เด็กไทย…ใจใหญ่ใส่ใจสังคม

จันทร์ ๑๖ มกราคม ๒๐๑๗ ๑๑:๓๖

"ส่วนหนึ่งจากวิชาเรียน ได้พบว่า น้องเด็กเล็กๆอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้มีจำนวนมาก ในฐานะที่เราเองก็เรียนครูจึงอยากช่วยพัฒนาเด็กไทยให้ก้าวพ้นปัญหานี้…" น้องกระต่าย นิสิตปี 4 จากคณะคุรุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา จ.สงขลา

"เพราะนี่ก็คือ บ้านของเรา ถ้าเราไม่ทำแล้วใครจะทำ ดังนั้นเรื่องดีๆไม่ต้องรอให้ใครมาสั่ง เราสามารถเริ่มต้นจากตัวเราก่อน…น้องนิ นักศึกษาปีที่ 1 วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี จ.แพร่

"ผมไม่ได้มาทำเพื่อความสนุก แต่มันคือการได้ช่วยเหลือชุมชน เพราะปัจจุบันน้ำตาลมะพร้าวมีจำนวนลดลง ส่งผลให้เยาวชนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะเด็กในพื้นที่ไม่รู้จัก" น้องพีท นักเรียนชั้นม.5 โรงเรียนถาวรานุกูล จ.สมุทรสงคราม

"ผมคิดว่าหากเราไม่เป็นผู้สืบทอดเรื่องนี้ความเป็นเอกลักษณ์ ทางวัฒนธรรมก็จะถูกลืม และเด็กรุ่นใหม่จะไม่รู้จักรากเหง้าของตนเอง....น้องเต๋า นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนร่มโพธิ์วิทยา จ.ศรีสะเกษ

ทั้ง 4 คน เป็นเยาวชนที่มาจากต่างที่ต่างถิ่น มีนิสัยใจคอ และวิถีชีวิตที่ต่างกันออกไป แต่สิ่งหนึ่งที่พวกเขามีเหมือนกันนั่นคือ หัวใจที่เปี่ยมไปด้วยพลังของ "จิตอาสา" ที่ลุกขึ้นมาทำงานเพื่อชุมชนตนเอง

แล้วอะไร?!! เป็นเหตุให้เยาวชนกลุ่มนี้ลุกขึ้นมาให้ความสำคัญกับการคลี่คลายปัญหาในชุมชนและสังคมของตนเอง มากกว่าการใช้ชีวิตเหมือนวัยรุ่นทั่วไป

มาฟังความคิดเห็นจากเด็กภาคใต้ น.ส.ศศิวิมล ณะวาโย (น้องกระต่าย) นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะคุรุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา ตัวแทนเยาวชนโครงการพี่สอนน้องให้อ่านเขียน ภายใต้โครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา ที่สนับสนุนโดยสงขลาฟอรั่ม เล่าให้ฟังว่า ตัวเธอนั้นเป็นนักศึกษาครูคนหนึ่งที่ไปพบปัญหาเด็กที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ เธอจึงมองเห็นว่าหากปัญหานี้ไม่ได้รับการแก้ไข เด็กไทยในอนาคตอาจต้องดำเนินชีวิตด้วยความยากลำบาก เธอกับเพื่อนจึงตัดสินทำโครงการนี้โดยชักชวนเพื่อนและรุ่นน้องในคณะ นำความรู้จากการเป็นนักศึกษาครูไปช่วยเหลือเด็กๆที่มีปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ "จากการลงพื้นที่ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งจากวิชาเรียน ได้พบว่า น้องเด็กเล็กๆอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้มีจำนวนมาก ในฐานะที่เราเองก็เรียนครูจึงอยากช่วยพัฒนาเด็กไทยให้ก้าวพ้นปัญหานี้ พร้อมทั้งสอนคุณธรรมให้น้องไปพร้อมๆกันด้วย เพราะหนูเชื่อว่า เด็กจะเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นได้ คนเป็นครูต้องเป็นต้นแบบที่ดีด้วย ซึ่งหลังจากการทำโครงการนี้ ทำให้หนูค้นพบว่า มันเปลี่ยนความคิดของหนู เพื่อนและน้องในโครงการให้พวกเรารู้สึกอยากทำประโยชน์เพื่อคนอื่นมากขึ้น อยากลงไปสอนเด็กๆ ให้พวกเขาเติบโตมาเป็นเด็กที่มีคุณภาพ ได้รับโอกาสทางการศึกษา และเติบโตขึ้นมาทำประโยชน์ และสร้างความสุขให้สังคมต่อไป"

เช่นเดียวกับน.ส.จิรัชญา โลนันท์ (น้องนิ) นักศึกษาปีที่ 1 วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี จ.แพร่ ตัวแทนเยาวชนโครงการเส้นทางศึกษาธรรมชาติในป่าชุมชนบ้านหัวนา ภายใต้โครงการเสริมศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน สนับสนุนโดยมูลนิธิส่งเสริมการเรียนรู้ชุมชน (วัดโป่งคำ) – น้องนิเป็นเยาวชนอีกคนที่สนใจการทำงานเพื่อชุมชนมาตั้งแต่ชั้นม.4 จุดเริ่มต้นที่นิทำโครงการฯ เพราะมองเห็นว่าที่ชุมชนของตัวเองมีปัญหาเรื่องน้ำแล้ง ซึ่งถ้าหากอยากจะคลี่คลายปัญหานี้คงต้องเริ่มจากตัวเธอก่อน

"หนูคิดว่าเรื่องการจัดการป่าไม่ใช่เรื่องของผู้ใหญ่อย่างเพียงเดียว แต่เด็กอย่างเราก็ทำได้เช่นเดียวกัน เพราะนี่ก็คือ บ้านของเรา ถ้าเราไม่ทำแล้วใครจะทำ ดังนั้นเรื่องดีๆไม่ต้องรอให้ใครมาสั่ง เราสามารถเริ่มต้นจากตัวเราก่อน ซึ่งตอนแรกที่ทำโครงการ ก็รู้สึกท้อบาง เพราะคิดว่ามันยาก แต่เมื่อได้เริ่มทำโครงการไปสักพัก มันพิสูจน์ได้ว่าหนูผ่านจุดนั้นมาได้ ผู้ใหญ่ในชุมชนให้การสนับสนุนและยอมรับว่าหนูและเพื่อนๆสามารถช่วยเหลือชุมชนของเราได้ นอกจากนี้หนูก็ยังได้นำทักษะและประสบการณ์จากการทำโครงการ ไปใช้สอบสัมภาษณ์เข้าเรียนที่วิทยาลัยพยาบาลอีกด้วย…หนูอยากจะฝากถึงเพื่อนๆเยาวชนว่า การไปช่วยเหลือคนอื่น อย่าลังเลที่จะลงมือทำ เพราะเมื่อเราได้ลองทำไปแล้วจะทำให้เรามีประสบการณ์ที่ได้มากกว่าในห้องเรียน"

ลองมาฟังความคิดเห็นของเยาวชนจากภาคอีสานกันบ้าง!!!

นายอภิชาติ วันอุบล หรือ เต๋า นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนร่มโพธิ์วิทยา ตัวแทนเยาวชนจากโครงการเส้นสายลายมัดหมี่มัดใจ สานสายใยกอนกวยโซดละเว ภายใต้โครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ สนับสนุนโดยศูนย์ประสานงานการวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดศรีสะเกษ เป็นเยาวชนที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านแต้พัฒนา โดยส่วนคนใหญ่จะเป็นชาวกวย ที่สำคัญเต๋ามีความเกี่ยวข้องกับผ้าไหมโซดละเวมาตั้งแต่เกิด จึงทำให้ผูกพันจนไม่สามารถแยกออกจากวิถีชีวิตได้… "ผ้าไหมโซดละเว เป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของคนกวยตั้งแต่เกิดจนตาย เมื่อสำคัญขนาดนี้ผมจึงไม่สามารถที่จะละทิ้งไปได้ ผมจึงอยากให้เด็กและเยาวชนในชุมชนช่วยกันเห็นคุณค่า และช่วยกันรักษาภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวกวยอยู่คู่ชุมชนของเราตลอดไป ซึ่งผมคิดว่าหากเราไม่เป็นผู้สืบทอดเรื่องนี้ความเป็นเอกลักษณ์ ทางวัฒนธรรมก็จะถูกลืม และเด็กรุ่นใหม่จะไม่รู้จักรากเหง้าของตนเอง... นอกจากตัวผมจะได้ความสุขใจจากที่เป็นแกนนำชักชวนน้องๆในชุมชนมาร่วมเรียนรู้และรักษาเอกลักษณ์และวัฒนธรรมในท้องถิ่นแล้ว คนในชุมชนก็ยังได้รับความภาคภูมิใจในความเป็นชาวกวยอีกด้วย"

มาต่อด้วยเสียงสะท้อนจากเยาวชนในโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก สนับสนุนโดยศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสมุทรสงคราม

นายชาตรี ลักขณาสมบัติ (น้องพีช) นักเรียนชั้นม.5 โรงเรียนถาวรานุกูล ตัวแทนเยาวชนโครงการบอกกล่าวเล่าขานน้ำตาลมะพร้าวท่าคา เล่าว่า ตัวเขาเองเมื่อก่อนเป็นเด็กที่ไม่สนใจอะไร เที่ยวเล่นไปตามประสาเด็กวัยรุ่นคนหนึ่ง แต่เมื่อมีโอกาสได้เข้ามาทำโครงการแล้ว มันทำให้ผมเปลี่ยนความคิดและมุมมองการใช้ชีวิตไปเลย "การทำโครงการนี้ผมไม่ได้มาทำเพื่อความสนุก แต่มันคือการได้ช่วยเหลือชุมชน เพราะปัญหาที่พบ คือ ปัจจุบันน้ำตาลมะพร้าว ของประจำท้องถิ่นมีจำนวนลดลง ส่งผลให้เยาวชนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะเด็กในพื้นที่ไม่รู้จัก และก็ไม่เห็นความสำคัญ ผมกับเพื่อนจึงต้องการอนุรักษ์ของดั้งเดิมในท้องถิ่นให้ยังคงอยู่กับชุมชนต่อไป และถึงแม้ว่าผมจะเป็นหน่วยเล็กๆก็ตาม แต่ผมก็มองว่าการทำงานเพื่อชุมชนนั้น มีคุณค่า เราทำไปแล้วไม่รู้สึกเสียเปล่า ดีกว่าการที่เราไม่ลงมือทำอะไรเลย"

เยาวชนทั้ง 4 คนนี้ ถึงแม้จะสนใจในประเด็นที่แตกต่างกัน แต่เป้าหมายปลายที่เหมือนกัน คือ พวกเขาได้ทำประโยชน์เพื่อสังคมส่วนรวม ได้ร่วมคลี่คลายปัญหาจากการทำโครงการเพื่อชุมชนของตนเอง ซึ่งอาจจะยากบ้าง เจออุปสรรคบ้าง แต่พวกเขาก็ยังยินดีที่จะเป็นผู้ให้โดยไม่หวังผลตอบแทน และทั้ง 4 คนก็ยังย้ำว่า ถึงแม้ความยากลำบากที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ได้ทำให้พวกเขา ท้อถอย แต่กลับรู้สึกมีความสุขและสนุกทุกครั้งที่ได้มาทำโครงการกับเพื่อนๆ นอกจากนี้พวกเขายังได้ประโยชน์จากการทำโครงการมากมาย กลายเป็นทักษะสำคัญของชีวิต ที่นำมาพัฒนาทั้งตนเองและคนรอบข้างอีกด้วย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๑๒ ฉลองเทศกาลตรุษจีนปีงูเล็ก ที่โรงแรมดุสิตธานี กระบี่ บีช รีสอร์ท
๑๗:๐๐ IMPACT เผยปี 68 ข่าวดี! โครงการ Sky Entrance รถไฟฟ้าสายสีชมพูมาตามนัด หนุนทราฟฟิคแน่น - จับมือพาร์ทเนอร์
๑๗:๕๒ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม สนับสนุนโครงการ กู้วิกฤตและอนุรักษ์พะยูน ครั้งที่ 2
๑๗:๕๘ แสนสิริ เจ้าตลาดคอนโดแคมปัส อวดโฉม ดีคอนโด วิวิด รังสิต คอนโดใหม่ตรงข้าม ม.กรุงเทพ
๑๖:๔๓ เอ็นไอเอ - สสส. ดึงนิวเจน สรรค์สร้างนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพ ในแคมเปญ The Health Promotion INNOVATION PLAYGROUND
๑๗:๕๘ กรมวิทย์ฯ บริการ เร่งพัฒนาระบบ e-Learning ยกระดับการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ
๑๖:๕๘ เขตจตุจักรกวดขันคนไร้บ้านเชิงสะพานข้ามคลองบางซื่อ สร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
๑๗:๑๗ เขตพระนครประสานกรมเจ้าท่า-เอกชน เร่งปรับปรุงภูมิทัศน์ท่าเรือสุพรรณเดิม
๑๗:๔๐ กทม. กำชับเจ้าของอาคารตรวจสอบโครงสร้างบันไดเลื่อน เพิ่มความปลอดภัยประชาชน
๑๖:๓๗ แลกเก่าเพื่อโลกใหม่ ช้อปคุ้ม พร้อมลดหย่อนภาษี! 'เปลี่ยนของเก่าเป็นความคุ้ม' ผ่าน Easy E-Receipt ได้ที่โฮมโปร เมกาโฮม