ลดการเสียชีวิต เพิ่มโอกาสช่วยเด็ก เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ (AED) ฮีโร่กู้ชีวิต ใกล้ตัว

พุธ ๐๔ มกราคม ๒๐๑๗ ๑๑:๕๑
ตามรายงานของกระทรวงสาธารณสุข ที่ร่วมมือกับคณะกรรมการมาตรฐานการช่วยชีวิต สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ได้เผยสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยที่นับเป็นอันดับ ๓ รองจากโรคมะเร็ง คือ โรคหัวใจ โดยในแต่ละปีมีคนไทยเสียชีวิตปีละประมาณ ๕๔,๐๐๐ คน เฉลี่ยชั่วโมงละ ๖ คน หรือคิดเป็นอัตราส่วนประมาณ ๖๐ คนต่อแสนคน โดยผู้ป่วยครึ่งหนึ่งเสียชีวิตก่อนมาถึงโรงพยาบาลอาจเป็นที่บ้านหรือที่ทำงาน เพราะคนไทยยังขาดทักษะความรู้พื้นฐานเรื่องการปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพ (Cardiopulmonary Resuscitation : CPR) ซึ่งการทำ CPR นับเป็นเพียง ๑๐% ของการช่วยเหลือเบื้องต้นเท่านั้น เพราะเพียงทำให้เลือดไหลเวียนไปที่สมองแต่หัวใจยังไม่กลับมาทำงานจึงทำให้โอกาสรอดชีวิตมีน้อยมาก แต่ในปัจจุบันสามารถลดอัตราการเสี่ยงการเสียชีวิตได้ ถ้าบริเวณนั้นมีเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ (Automated Electrical Defibrillator: AED) และโทรแจ้ง ๑๖๖๙ หรือรถพยาบาลกู้ชีพโดยด่วน

นายแพทย์สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กล่าวว่า "ตามที่นโยบายของกระทรวงสาธารณสุขที่ต้องการลดอัตราการเสียชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดเต้นกะทันหัน ทางสถาบันฯ ได้ส่งเสริมให้เกิดการสร้างความรู้พื้นที่เกี่ยวกับ การปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) ควบคู่ไปกับการใช้เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ (AED) โดยเบื้องต้นได้มีนโยบายให้คณะกรรมการช่วยชีวิต ของสถาบันสุขภาพเด็กฯ จัดกิจกรรมอบรมดังกล่าวให้กับนักศึกษาแพทย์ แพทย์ และบุคคลากรในองค์กร ตลอดจนบุคคลภายนอกที่มีความสนใจ ให้ตระหนักถึงความสำคัญและประโยชน์ของการทำ CPR และการใช้เครื่อง AED ซึ่งได้ตั้งเป้าหมายประมาณ ๒๐๐ คน ในปี พ.ศ. ๒๕๖๐ ทั้งนี้ สถาบันสุขภาพเด็กฯ เตรียมขยายกลุ่มเป้าหมายไปยังสถาบันการศึกษา โรงเรียน เนอสเซอรี่ และหน่วยงานที่ดำเนินการเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพพลานามัยเด็กในกรุงเทพฯ และจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศไทย อีกด้วย"

นายแพทย์วรการ พรหมพันธุ์ นายแพทย์ชำนาญการด้านกุมารเวชกรรม สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กล่าวว่า"ความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุหัวใจหยุดเต้นกะทันหันอาจเกิดได้กับทุกคน ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ เกิดได้ในทุกสถานที่ ไม่ว่าจะเป็นที่ทำงาน ที่บ้าน ที่โรงเรียน หรือแม้แต่ในสนามเด็กเล็ก และเกิดได้ทุกเวลา ถึงแม้จะพบได้บ่อยในระหว่างออกกำลังกาย เพียงเสี้ยววินาทีที่หัวใจหยุดเต้น หรือเต้นผิดจังหวะ สมองและร่างกายจะขาดออกซิเจน จนนำไปสู่การเสียชีวิตในที่สุด ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะไม่ทราบก่อนล่วงหน้า มักมีอาการเป็นลมหมดสติกะทันหัน หรืออาจเกิดอุบัติเหตุโดยไม่คาดคิดมาก่อน เช่น จมน้ำโดยที่มีทักษะการว่ายน้ำเป็นอย่างดี หรือเกิดอุบัติเหตุในระหว่างปั่นจักรยานโดยไม่มีสาเหตุอันควร เป็นต้น"

การลดอัตราการเสียชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดเต้นกะทันหันนั้น จึงจำเป็นต้องมีความรู้พื้นฐาน ๒ เรื่อง ได้แก่ ความรู้พื้นฐานเรื่องปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) และการใช้ฮีโร่ใกล้ตัวอย่างเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ (AED)

ปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) เหมือนหรือแตกต่างกับการใช้เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ (AED) อย่างไร

ก่อนการเข้าช่วยเหลือผู้ที่หมดสติ หรือเกิดอุบัติเหตุ ต้องทำการตรวจสภาพร่างกายก่อน เริ่มต้นจากการเรียกชื่อ ว่าพอจะรู้สึกตัว หายใจได้เองหรือไม่ เพราะอาจเกิดจากสำลักอาหาร/วัตถุแปลกปลอมเข้าหลอดลม หรือมีปัญหาของระบบทางเดินหายใจ อย่างโรคหอบหืด เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม หากไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจหรือหายใจเฮือก และตรวจไม่พบว่ามีชีพจร (หรือไม่แน่ใจว่ามีชีพจร) ที่บริเวณคอในผู้ใหญ่/เด็กโต หรือบริเวณขาหนีบในเด็กเล็ก ในระยะเวลา ๑๐ วินาที ต้องเริ่มทำ CPR อย่างเร่งด่วนที่สุด เพราะหากสมองขาดเลือดซึ่งนำออกซิเจนไปสู่สมองเกินกว่า ๖ นาที เยื่อในสมองอาจถูกทำลายจนนำไปสู่สภาวะสมองตายได้

เมื่อพบผู้ป่วยหมดสติ รีบตามคนมาช่วย หรือติดต่อ ๑๖๖๙ ในระหว่างนั้น ให้ผู้ช่วยเหลือทำ CPR ไปก่อน โดยเริ่มจากผู้ช่วยเหลือเหยียดแขนตรงและใช้มือสองข้างไขว้นิ้วร่วมกันกดลงไปบริเวณหน้าอกเหนือลิ้นปี่ของผู้ป่วย ให้หน้าอกยุบลงไปประมาณ ๔-๕ เซนติเมตร (หรือประมาณ ๑ ใน ๓ ของความหนาของหน้าอกผู้ป่วย) แล้วปล่อยให้หน้าอกคืนสภาพ ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆในอัตรา ๑๐๐-๑๒๐ ครั้งต่อนาที จนกว่าผู้ป่วยจะรู้สึกตัว หรือมีทีมกู้ชีพมาช่วยเหลือ

อย่างไรก็ตาม ประมาณ ๒-๕ นาที หากผู้ป่วยยังไม่รู้สึกตัวหลังได้รับการทำ CPR ควรให้คนในละแวกนั้นนำเครื่อง AED เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ มาใช้ในการช่วยชีวิต โดยเมื่อเปิดสวิทซ์เครื่อง AED เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ เครื่องจะแนะนำให้ผู้ใช้งานทำตามเป็นลำดับขั้นตอน โดยเริ่มจากติดแผ่นวิเคราะห์ลงบนบริเวณหน้าอกของผู้ป่วยตามรูป โดยไม่มีเสื้อผ้า เสื้อชั้นในบดบัง จากนั้นเครื่อง AED จะตรวจสอบการเต้นของหัวใจผู้ป่วย หากเครื่องประเมินว่าสมควรได้รับการกระตุ้นหัวใจด้วยกระแสไฟฟ้า เครื่องจะบอกให้กดปุ่มปล่อยกระแสไฟฟ้า โดยผู้ช่วยเหลือห้ามสัมผัสผู้ป่วย เมื่อกดปุ่มปล่องกระแสไฟฟ้าแล้ว เครื่องจะให้คำแนะนำในการช่วยเหลือต่อไป หากเครื่องประเมินแล้วว่าไม่จำเป็นต้องกระตุ้นหัวใจด้วยกระแสไฟฟ้า เรื่องก็จะแนะนำให้ CPR ต่อไปจนกว่าจะมีทีมกู้ชีพมาช่วยเหลือ

การทำ CPR ร่วมกับการใช้เครื่อง AED สามารถทำให้การช่วยชีวิตจะประสบผลสำเร็จมากขึ้นถึงร้อยละ ๕๐-๗๐ สูงกว่าการปั๊มหัวใจอย่างเดียวที่มีโอกาสเพียงร้อยละ ๓-๕ ระหว่างรอทีมแพทย์กู้ชีพฉุกเฉินรับไปดูแลต่อในโรงพยาบาลต่อไป ปัจจุบัน เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ (AED)ได้รับการส่งเสริมให้เข้ามาใช้ตามสถานที่ราชการ บริษัทเอกชน โรงงาน โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา โรงแรม สถานอนามัยหรือโรงพยาบาล สนามบิน และบนเครื่องบินมากขึ้น

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๓๑ ม.ค. รู้จักโรคอ้วนดีแล้ว.จริงหรือ?
๓๑ ม.ค. บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี ร่วมกับ MBK ส่งมอบปฏิทินในกิจกรรม ปฏิทินเก่ามีค่า เราขอ
๓๑ ม.ค. BSRC ออกหุ้นกู้รอบใหม่ 8,000 ล้านบาท ยอดจองเกินเป้า ตอกย้ำความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน
๓๑ ม.ค. คปภ. ร่วมสัมมนาประกันภัย ครั้งที่ 29 เตรียมรับมือความเสี่ยงอุบัติใหม่ พลิกโฉมธุรกิจประกันภัยสู่ความท้าทายในอนาคต
๓๑ ม.ค. มอบของขวัญให้กับครอบครัวของคุณช่วงวันหยุดพิเศษที่ สเตย์บริดจ์ สวีท แบงค็อก สุขุมวิท
๓๑ ม.ค. OR เปิดตัว CEO คนใหม่ หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ มุ่งผลักดันไทยสู่ Oil Hub แห่งภูมิภาค พร้อมขับเคลื่อนองค์กรด้วยดิจิทัล-นวัตกรรม
๓๑ ม.ค. เดลต้า ประเทศไทย คว้ารางวัล ASEAN's Top Corporate Brand ประจำปี 2567
๓๑ ม.ค. โรงแรมอลอฟท์ กรุงเทพ สุขุมวิท 11 พลิกโฉมใหม่ สุดโมเดิร์น! พร้อมเปิดตัว w xyz bar ตอกย้ำความสนุกในแบบฉบับ
๓๑ ม.ค. PAUL JOE เปิดตัว GLOSSY ROUGE ต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ 2025
๓๑ ม.ค. บริษัท โกซอฟท์ (ประเทศไทย) ได้รับเกียรติบัตรศูนย์ รับเรื่องและแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคระดับดีเด่น จาก สคบ. และการรับรองมาตรฐาน ISO