1. เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์จะช่วยให้เราสามารถทราบสุขภาพจิตของแต่ละคนได้จากรูปแบบถ้อยคำที่ใช้
2. เทคโนโลยีไฮเปอร์อิมเมจจิงและปัญญาประดิษฐ์จะช่วยให้เราเห็นในสิ่งที่ปัจจุบันไม่สามารถมองเห็นได้
3. มาโครสโคปจะช่วยให้เราเข้าใจความซับซ้อนของโลกได้อย่างไม่จำกัด
4. ห้องแล็บที่ "อยู่ในชิพ" จะทำหน้าที่เป็นเครื่องตรวจจับร่องรอยเชื้อโรคในระดับนาโนสเกล
5. สมาร์ทเซ็นเซอร์จะสามารถตรวจจับมลพิษทางสิ่งแวดล้อมได้ในระดับความเร็วแสง
นางพรรณสิรี อมาตยกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า "ไอบีเอ็ม ไฟว์ อิน ไฟว์" หรือรายงาน 5 นวัตกรรมที่จะส่งผลกับชีวิตของคนเราในอีก 5 ปีข้างหน้าครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ของเทคโนโลยีอย่าง ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) อินเทอร์เน็ตอ็อฟธิงส์ (Internet of Things) และนาโนเทคโนโลยี ในการช่วยมนุษย์แก้ไขปัญหาหรือสร้างประสิทธิภาพในการบริหารจัดการกับปัจจัยสำคัญรอบตัวอย่างที่ไม่เคยทำได้ในอดีต ทั้งเรื่องสุขภาพร่างกาย สิ่งแวดล้อม ตลอดจนกิจกรรมทางธุรกิจต่างๆ ซึ่งล้วนสร้างประโยชน์อย่างมากต่อการดำเนินชีวิตของเรา รวมไปถึงการยกระดับคุณภาพความเป็นอยู่ของมนุษย์ให้ดียิ่งขึ้น"
1. เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์จะช่วยให้เราสามารถทราบสุขภาพจิตของแต่ละคนได้จากรูปแบบถ้อยคำที่ใช้ทุกวันนี้
ผู้ใหญ่หนึ่งใน 5 คนในสหรัฐอเมริกามีปัญหาด้านสุขภาพจิต ทั้งที่เกี่ยวข้องกับสมอง (อาทิ โรคฮันติงตัน โรคอัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสัน) หรือจิตใจ (อาทิ โรคซึมเศร้า โรควิกลจริต) ในแต่ละปีประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ที่ป่วยเป็นโรคทางจิตเวชขั้นรุนแรงไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการรักษาอาการผิดปกติทางจิตก็สูงกว่าค่ารักษาโรคเบาหวาน โรคความผิดปกติของระบบทางเดินหายใจ และโรคมะเร็งรวมกันเสียอีก เฉพาะในสหรัฐอเมริกา มูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เกิดจากความผิดปกติทางจิตมีตัวเลขสูงถึง 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อปี
ใน 5 ปีข้างหน้า สิ่งที่เราพูดและเขียนจะกลายเป็นเครื่องบ่งชี้สุขภาพกายและจิตของเรา ระบบค็อกนิทิฟจะสามารถวิเคราะห์แพทเทิร์นในคำพูดและสิ่งที่เราเขียน พร้อมระบุถึงสัญญานของโรคทางจิตและสมองขั้นต้นเพื่อช่วยให้แพทย์และคนไข้สามารถคาดการณ์ สอดส่อง และตรวจสอบความคืบหน้าในการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ล่าสุดนักวิทยาศาสตร์ของไอบีเอ็มได้เริ่มนำบันทึกคำพูดจากการสัมภาษณ์และการตรวจสภาพจิตเพื่อวินิจฉัยโรคทางจิตเวช ประกอบร่วมกับเทคโนโลยีแมชชีนเลิร์นนิ่ง เพื่อหาแพทเทิร์นในคำพูดที่จะช่วยให้แพทย์สามารถคาดการณ์และเฝ้าระวังอาการโรคจิต โรคจิตเภท อาการคุ้มคลั่ง และโรคซึมเศร้าได้อย่างแม่นยำ โดยปัจจุบันสามารถทำนายความน่าจะเป็นของอาการทางจิตได้จากถ้อยคำเพียง 300 คำ
ในอนาคตเราจะสามารถนำเทคนิคคล้ายๆ กันนี้ไปใช้ช่วยผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ โรคฮันติงตัน โรคเครียดจากเหตุการณ์ร้ายแรง หรือแม้แต่อาการผิดปกติทางพฤติกรรมอย่างออทิสติกหรือโรคสมาธิสั้นได้ โดยผลการวิเคราะห์แพทเทิร์นในคำพูดและสิ่งที่เราเขียน (อาทิ ความหมาย วากยสัมพันธ์ การออกเสียงสูงต่ำ) ด้วยระบบค็อกนิทิฟ ร่วมกับผลการวิเคราะห์ข้อมูลจากอุปกรณ์สวมใส่และระบบภาพ (MRIs และ EEGs) จะให้ภาพรวมของสภาวะทางจิตที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพื่อความเข้าใจและการรักษาที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
2. เทคโนโลยีไฮเปอร์อิมเมจจิงและปัญญาประดิษฐ์จะช่วยให้เราเห็นในสิ่งที่ไม่สามารถมองเห็นได้
กว่า 99.9% ของความถี่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า อย่างไรก็ดี ในช่วงกว่า 100 ปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ได้พยายามสร้างเครื่องมือที่จะช่วยแพร่กระจายและตรวจจับพลังงานที่อยู่ในระดับความถี่คลื่นต่างๆ และทุกวันนี้เราก็ใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ในการถ่ายภาพทางการแพทย์ของร่างกาย ดูโพรงในฟัน ตรวจกระเป๋าที่สนามบิน หรือช่วยให้เครื่องบินลงจอดท่ามกลางหมอกจัด ปัจจุบันเทคโนโลยีเหล่านี้ยังค่อนข้างเฉพาะทางและมีราคาแพง และยังสามารถช่วยให้เราเห็นเฉพาะในบางช่วงความถี่ของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเท่านั้น
ในอีก 5 ปี อุปกรณ์ที่เกี่ยวกับภาพแบบใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีไฮเปอร์อิมเมจจิงและปัญญาประดิษฐ์ จะช่วยให้เราสามารถมองเห็นผ่านหลายช่วงความถี่ของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าได้ ช่วยให้คนขับและรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยตัวเองสามารถเห็นภาพรวมของท้องถนนและการจราจรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การใช้เทคโนโลยีไฮเปอร์อิมเมจจิงที่ใช้คลื่นภาพระดับมิลลิเมตรร่วมกับกล้องและเซ็นเซอร์ต่างๆ จะช่วยให้รถสามารถมองเห็นภาพข้างหน้าได้แม้ฝนตกหรือหมอกลงจัด สามารถบอกขนาด ระยะห่าง หรือแยกแยะว่าวัตถุที่อยู่ตรงหน้าเป็นขยะหรือสัตว์
ที่สำคัญอุปกรณ์ที่มีเทคโนโลยีเหล่านี้จะอยู่ในราคาที่ไม่แพงจนเกินไป และสามารถฝังลงไปในโทรศัพท์หรือพกพาติดตัวได้ เราจะสามารถถ่ายภาพอาหารเพื่อทราบคุณค่าทางโภชนาการหรือดูว่าอาหารมีความปลอดภัยหรือไม่ ยาปลอมหรือไม่ เช็คธนาคารปลอมหรือไม่ โดยปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ไอบีเอ็มกำลังพัฒนาแพลตฟอร์มไฮเปอร์อิมเมจจิงที่สามารถมองเห็นผ่านหลายช่วงความถี่ของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เพื่อให้สามารถต่อยอดสร้างอุปกรณ์หรือแอพต่างๆ ได้ต่อไปในอนาคต
3. มาโครสโคปจะช่วยให้เราเข้าใจความซับซ้อนของโลกได้อย่างไม่จำกัด
ทุกวันนี้เราทุ่มเทเก็บข้อมูลปริมาณมหาศาล แต่ข้อมูลส่วนใหญ่กลับไม่เป็นระบบ มีการคาดการณ์ว่านักวิทยาศาสตร์ข้อมูลต้องใช้เวลากว่า 80% ในการจัดการข้อมูลแทนที่จะเอาเวลามาวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านั้น
อินเตอร์เน็ตอ็อฟธิงส์ยังกลายเป็นแหล่งใหม่ที่เชื่อมโยงข้อมูลมหาศาลจากอุปกรณ์กว่า 6 พันล้านชิ้น ตั้งแต่ตู้เย็น หลอดไฟ เครื่องวัดอัตราการเต้นของหัวใจ โดรน กล้องถ่ายรูป ดาวเทียม ไปจนถึงกล้องโทรทัศน์ ก่อให้เกิดข้อมูลอีกหลายสิบเอ็กซะไบท์ต่อเดือน
ในอีก 5 ปีข้างหน้า สิ่งที่เรียกว่า "มาโครสโคป" นี้จะไม่ได้แค่ช่วยให้เราสามารถมองเห็นสิ่งเล็กๆ ได้เหมือนกล้องจุลทรรศน์หรือมองเห็นสิ่งที่อยู่ไกลออกไปได้เหมือนกล้องโทรทรรศน์ แต่จะเป็นซอฟต์แวร์และอัลกอริธึ่มแมชชีนเลิร์นนิ่งที่จะเข้ามาช่วยถอดรหัสข้อมูลมหาศาลที่ซับซ้อนของโลก และเมื่อผนวกรวมกับข้อมูลสภาพอากาศ สภาพดิน ระดับน้ำ และระบบชลประทาน จะช่วยให้เกษตรกรในอนาคตสามารถทราบว่าควรปลูกพืชชนิดใด ที่ไหน จะทำอย่างไรให้ได้ผลผลิตสูงสุดโดยใช้น้ำน้อยที่สุด
ในปี พ.ศ. 2555 ศูนย์วิจัยไอบีเอ็มได้เริ่มทดลองคอนเซ็ปต์ดังกล่าวกับแกลโลไวน์เนอรี่แล้ว โดยการผนวกรวมข้อมูลด้านชลประทาน ดิน และสภาพอากาศ เข้ากับภาพถ่ายดาวเทียมและเซ็นเซอร์ต่างๆ เพื่อวิเคราะห์หารูปแบบของระบบน้ำที่ช่วยให้องุ่นให้ผลผลิตสูงสุดและมีคุณภาพดีที่สุด และในอนาคตเทคโนโลยีมาโครสโคปจะช่วยให้เราสามารถนำคอนเซ็ปต์นี้ไปใช้ได้อย่างแพร่หลายทั่วโลก
ในระดับที่เหนือขึ้นไป เทคโนโลยีมาโครสโคปยังจะช่วยให้เราสามารถวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของข้อมูลมหาศาลที่รวบรวมได้จากกล้องโทรทรรศน์เพื่อทำความเข้าใจถึงองค์ประกอบหรือคาดการณ์การชนกันของดาวเคราะห์น้อยต่างๆ
4. ห้องแล็บที่ "อยู่ในชิพ" จะทำหน้าที่เป็นเครื่องตรวจจับร่องรอยเชื้อโรคในระดับนาโนสเกล
ในหลายกรณีที่ผ่านมา การตรวจพบโรคต่างๆ ได้ยิ่งเร็วถือว่ายิ่งดี เพราะเป็นการเพิ่มโอกาสที่จะควบคุมหรือรักษาโรคนั้นๆ การสกัดของเหลวในร่างกาย อาทิ น้ำลาย น้ำตา เลือด ปัสสาวะ และเหงื่อออกมาวิเคราะห์ ช่วยให้เราสามารถทราบข้อมูลสุขภาพได้ อย่างไรก็ดี เทคนิคทางการแพทย์ในปัจจุบันยังมีข้อจำกัดในการวิเคราะห์สารที่มีขนาดเล็กกว่าเส้นผ่าศูนย์กลางของเส้นผมมนุษย์หลายพันเท่านี้
ใน 5 ปีข้างหน้า ห้องแล็บที่ถูกย่อส่วนให้อยู่ในชิพจะทำหน้าที่เป็นเครื่องตรวจสุขภาพนาโนเทคโนโลยี ทำหน้าที่ตรวจจับเงื่อนงำที่มองไม่เห็นที่อยู่ในของเหลวในร่างกายเรา และแจ้งให้เราทราบทันทีหากควรต้องพบแพทย์ เป้าหมายคือการทำห้องวิจัยชีวเคมีเต็มรูปแบบให้อยู่ในขนาดเท่าแผ่นชิพซิลิคอนหนึ่งแผ่น เพื่อใส่ไว้ในอุปกรณ์แบบพกพาต่างๆ ช่วยให้ผู้ใช้สามารถตรวจสอบตัวเองได้จากของเหลวจากร่างกายในปริมาณเพียงน้อยนิด ก่อนที่จะส่งข้อมูลผ่านคลาวด์ ร่วมกับข้อมูลจากอุปกรณ์อินเตอร์เน็ตอ็อฟธิงส์อื่นๆ เช่น เครื่องตรวจคุณภาพการนอนหลับและสมาร์ทวอทช์ เพื่อให้ระบบปัญญาประดิษฐ์วิเคราะห์และตรวจหาสัญญาณของโรคต่างๆ
ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ที่ศูนย์วิจัยไอบีเอ็มกำลังพัฒนาห้องแล็บที่อยู่ในชิพแบบนาโนเทคโนโลยี ที่สามารถแยกเซลล์ชีวภาพลงได้ถึงขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 20 นาโนเมตร ซึ่งเป็นขนาดที่ดีเอ็นเอ ไวรัส และเอ็กโซโซม สามารถผ่านเข้าไปได้
5. สมาร์ทเซ็นเซอร์จะสามารถตรวจจับมลพิษทางสิ่งแวดล้อมได้ในระดับความเร็วแสง
มลสารพิษส่วนใหญ่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ตัวอย่างเช่นมีเทน ส่วนประกอบหลักของก๊าซธรรมชาติที่ถูกมองว่าเป็นพลังงานสะอาด แต่หากรั่วเข้าไปในอากาศจะทำให้ชั้นบรรยากาศของโลกร้อนขึ้น ซึ่งถือเป็นสาเหตุหลักอันดับ 2 ของสภาวะโลกร้อนรองจากคาร์บอนไดอ็อกไซด์
ในอีก 5 ปี เทคโนโลยีตรวจจับแบบใหม่จะได้รับการติดตั้งใกล้บ่อแยกก๊าซธรรมชาติ รอบๆ หน่วยจัดเก็บ และตลอดแนวท่อก๊าซ เพื่อให้สามารถตรวจจับรอยรั่วที่มองไม่เห็นได้แบบเรียลไทม์ เครือข่ายของเซ็นเซอร์ไอโอทีจะเชื่อมต่อกับคลาวด์เพื่อสอดส่องความผิดปกติภายในเวลาไม่กี่นาทีแทนที่จะต้องใช้เวลาเป็นสัปดาห์ ช่วยลดมลภาวะและเหตุร้ายที่อาจเกิดขึ้นได้ทันท่วงที
ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ไอบีเอ็มกำลังทำงานร่วมกับผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติอย่างเซาธ์เวสเทิร์นเอนเนอร์จีในการพัฒนาระบบสอดส่องก๊าซมีเทนอัจฉริยะแล้ว โดยใช้เทคโนโลยีซิลิคอนโฟโตนิคส์ที่สามารถส่งข้อมูลผ่านแสง ช่วยให้สามารถประมวลผลได้ในระดับความเร็วแสง ชิพนี้สามารถฝังอยู่ในเซ็นเซอร์บนพื้น ภายในระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ หรือติดอยู่กับโดรน และเมื่อผนวกรวมกับข้อมูลลมและดาวเทียมแบบเรียลไทม์ รวมถึงข้อมูลย้อนหลังต่างๆ จะสามารถนำมาพัฒนาเป็นโมเดลที่ซับซ้อนเพื่อตรวจจับจุดกำเนิดและปริมาณของมลสารพิษได้ทันทีที่เกิดขึ้น