400 ฟองต่อคนต่อปี ผู้เลี้ยงไก่ไข่ประเมินว่าหากคนไทยทุกคนบริโภคเพิ่มขึ้นเพียง 20 ฟองต่อปี ก็สามารถแก้ปัญหาไข่ล้นตลาดและราคาตกต่ำได้แล้ว
นอกจากนี้ จากการลงพื้นที่สอบถามกับเกษตรกรถึงสถานการณ์สินค้าเกษตรในปัจจุบัน พบว่าแม้ราคาจะตกต่ำลง แต่ภาคผู้ผลิตอาหารสัตว์ก็มีส่วนช่วยลดภาระของเกษตรกร ด้วยการลดราคาอาหารสัตว์ลง อาทิ อาหารไก่ไข่ที่ลดราคามามากถึงกว่า 10 ครั้งในรอบ 1 ปี ตามวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับตัวลงในแต่ละช่วง ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จากทุกปีที่ลดลงปีละประมาณ 3-5 ครั้ง โดยเมื่อเปรียบเทียบราคาอาหารสัตว์ในเดือนธันวาคม 2559 พบว่าราคาต่ำกว่าในช่วงเดียวกันของปี 2558 ถึงกว่า 30 บาทต่อถุง 30 กิโลกรัม.