นายมิทซึจิ โคโนชิตะ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กรุ๊ปลีส จำกัด (มหาชน) หรือ GL ผู้นำธุรกิจดิจิทัลไฟแนนซ์ในภูมิภาคเอเชีย กล่าวชี้แจงว่า โมเดลธุรกิจดิจิทัลไฟแนนซ์ของ GL สามารถนำไปใช้ได้ในทุกประเทศ ดังนั้นจึงสามารถรุกขยายธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว โดยนายมิทซึจิเพิ่งเดินทางกลับจากการไปสำรวจตลาดในประเทศแอฟริกาใต้ (South Africa) ซึ่งเขามีความประทับใจมากว่าเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมาก คล้ายกับอีกหลายประเทศในทวีปแอฟริกาตลอดจนเศรษฐกิจเกิดใหม่ซึ่งมีอัตราการขยายตัวที่รวดเร็วในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก
จากฐานธุรกิจหลักในประเทศไทย GL ได้รุกขยายธุรกิจไปยังอีก 6 ประเทศในทวีปเอเชีย ประกอบด้วย สิงคโปร์ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาร์ อินโดนีเซียและล่าสุดคือประเทศศรีลังกา นายมิทซึจิกล่าวว่า เป้าหมายหลักในปีใหม่นี้คือการรุกขยายธุรกิจสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคของ GL (Consumer finance) ผสมกับระบบไอทีที่มีประสิทธิภาพสูงไปยังอีก 13 ประเทศในทวีปแอฟริกาและยุโรปตะวันออก ซึ่งจะทำให้ GL มีเครือข่ายธุรกิจครอบคลุม 20 ประเทศทั่วโลก
ทั้งนี้ กลุ่มบริษัท GL ภายใต้การบริหารจัดการของนายมิทซึจินับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดียิ่ง โดยเฉพาะจากการขยายธุรกิจจากประเทศไทยไปสู่กลุ่มประเทศในอาเซียน โดยโมเดลธุรกิจซึ่งอาศัยแพลตฟอร์มดิจิทัลไฟแนนซ์ที่มีประสิทธิภาพสูง แต่ต้นทุนต่ำสามารถสร้างผลกำไรที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยกำไรสุทธิ 260.41 ล้านบาทในไตรมาสที่ 3 ของปี 2559 นับเป็นกำไรรายไตรมาสสูงสุดต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 8 ซึ่งทำให้ยอดกำไรสุทธิรวม 9 เดือนของปี 2559 เพิ่มสูงขึ้นเป็น 738 ล้านบาท โดยผู้บริหารของบริษัทฯ แสดงความมั่นใจว่ากำไรสุทธิรายไตรมาสจะสามารถสร้างสถิติสูงสุดใหม่ได้อย่างต่อเนื่องต่อไป
ในการประชุมสมัยวิสามัญเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ผู้ถือหุ้นของ GL ได้ให้ความเห็นชอบต่อแผนงานของบริษัทฯ ในการเข้าซื้อหุ้น 29.99% ของบริษัท Commercial Credit & Finance PLC (CCF) ซึ่งเป็นบริษัทไฟแนนซ์ที่มีผลประกอบการดีมากและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ประเทศศรีลังกา และการเข้าซื้อกิจการทั้งหมดของ BG Microfinance Myanmar (BGMM) ซึ่งเป็นบริษัทไมโครไฟแนนซ์ในเมียนมาร์ โดยการเข้าซื้อกิจการเหล่านี้ตลอดจนการรุกขยายธุรกิจเข้าสู่ประเทศอินโดนีเซียซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน ที่มีประชากรมากกว่า 250 ล้านคนถือเป็นส่วนสำคัญของยุทธศาสตร์การขยายธุรกิจเชิงรุก ซึ่งผู้บริหารระดับสูงของ GL อธิบายว่าเป็นการ 'รุกทะยานครั้งใหญ่' (Great Leap Forward) โดยองค์ประกอบสำคัญคือการเติบโตจากธุรกิจเดิม (Organic growth) ควบคู่กับการควบรวมกิจการ เช่น ในกรณี CCF และ BGMM
ผู้บริหารของบริษัทฯ แสดงความมั่นใจว่า การเข้าซื้อหุ้นใน CCF นั้น จะมีนัยสำคัญต่อผลประกอบการของกลุ่ม GLเนื่องจาก CCF เป็นบริษัทที่มีการบริหารจัดการที่ดีและมีผลกำไรเป็นที่น่าประทับใจ โดยคาดการณ์กำไรสุทธิปี 2559 อยู่ที่ 22 ล้านเหรียญสหรัฐและคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 30 ล้านเหรียญสหรัฐในปีนี้ จากการที่ GL เข้าซื้อหุ้น 29.99% ของ CCF ทำให้สามารถเริ่มบันทึกส่วนแบ่งกำไรจาก CCF ตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2559
โดยกลุ่มบริษัท GL นับว่ามีความแตกต่างจากบริษัทไฟแนนซ์ทั่วไป เนื่องจากบริษัทไฟแนนซ์ทั่วไปมักจะให้ความสำคัญกับลูกค้าในเมืองหลวงใหญ่ๆ หรือเขตเมืองที่พัฒนาแล้ว ในขณะที่กลุ่ม GL พุ่งเป้าไปสู่ประชาชนส่วนใหญ่ในระดับรากหญ้าซึ่งมีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยมุ่งเน้นให้สินเชื่อรูปแบบต่างๆ เพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตตลอดจนให้สินเชื่อกับกลุ่มผู้ประกอบการ SMEsเพื่อช่วยเกื้อหนุนการประกอบธุรกิจ