นายสมบูรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ร่างพระราชบัญญัติแร่ฉบับใหม่ได้กำหนดสาระสำคัญ คือ
· กำหนดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการทรัพยากรแร่ในประเทศไทยให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยหนึ่งในบทบาทสำคัญของคณะกรรมการดังกล่าวคือ การจัดทำแผนแม่บทบริหารจัดการแร่ ภายใต้ดุลยภาพด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชน โดยแผนแม่บทบริหารจัดการแร่นอกจากจะจัดทำข้อมูลการสำรวจแร่ แหล่งแร่สำรอง การจำแนกพื้นที่หรือชนิดแร่ที่สมควรสงวนหรืออนุรักษ์ไว้แล้ว จะมีการกำหนดพื้นที่ที่มีแหล่งแร่อุดมสมบูรณ์และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงเพื่อกำหนดเป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง ซึ่งเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองดังกล่าว ต้องมิใช่พื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตโบราณสถาน พื้นที่แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึม พื้นที่เขตปลอดภัยและความมั่นคงแห่งชาติ หรือพื้นที่ที่มีกฎหมายห้ามเข้าใช้ประโยชน์โดยเด็ดขาด
· กำหนดให้แบ่งเหมืองออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ เหมืองประเภทที่ 1 เนื้อที่ไม่เกิน 100 ไร่ เหมืองประเภทที่ 2 เนื้อที่ไม่เกิน 625 ไร่ และเหมืองประเภทที่ 3 เป็นการทำเหมืองในทะเล เหมืองใต้ดิน หรือเหมืองที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมสูง โดยกำหนดอำนาจในการอนุญาตและกำกับดูแลการประกอบกิจการแร่จะเป็นไปในรูปแบบของคณะกรรมการ คือ คณะกรรมการแร่ และคณะกรรมการแร่จังหวัด
· กำหนดให้การทำเหมืองแร่ทุกประเภทต้องเสนอแผนฟื้นฟู การพัฒนา การใช้ประโยชน์ และการเฝ้าระวังผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนทั้งระหว่างการทำเหมืองแร่และหลังจากปิดเหมือง รวมถึงต้องวางหลักประกันการฟื้นฟูพื้นที่การทำเหมืองตามแผนฟื้นฟูและการเยียวยาผู้รับผลกระทบจากการทำเหมือง และสำหรับเหมืองแร่ที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนสูง ต้องจัดทำแนวพื้นที่กันชนการทำเหมืองและข้อมูลพื้นฐานด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนทั้งก่อนและหลังการทำเหมือง
· กำหนดให้การประกอบโลหกรรมในเขตประทานบัตรไม่ต้องขอรับใบอนุญาต เนื่องจากเป็นกิจกรรมที่มีความต่อเนื่องในโครงการทำเหมืองแร่ขนาดใหญ่ แต่กำหนดให้ผู้ยื่นคำขอประทานบัตรต้องเสนอแผนผัง โครงการทำเหมือง การแต่งแร่และการประกอบโลหกรรมมาในคราวเดียวกัน เพื่อในขั้นตอนการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายที่ว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติจะได้พิจารณาถึงผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้ครอบคลุมทั้งโครงการ สำหรับการประกอบโลหกรรมที่อยู่นอกเขตประทานบัตรยังคงต้องขอใบอนุญาตเพื่อประกอบการดังเดิม
· กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นจากพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 จำนวน 100 เท่า และกำหนดให้มีการเรียกเก็บเงินบำรุงพิเศษ อัตราไม่เกินร้อยละ 10 ของค่าภาคหลวงแร่ เพื่อนำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการพัฒนาท้องถิ่น การศึกษาวิจัยด้านแร่ การปรับสภาพพื้นที่ที่ผ่านการทำเหมือง รวมทั้งการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิด รวมทั้งกำหนดให้การทำเหมืองแร่โดยไม่ได้รับอนุญาต หรือทำเหมืองในพื้นที่ที่ห้ามมิให้ทำเหมือง นอกจากจะมีความผิดทางอาญาแล้วต้องมีความผิดทางแพ่งด้วย และกำหนดให้ผู้ได้รับความเสียหายทั้งต่อร่างกาย สุขภาพ และอนามัยจากการประกอบกิจการ สามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนได้
อย่างไรก็ตาม สำหรับทุกคำขอที่ได้ยื่นไว้ก่อนพระราชบัญญัติแร่ฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ให้ถือว่าเป็นคำขอตามกฎหมายแร่ฉบับใหม่ และในส่วนของ อาชญาบัตร ประทานบัตร หรือใบอนุญาตที่ออกให้ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 และ พระราชบัญญัติพิกัดอัตราค่าภาคหลวงแร่ พ.ศ. 2509 ให้มีผลต่อไปจนกว่าจะสิ้นอายุหรือถูกเพิกถอน ทั้งนี้ ตามกระบวนการตราพระราชบัญญัติ เมื่อร่างพระราชบัญญัติได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้ว นายกรัฐมนตรีจะนำขึ้นทูลเกล้าเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยให้ประกาศใช้เป็นกฎหมายภายใน 20 วันนับแต่วันที่ได้รับร่างพระราชบัญญัติ และมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 180 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทั้งนี้ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ได้ดำเนินการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อจัดทำอนุบัญญัติที่จะออกตามความในพระราชบัญญัติแร่ฉบับใหม่นี้ จำนวนกว่า 100 เรื่อง ซึ่งคาดว่าจะสามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ทันตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด นายสมบูรณ์ กล่าวทิ้งท้าย
สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักกฎหมาย กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่กระทรวงอุตสาหกรรม ถนนพระรามที่ 6 กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0 2202 3623 หรือเข้าไปที่ www.dpim.go.th