ผศ.ดร.พลพัฒน์ รวมเจริญ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ จัดกิจกรรมบรรยายพิเศษเรื่อง เทคนิควิเคราะห์โครงสร้างของสารเคมี วัสดุ ทางวิทยาศาสตร์ (Raman Spectroscopy) ให้กับอาจารย์และบุคลากรที่สนใจ โดยมี ศ.ฟิลิปป์ ดาเนียล ผู้บริหารฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัย Du Maine (Institute for Molecules and Materials Universite du Maine, Le Mans) ประเทศฝรั่งเศส เป็นวิทยากรพิเศษ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลงานวิจัยที่เกิดขึ้นภายใต้โครงการความร่วมมือไทย-ฝรั่งเศส รวมถึงความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศฝรั่งเศส โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มหาวิทยาลัย Du Maine พร้อมทั้งเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อขยายผลความร่วมมือทั้งในรูปของโครงการวิจัยในลักษณะที่ต่อเนื่องจากที่เคยดำเนินการมาแล้ว และผู้ที่สนใจจะเข้าร่วมโครงการในอนาคต
ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ฝรั่งเศสและไทยเคยทำวิจัยร่วมกันในหัวข้อ การเตรียมวัสดุยืดหยุ่นแบบเทอร์มอพลาสติกจากยางธรรมชาติดัดแปร ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Polymer Testing ฉบับที่ 57, 107-114. (accepted to be published in February, 2017) โดยนักวิชาการไทยมีส่วนร่วมวิจัยเกี่ยวกับการศึกษาการเตรียมวัสดุดังกล่าว ขณะที่ทางฝรั่งเศสได้ใช้เทคนิค Raman spectroscopy ในการวิเคราะห์วัสดุที่เตรียมได้ จนสุดท้ายได้เป็นผลงานวิจัยและตีพิมพ์ร่วมกัน ถือเป็นความก้าวหน้าอย่างหนึ่ง ซึ่งการมาของนักวิชาการจากประเทศฝรั่งเศสในครั้งนี้ เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าด้านผลงานวิจัยที่ได้ดำเนินการในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ตลอดจนการขยายผลความร่วมมือโดยใช้เทคนิค Raman spectroscopy ไปยังงานวิจัยด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น พอลิเมอร์ เคมี จุลชีววิทยา ซึ่ง มรภ.สงขลา ก็มีอาจารย์ที่ทำงานวิจัยประเภทดังกล่าว ดังนั้น สิ่งที่มหาวิทยาลัยจะได้รับจากการสร้างเครือข่ายความร่วมมือก็คือ อาจารย์และบุคลากรได้รับองค์ความรู้ใหม่ๆ จากการบรรยาย เป็นการเปิดโลกทัศน์ ช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านงานวิจัยที่ มรภ.สงขลา กำลังดำเนินการอยู่ด้วย
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ ผศ.ดร.พลพัฒน์ รวมเจริญ ขณะดำรงตำแหน่งผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มรภ.สงขลา ได้เป็นตัวแทนคณะฯ เดินทางไปยังมหาวิทยาลัย Du Maine ประเทศฝรั่งเศส เพื่อร่วมทำวิจัย เรื่อง Functional silica nanoparticle aiming at bulk modication and functional coating of polymeric materials and bers ซึ่งเป็นงานวิจัยเกี่ยวกับการทำซิลิกาสังเคราะห์ระดับนาโน เพื่อใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมยาง นับเป็นอีกก้าวของการทำวิจัยในระดับนานาชาติ ซึ่งดำเนินการโดยอาจารย์ของ มรภ.สงขลา ทำให้นักวิจัยมีความรู้กว้างขวางมากขึ้น มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนักวิจัยในระดับนานาชาติ สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศชาติ และแสวงหาความร่วมมือทางวิชาการ อันจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนางานวิจัยและการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย โดยงานวิจัยดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยร่วมภายใต้ความร่วมมือด้านอุดมศึกษาและการวิจัยระหว่างไทย-ฝรั่งเศส มีเป้าหมายหลักในการพัฒนาความร่วมมือว่าด้วยอุดมศึกษาและการวิจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนนักวิจัยและนักศึกษา
ผลสืบเนื่องจากการดำเนินการภายใต้โครงการดังกล่าว ทำให้มีการแลกเปลี่ยนนักวิจัยเกิดขึ้น โดยคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มรภ.สงขลา ได้เชิญ ศ.ฟิลิปป์ ดาเนียล ซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการดังกล่าว และเป็นรองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัย Du Maineพร้อมด้วยคณะวิทยากรจากมหาวิทยาลัยในประเทศฝรั่งเศสอีก 4 ท่าน เป็นวิทยากรให้ความรู้แก่อาจารย์และบุคลากรของมหาวิทยาลัย ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มรภ.สงขลา ได้จัดสัมมนาโดยเชิญนักวิจัยจากประเทศฝรั่งเศสเป็นวิทยากร