ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ ชู 3 ย่านสร้างสรรค์ของไทย ต้นแบบความสำเร็จเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเชิงพื้นที่อย่างยั่งยืน

พุธ ๐๔ มกราคม ๒๐๑๗ ๑๑:๓๗
· ดวงฤทธิ์ บุนนาค ชี้ 3 ตัวแปรสำคัญของความสำเร็จการพัฒนาย่านสร้างสรรค์

ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) เปิด 3 ตัวอย่าง "ย่านสร้างสรรค์" ต้นแบบของประเทศไทย ได้แก่ เจริญกรุง ตั้งเป้าให้กลายเป็นย่านสร้างสรรค์อย่างเต็มรูปแบบภายใน 5 ปี สามารถดึงดูดนักลงทุน ผู้ประกอบการต่างๆ ให้มาสร้างธุรกิจใหม่ เชียงใหม่ มุ่งจัดเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ ให้เป็นเทศกาลประจำปีที่สร้างรายได้โดยตรงจากการท่องเที่ยว และสร้างอาชีพให้กับคนในพื้นที่ผ่านการเชื่อมโยงชุมชนระหว่างนักลงทุน นักออกแบบ และผู้ผลิตในพื้นที่ และบางแสนตัวอย่างพื้นที่สร้างสรรค์ผ่านการพัฒนาภาพรวมเมืองให้มีคุณภาพที่ดีขึ้น สร้างสภาพแวดล้อมที่ดี นำพื้นที่สาธารณะกลับคืนมาเพื่อให้ชื่อเสียงความเป็นเมืองท่องเที่ยวกลับมาอีกครั้งหนึ่ง อีกทั้งยังเผยถึง 3 ตัวแปรสำคัญที่ต้องอาศัยผู้นำที่ดีในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาย่านสร้างสรรค์ ได้แก่ มีความมุ่งมั่น มีการลงมือปฏิบัติ และมีความร่วมมือ โดยเมื่อเร็วๆนี้ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ(TCDC) ได้จัดเสวนาหัวข้อ "Creative District" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานชุมนุมทางความคิดประจำปี (CU2016) มุ่งกระจายแนวคิดการผลักดันให้เกิดย่านสร้างสรรค์ เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น และระดับประเทศ ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 5 ดิ เอ็มโพเรียม

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) 1160 อาคารไปรษณีย์กลาง ถนนเจริญกรุง แขวงบางรัก เขตบางรัก กรุงเทพฯ 10501 โทรศัพท์ 02-105-7441 หรือเว็บไซต์ www.tcdc.or.th

นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) กล่าวว่า ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2558 ที่ผ่านมา ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) เดินหน้าพัฒนาไอเดียสร้างย่านสร้างสรรค์ผ่านองค์ความรู้การออกแบบบริการ (Service Design) อย่างต่อเนื่อง มุ่งกระจายแนวคิดการผลักดันให้เกิดย่านสร้างสรรค์ เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น และระดับประเทศ โดยพบว่าปัจจุบันประเทศไทยมีย่านสร้างสรรค์ที่เริ่มเห็นเป็นรูปธรรมหลายแห่ง โดยมี 3 แห่ง เป็นกรณีศึกษาที่ดี ได้แก่ เจริญกรุง บางแสน และเชียงใหม่ สำหรับกรณีศึกษาแรก "เจริญกรุง" เป็นการพัฒนาพื้นที่บริเวณเจริญกรุง – บางรัก – คลองสาน โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวให้กลายเป็นย่านสร้างสรรค์อย่างเต็มรูปแบบภายใน 5 ปี สามารถดึงดูดนักลงทุน ผู้ประกอบการต่างๆ ให้มาสร้างธุรกิจใหม่ และเป็นจุดศูนย์รวมของนักคิด นักสร้างสรรค์ นักออกแบบ โดยการพัฒนานั้นเกิดจากความร่วมมือที่ระหว่างภาครัฐและเอกชน อาทิ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) เดอะแจมแฟคทอรี่ (The Jam Factory) ห้างสรรพสินค้าไอคอนสยาม (Icon Siam) รวมไปถึงโรงแรม ร้านอาหาร และแกลอรี่ต่างๆมากมายภายในบริเวณดังกล่าว จนนำไปสู่การจัดตั้งมูลนิธิย่านสร้างสรรค์ (Creative District Foundation) ที่สามารถถือได้ว่าเป็นต้นแบบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ ย่านสร้างสรรค์เจริญกรุงกำลังก่อร่างสร้างตัวขึ้นและจะเริ่มเป็นรูปธรรมขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงต้นปีหน้า

นายอภิสิทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีศึกษาถัดมา คือ "เชียงใหม่" โดยการนำร่องพัฒนาส่งเสริมให้เชียงใหม่เป็นเมืองสร้างสรรค์ ผ่านเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ หรือ "เชียงใหม่ดีไซน์วีค 2016" ซึ่งจัดขึ้นครั้งแรกในปี 2557 โดยได้รับความร่วมมือจากหลากหลายองค์กรทั้งจากจังหวัดเชียงใหม่และส่วนกลาง ไม่ว่าจะเป็นนักออกแบบ ช่างฝีมือ ศิลปิน นักเรียน นักศึกษา ผู้ประกอบการ กลุ่มธุรกิจและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มุ่งสร้างพลังในการคิดค้นไอเดียใหม่ๆ ภายในตัวเมืองเชียงใหม่ ภายในงานเทศกาลได้รวบรวมผู้ประกอบการและนักออกแบบในพื้นที่เพื่อจัดงานแสดงผลงานออกแบบ (Showcase) รวมไปถึงการสร้างบรรยากาศด้วยงานจัดวาง (Installation) กิจกรรมเสวนา (Talk & Conference) เวิร์กช็อป (Workshop) ป็อปมาร์เก็ต (Pop Market) และอื่นๆ อีกมากมาย โดยคาดหวังให้เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่สามารถสร้างรายได้ทางตรงที่เกิดจากการท่องเที่ยว สามารถสร้างอาชีพให้กับคนในพื้นที่ เชื่อมโยงชุมชนระหว่างนักลงทุน นักออกแบบ และผู้ผลิตในพื้นที่ อันจะนำไปสู่ความสำเร็จด้านการพัฒนาต่อยอดธุรกิจสร้างสรรค์ และทำให้จังหวัดเชียงใหม่มีภาพลักษณ์ที่ดีในด้านศิลปวัฒนธรรมแบบร่วมสมัย

และสุดท้ายคือ "บางแสน" แม้จะมีความแตกต่างจาก 2 กรณีที่ผ่านมาที่มุ่งเน้นรวบรวมนักคิด นักออกแบบ และนักธุรกิจสร้างสรรค์ แต่กรณีบางแสนเป็นการการสร้างสรรค์เมือง ผ่านการจัดระเบียบชายหาดบางแสนให้มีคุณภาพที่ดีขึ้น สร้างสภาพแวดล้อมที่ดี นำพื้นที่สาธารณะกลับคืนมา เพื่อให้ชื่อเสียงความเป็นเมืองท่องเที่ยวกลับมาอีกครั้งหนึ่ง โดยการดำเนินงานนั้นเริ่มต้นจากการประชุมหารือกับส่วนบริหารอำเภอเพื่อหาแนวทางร่วมกัน จากนั้นจึงนัดประชุมชาวบ้านในพื้นที่เพื่อแจ้งให้ทราบถึงผลที่จะได้รับหลังจากการร่วมมือกัน และเริ่มการจัดระเบียบชายหาดบางแสนทันที ด้วยการนำพื้นที่สาธารณะกลับคืนมา 30 เปอร์เซ็นต์ จากพื้นที่ 2.5 กิโลเมตรที่มีการกางเตียงและร่มให้บริการ โดยนอกจากการจัดระเบียบแล้วยังมีการลงมือปฏิบัติด้วยวิธีอื่นอีกมากมาย อาทิ การจัดงานวิ่งมาราธอน เพื่อดึงดูดให้ผู้คนต่างถิ่น และนักท่องเที่ยวได้มาร่วมกิจกรรม ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างรายได้ทางตรงให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่ที่ได้นักท่องเที่ยวแล้ว ยังเป็นการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ใหม่ๆ ของเมืองบางแสน นายอภิสิทธิ์ กล่าวทิ้งท้าย

ด้าน นายดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิกและนักออกแบบระดับแนวหน้าของประเทศไทย กล่าวเสริมว่า ย่านสร้างสรรค์ (Creative District) คือ ชุมชน ย่าน หรือเมืองที่อุดมไปด้วยปัจจัยแวดล้อมในการกระตุ้นให้เกิดการสร้าง ซึ่งการสร้างในที่นี้หมายถึงการสร้างให้เกิดสิ่งใหม่ทุกประเภท ไม่ใช่แค่เพียงงานศิลปะ เป้าหมายสำคัญของการพัฒนาย่านสร้างสรรค์ คือ การควบคุมความหนาแน่นของประชากรในเมือง ทำให้เกิดการกระจายตัว ไม่กระจุกตัวกันอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่ง อันจะนำไปสู่โอกาสในการลดปัญหาน้ำท่วม และรถติด ที่เป็นปัญหาเรื้อรังของคนเมืองกรุงเทพฯ ผ่านการสร้างจุดดึงดูดจุดใหม่ที่สามารถดึงดูดนักลงทุน ผู้ประกอบการ รวมไปถึงนักท่องเที่ยวให้กระจายตัวจากจุดศูนย์รวมเดิมๆ

โดยการพัฒนาย่านสร้างสรรค์ให้สำเร็จไม่ได้ต้องการสถาปนิกที่ดี แต่ต้องการผู้นำที่ดีที่มี 3 ตัวแปรสำคัญ ได้แก่ 1. มีความมุ่งมั่น (Intention) ที่จะพัฒนาพื้นที่บริเวณดังกล่าวให้กลายเป็นย่านสร้างสรรค์ โดยการมีความมุ่งมั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุดสำหรับการพัฒนาย่านสร้างสรรค์ 2. มีการปฏิบัติ (Operation) โดยเริ่มต้นจากการมองเห็นความไปได้ในการพัฒนา และลงมือปฏิบัติด้วยการลงมือผลักดันให้ประชาชนในพื้นที่เข้าใจความเป็นย่านสร้างสรรค์ในทิศทางเดียวกัน รวบรวมคนในพื้นที่ให้อยู่ในบทสนทนาเดียวกัน และทำให้มองเห็นประโยชน์ที่ชุมชนและตนเองจะได้รับเมื่อการสร้างย่านสร้างสรรค์สำเร็จ 3. มีความร่วมมือ (Collaboration) ผ่านการมองหาผู้ที่มีแนวคิดในทิศทางเดียวกัน เพื่อกระตุ้นให้ย่านสร้างสรรค์เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม นายดวงฤทธิ์ กล่าวสรุป

ทั้งนี้ เมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ได้จัดงานชุมนุมทางความคิดประจำปี ครั้งที่ 10 (CU2016) ภายใต้แนวคิด "EXIT: สู่ความจริงรูปแบบใหม่" โดยได้เรียนเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนา "ย่านสร้างสรรค์" เสวนาในหัวข้อ Creative District มีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ นายดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิกและนักออกแบบระดับแนวหน้าของประเทศไทย นายณรงค์ชัย คุณปลื้ม นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองแสนสุข จังหวัดชลบุรี นายอินทพันธุ์ บัวเขียว ผู้จัดการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบเชียงใหม่ และได้รับเกียรติจากนายทรงกลด บางยี่ขัน บรรณาธิการบริหารนิตยสาร a day ร่วมเป็นผู้ดำเนินรายการ ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 5 ดิ เอ็มโพเรียม

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) 1160 อาคารไปรษณีย์กลาง ถนนเจริญกรุง แขวงบางรัก เขตบางรัก กรุงเทพฯ 10501 โทรศัพท์ 02-105-7441 หรือเว็บไซต์ www.tcdc.or.th

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ