ประชาชน 72.66% รู้สึกกลัวอุบัตเหตุเวลาใช้บริการรถตู้โดยสาร ร้อยละ 71.25 ระบุรถตู้โดยสารส่วนใหญ่ขับขี่หวาดเสียวน่ากลัว ขณะที่ร้อยละ 71.87 เห็นด้วยที่จะนำรถบัสขนาดเล็กมาให้บริการแทนรถตู้โดยสารสาธารณะ

พุธ ๑๑ มกราคม ๒๐๑๗ ๑๒:๐๓
ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส ,อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ ,ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการ และอาจารย์วัฒนา บุญปริตร กรรมการรองผู้อำนวยการสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (ระดับอุดมศึกษา) แถลงผลการสำรวจความคิดเห็นต่อการใช้บริการรถตู้โดยสารสาธารณะของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งได้ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 4 ถึง 9 มกราคม พ.ศ. 2560 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,141 คน

ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าวว่า รถตู้โดยสารสาธารณะจัดเป็นบริการขนส่งประเภทหนึ่งที่เป็นทางเลือกให้กับผู้คนได้ใช้เดินทางทั้งการเดินทางระหว่างจังหวัดหรือการเดินทางจากชานเมือง/เขตปริมณฑลเข้าสู่บริเวณใจกลางเมือง ทั้งนี้เนื่องจากเป็นบริการที่รวดเร็ว เข้าถึงจุดหมายได้อย่างสะดวก และราคาค่าบริการไม่แพงจนเกินไป รวมถึงยังมีบริการเข้าถึงจุดหมายปลายทางที่ไม่มีระบบบริการขนส่งอื่นเข้าถึง รถตู้โดยสารสาธารณะจึงได้รับความนิยมจากผู้คนเป็นจำนวนมาก แต่อย่างไรก็ตามมีข่าวเกี่ยวกับอุบัติเหตุที่เกิดกับรถตู้โดยสารสาธารณะปรากฏอยู่เป็นระยะ ซึ่งบ่อยครั้งที่อุบัติเหตุเหล่านั้นได้สร้างความสูญเสียให้กับชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก ซึ่งสาเหตุเกิดจากหลายปัจจัย เช่น สภาพความสมบูรณ์ของยานพาหนะ มาตรฐานความปลอดภัยของยานพาหนะ การบรรทุกผู้โดยสารจำนวนมาก รวมถึงเกิดจากพฤติกรรมการขับขี่และสภาพความพร้อมของผู้ขับขี่เอง ถึงแม้หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องจะพยายามกำหนดมาตรการออกมาบังคับใช้เพื่อควบคุมป้องกันปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ รวมถึงมาตรการเพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการให้บริการรถตู้โดยสารสาธารณะ แต่อุบัตเหตุที่เกิดกับรถตู้โดยสารสาธารณะก็ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

จากประเด็นดังกล่าว สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นต่อการใช้บริการรถตู้โดยสารสาธารณะของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าวต่อว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดซึ่งมีอายุ 15 ปีขึ้นไป แบ่งเป็นเพศหญิงร้อยละ 50.74 และเพศชายร้อยละ 49.26 สามารถสรุปผลได้ดังนี้ สำหรับสาเหตุสำคัญสูงสุด 5 อันดับที่กลุ่มตัวอย่างใช้บริการรถตู้โดยสารสาธารณะคือ เดินทางได้สะดวกรวดเร็วคิดเป็นร้อยละ 83.35 เข้าถึงจุดหมายปลายทางได้สะดวกคิดเป็นร้อยละ 81.07 ไม่มีระบบขนส่งสาธารณะอื่นให้บริการคิดเป็นร้อยละ 77.65 เวลา/ความถี่ในการให้บริการเหมาะสมคิดเป็นร้อยละ 73.88 และปริมาณพาหนะที่ให้บริการมีมากคิดเป็นร้อยละ 68.36

ในด้านความคิดเห็นต่อการใช้บริการรถตู้โดยสารสาธารณะ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 71.25 มีความคิดเห็นว่าผู้ขับขี่รถตู้โดยสารสาธารณะส่วนใหญ่ขับขี่ในลักษณะหวาดเสียวน่ากลัว/ใช้ความเร็วสูงเกินไป ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 73.27 มีความคิดเห็นว่ารถตู้โดยสารสาธารณะที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบันบรรทุกผู้โดยสารต่อเที่ยวมากเกินไป นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างเกือบสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 65.73 มีความคิดเห็นว่าสภาพของรถตู้โดยสารสาธารณะที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบันส่วนใหญ่ไม่มีมาตรฐานความปลอดภัยเพียงพอ ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างถึงร้อยละ 72.66 ระบุว่าทุกครั้งที่ใช้บริการรถตู้โดยสารสาธารณะตนเองรู้สึกกลัวการเกิดอุบัติเหตุที่เป็นอันตรายกับชีวิต/ทรัพย์สิน ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 27.34 ระบุว่าตนเองไม่รู้สึกกลัว

เมื่อเปรียบเทียบปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุกับรถตู้โดยสารสาธารณะระหว่างพฤติกรรม/สภาพความพร้อมของผู้ขับขี่กับสภาพความสมบูรณ์ของยานพาหนะ ปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุกับรถตู้โดยสารสาธารณะ กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 56.09 มีความคิดเห็นว่าเกิดจากพฤติกรรม/สภาพความพร้อมของผู้ขับขี่มากกว่า ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 16.04 มีความคิดเห็นว่าเกิดจากสภาพความไม่สมบูรณ์ของยานพาหนะมากกว่า โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างมากกว่าหนึ่งในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 27.87 มีความคิดเห็นว่าเกิดจากทั้งสองปัจจัยพอๆกัน

นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 63.45 มีความคิดเห็นว่าการจำกัดชั่วโมงการขับขี่ต่อวันของผู้ขับขี่รถตู้โดยสารสาธารณะจะมีส่วนช่วยลดอุบัติเหตุที่เกิดกับรถตู้โดยสารสาธารณะได้ ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างเกือบสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 74.41 มีความคิดเห็นว่าเจ้าหน้าที่/หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องมีการเพิ่มความเข้มงวดในการบังคับควบคุมตรวจสอบมาตรฐานการให้บริการรถตู้โดยสารสาธารณะมากกว่าในปัจจุบัน ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 73.71 มีความคิดเห็นว่าควรมีการเพิ่มบทลงโทษกับผู้ประกอบการ/ผู้ขับขี่รถตู้โดยสารสาธารณะที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุให้สูงกว่าในปัจจุบัน และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 71.87 เห็นด้วยที่จะมีการกำหนดให้นำรถบัสโดยสารขนาดเล็ก (micro bus) มาให้บริการแทนรถตู้โดยสารสาธารณะ และหากมีบริการขนส่งสาธารณะอื่น เช่น รถไฟฟ้า รถบัสโดยสาร ไปยังจุดหมายปลายทางที่ต้องการไป กลุ่มตัวอย่างถึงสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 75.09 ยอมรับว่าจะเลือกใช้บริการระบบขนส่งอื่นๆแทน ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 24.89 ระบุว่าจะยังคงใช้บริการรถตู้โดยสารสาธารณะ ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าว

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version