ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าวว่า เทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ของทุกปีเป็นช่วงที่มีวันหยุดยาวอย่างต่อเนื่องจึงมีการขับขี่ยานพาหนะเดินทางของผู้คนเป็นจำนวนมากทั้งการเดินทางท่องเที่ยวและการเดินทางกลับภูมิลำเนา เนื่องจากมีการเดินทางของผู้คนเป็นจำนวนมากดังนั้นปัญหาสำคัญประการหนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่คืออุบัติเหตุทางถนน โดยในแต่ละปีได้สร้างความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก ถึงแม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พยายามกำหนดแนวทางและมาตรการดำเนินการต่างๆออกมาเพื่อช่วยลดปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ เช่น มาตรการจำกัดความเร็วในการขับขี่ มาตรการเมาขับยึดรถ การตั้งด่านตรวจตราเป็นระยะ การปรับปรุงสภาพของถนน การติดตั้งป้ายจราจรหรือสัญญาณไฟเพิ่มขึ้น รวมถึงการติดตั้งป้ายรณรงค์ประชาสัมพันธ์และการจัดจุดบริการต่างๆ แต่จำนวนอุบัติเหตุทางถนนยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยจากข้อมูลของศูนย์อำนวยการเพื่อความปลอดภัยทางถนนระบุว่าในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ของปี 2558-2559 นั้นมีอุบัติเหตุสะสม 3,379 ครั้ง (เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนหน้า 12.75%) มีผู้เสียชีวิต 380 ราย (เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า 11.44%) และมีผู้บาดเจ็บรวม 3,505 ราย (เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า 12.45%) ทั้งนี้สาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเกิดจากการขับรถเร็วเกินกำหนด รองลงมาคือ เมาสุรา และขับขี่ยานพาหนะตัดหน้ากระชั้นชิด ดังนั้นเนื่องในโอกาสเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ประจำปี พ.ศ. 2559-2560 สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่ออุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่
ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าวต่อว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดซึ่งเป็นเพศหญิงร้อยละ 50.34 และเพศชายร้อยละ 49.66 อายุ 15 ปีขึ้นไป สามารถสรุปผลได้ดังนี้ สำหรับสาเหตุสำคัญสูงสุด 3 อันดับที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ตามความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างได้แก่ สภาพร่างกาย/จิตใจไม่พร้อมขณะขับขี่คิดเป็นร้อยละ 83.65 ความประมาทของตัวผู้ขับขี่คิดเป็นร้อยละ 81.58 และสภาพของยานพาหนะคิดเป็นร้อยละ 79.17 ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 56.97 เห็นด้วยกับมาตรการจำกัดความเร็วในการขับขี่ยานพาหนะบนถนนสายหลัก ขณะที่มีกลุ่มตัวอย่างประมาณหนึ่งในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 33.65 ไม่เห็นด้วย ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 9.38 ไม่แน่ใจ
นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 59.04 มีความคิดเห็นว่าการตั้งด่านตรวจตราเป็นระยะบนถนนสายหลักของเจ้าหน้าที่ตำรวจจะมีส่วนช่วยลดจำนวนอุบัติเหตุทางถนนได้ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 63.6 และร้อยละ 61.45 มีความคิดเห็นว่าการกำหนดมาตรการ "เมาแล้วขับ ยึดรถ" และการจัดจุดบริการเครื่องดื่ม/ขนมทานเล่น/ผ้าเย็นไว้เป็นระยะบนถนนสายหลักจะมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุทางถนนได้ตามลำดับ ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 59.81 มีความคิดเห็นว่าการติดตั้งป้ายรณรงค์ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการขับขี่ยานพาหนะอย่างปลอดภัยเป็นระยะบนถนนสายหลักจะมีส่วนช่วยทำให้ผู้ขับขี่ยานพาหนะตระหนักถึงการขับขี่ยานพาหนะอย่างปลอดภัยมากขึ้นได้ อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างประมาณสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 75.65 มีความคิดเห็นว่าจำเป็นต้องเพิ่มบทลงโทษกับผู้ที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนให้สูงขึ้นกว่าปัจจุบัน ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 18.24 มีความคิดเห็นว่าไม่จำเป็น ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 6.11 ไม่แน่ใจ
และเมื่อเปรียบเทียบความคิดเห็นระหว่างจำนวนอุบัติเหตุทางถนนในเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ประจำปี 2559-2560 กับเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ในปีที่ผ่านมานั้น กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 53.44 ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าว