ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ท่านได้ให้คำนิยมของอาชีพครูว่า "อาชีพครูสุดแสนวิเศษ" หากตีความหมายของอาชีพครูให้แตกและลึกจะพบ "ครู" คือคนที่สร้างคุณค่าความเป็นมนุษย์ให้แก่ลูกศิษย์ของตนได้อย่างแท้จริง แต่ครูจะเป็นเช่นนี้ได้จะต้องทำอย่างไร? อาจารย์หมอวิจารณ์มีข้อแนะนำ..อย่างน่าสนใจ "ผมเสนอว่าครูต้องเปลี่ยนกระบวนการเรียนการสอนใหม่ และโรงเรียนต้องสร้างวิถีการเรียนรู้ใหม่ขึ้นมา ไม่เน้นสอนความรู้แบบสำเร็จรูป แต่เน้นสอนแบบไม่ตายตัว ปรับกระบวนการสอนแล้วแต่ศิษย์ที่เข้ามาเรียนในแต่ละรุ่น แต่ละคน และปรับให้ทันกับยุคสมัย เคล็ดลับคือการออกแบบกระบวนการเรียนการสอนโดยเน้นการปฏิบัติหรือลงมือทำ ตามด้วยไตร่ตรองสะท้อนคิด ทำให้เกิดผลลัพธ์ทางการศึกษา คือ Learning Outcome นั่นเอง เท่านั้น...
...ผลลัพธ์ที่จะทำให้ศิษย์เกิดการเรียนรู้ได้อย่างแท้จริง มี 3 ด้านอย่างที่ทราบกันดีคือ A K S แต่ A = Attiitde ต้องมาก่อน ความเป็นคนดี ความเป็นคนที่บังคับใจตัวเองได้ แล้วมาที่ S = Skill คือ 21st Century Skills (ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21) แล้วถึงไปที่ K = Knowledge วิชาความรู้ ซึ่งความรู้นี้ เรียนไปอีก 10 ปี หลายส่วนก็ผิด เป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้ไปเรื่อยๆ ทั้ง 3 ด้านนี้ ไม่ได้แยกกัน จุดที่สำคัญ ผมย้ำว่าครูต้องเอาใจใส่ผลลัพธ์ทั้ง 3 ด้านนี้ ไม่ใช่เฉพาะด้านวิชาอย่างเดียว ตอนนี้การศึกษาบ้านเราเน้นเฉพาะด้านวิชา การสอนแบบท่องจำหลังจากนั้นก็จะลืม การเรียนรู้ที่แท้จริงความรู้ต้องติดตัวไปแล้วยกระดับต่อไปได้เรื่อยๆ และการผลลัพธ์ทีเกิดขึ้นต้องเป็นของเด็กทั้งชั้น และมีด้านที่ 4 ที่เติมเข้ามาคือ Working Memory (ด้านความจำใช้งาน) ที่ไม่ได้แยกออกมาลำพังแต่อยู่กับ 3 ด้าน การเรียนที่ทุกด้านไปด้วยกันแล้วก็ฝึกเป็นการเรียนแบบใหม่ 21st CenturyLearning คือเรียนจากการปฏิบัติตามด้วยการ Reflection จะค่อยๆ ทำให้ Working Memory ขยายใหญ่ขึ้น คนที่ได้รับการเรียนฝึกฝนมาดี Working Memory ก็จะดี จะคิดอะไรทั้งหลายได้ลึกๆ เชื่อมโยงกว้างขวางมากและสามารถสร้างระบบคลังสมองของตัวเองได้ แต่ทั้งหมดนี้ต้องเกิดจากการปฏิบัติทั้งสิ้น และการเรียนรู้ที่แท้จริงเกิดขึ้นทั้งในโรงเรียนและในชีวิตประจำวันที่บ้าน" ศ.นพ.วิจารณ์กล่าว
ศ.นพ.วิจารณ์ได้ฝากทิ้งท้ายไว้อย่างมีความหมายว่า "...ที่สำคัญคุณค่าของอาชีพครูคือ ครู "ได้" เรียนรู้ทุกวันจากการทำหน้าที่ของครู ในขณะที่ครูได้ถ่ายทอดความรู้ ครูก็ได้เรียนรู้ ครู "ได้" เรียนรู้เยอะมากทั้งมิติภายใน และมิติภายนอกครูต้องฝึกทักษะตนเองตลอดเวลานอกจากครูได้สร้างคุณค่าความเป็นมนุษย์ให้กับลูกศิษย์ ในทางตรงกันข้ามครูก็ "ได้" คุณค่านั้นกลับมาด้วย เมื่อ "ครู" ตีความหมายของอาชีพครูได้อย่างลึกซึ้งแบบนี้ "ครูก็จะรู้สึกอิ่มเอมใจ" และเกิดความภาคภูมิใจในอาชีพตนเองในที่สุดนั่นเอง...