นางสาววรรณสิริ โมรากุล อธิบดีกรมการท่องเที่ยว เปิดเผยว่า "นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มีนโยบายพิเศษมอบหมายให้จัดทำโครงการอบรม "เจ้าบ้านน้อย (Little Guide)" ตั้งแต่ปี 2558 ที่ผ่านมา โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้ร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ ในการพัฒนาและฝึกอบรมเยาวชนในท้องถิ่นหรือชุมชนที่มีแหล่งท่องเที่ยว ให้เป็นเจ้าบ้านที่ดีในการต้อนรับนักท่องเที่ยวให้เกิดความประทับใจ เข้าใจในศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นที่นักท่องเที่ยวมีโอกาสเข้าไปเยี่ยมเยือน โดยมีแนวคิดในการปลูกฝังจิตสำนึกของการเป็นเจ้าบ้านที่ดีตั้งแต่เด็ก เช่น การใช้เทคนิคการพูดและสื่อความหมายในการท่องเที่ยว การบริการด้วยใจ (Service mind) หรือการสื่อสารภาษาต่างประเทศอย่างง่าย ๆ ได้ โดยเริ่มจากกลุ่มนักเรียนชั้นประถมศึกษาขึ้นไป ซึ่งการจัดโครงการนี้ จะช่วยปลูกฝังให้เด็กในท้องถิ่นเกิดความรัก ความภาคภูมิใจในบ้านเกิดตนเอง สามารถถ่ายทอดเรื่องราว เล่า อธิบายข้อมูลที่ถูกต้องให้กับนักท่องเที่ยวได้เข้าใจในศิลปวัฒนธรรม ประเพณีของท้องถิ่น"
ทั้งนี้ ตามโครงการได้วางเป้าหมายที่จะสร้างเจ้าบ้านน้อยให้เกิดขึ้นในจังหวัด 12 เมืองต้องห้าม..พลาด 12 เมืองต้องห้าม..พลาด พลัส และเขตพัฒนาการท่องเที่ยว (Cluster) เช่น จังหวัดนครนายก จังหวัดจันทบุรี จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดชุมพร นครปฐม เป็นต้น ซึ่งจากที่เริ่มมาในปีงบประมาณ 2558 ได้สร้างเจ้าบ้านน้อยใน 8 จังหวัด รวม 800 คน ต่อมาในปีงบประมาณ 2559 ได้ดำเนินการใน 11 จังหวัด จำนวน 1,000 คน และวางเป้าหมายการทำงานในปีงบประมาณ 2560 ใน 15 จังหวัด รวม 1,500 คน ต่อเนื่องไปถึงปีงบประมาณ 2561 ใน 20 จังหวัด รวม 2,000 คน และปีงบประมาณ 2562 จะสร้างเจ้าบ้านน้อยใน 25 จังหวัดรวม 2,500 คน ซึ่งเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ได้เป็นประธานเปิดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ "เจ้าบ้านน้อย (Little Guide)" ณ ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ จังหวัดนครนายก นับเป็นอีกความก้าวหน้าที่เกิดขึ้น
อธิบดีกรมการท่องเที่ยว กล่าวว่า จังหวัดนครนายก เป็นจังหวัดที่ใกล้กรุงเทพมหานคร มีแหล่งท่องเที่ยวมากมาย ทั้งทางธรรมชาติและวัฒนธรรม แหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ และทางศาสนา อีกทั้งยังมีโครงการพระราชดำริ ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชดำริ ให้สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาร่วมกับสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย ดำเนินการจัดทำศูนย์นิทรรศการและแสดงแนวคิดทฤษฎีการพัฒนา ในด้านต่าง ๆ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 อาทิ ด้านการเกษตร ด้านปศุสัตว์ ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านพลังงาน เพื่อเผยแพร่แนวพระราชดำริให้กว้างขวางและลึกซึ้ง โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานชื่อโครงการแห่งนี้ว่า "ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ" หรือ "พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติมีชีวิต"
สำหรับการจัดอบรมที่จังหวัดนครนายกครั้งนี้ ประกอบด้วย นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาระดับ 5 - มัธยมศึกษาปีที่ 1 จาก 3 โรงเรียน ได้แก่ 1.โรงเรียนเมืองนครนายก 2.โรงเรียนชลนายกสงเคราะห์ 3.โรงเรียนวัดท่าด่าน รวมจำนวนทั้งสิ้น 90 คน โดยแบ่งเป็น การบรรยายภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ ซึ่งได้มีการแบ่งกลุ่มฝึกภาคปฏิบัติและลงพื้นที่ศึกษาเรียนรู้แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดนครนายก และการทำขนมพื้นบ้าน ซึ่งเมื่อคนในท้องถิ่นได้รับการฝึกอบรมในการเป็นเจ้าบ้านที่ดีตั้งแต่ยังเด็ก เช่น การต้อนรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเยี่ยมเยือนท้องถิ่นให้ได้รับ ความพึงพอใจ ปลอดภัย ได้รับความสะดวก ได้รับความยุติธรรมในซื้อสินค้าต่าง ๆ ก็จะทำให้นักท่องเที่ยว เกิดความประทับใจ และอยากเดินทางมาเยี่ยมเยือนและบริการในโอกาสต่อไป นอกจากนั้น ยังส่งผลต่อการส่งเสริมและยกระดับการท่องเที่ยวชุมชนให้มีรูปแบบการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพมาตรฐานมากขึ้น เช่น คุณภาพการบริการ ด้านความปลอดภัย ความสามารถของบุคลากรในท้องถิ่นที่สามารถ ให้ข้อมูล คำแนะนำ ข้อควรปฏิบัติได้อย่างถูกต้องเหมาะสมแก่นักท่องเที่ยวด้วย