นักเรียน 63.12% ระบุตนเองค้นคว้าหาความรู้ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตมากกว่าอ่านจากหนังสือ ขณะที่ร้อยละ 64.34 ยอมรับตนเองหาความรู้ผ่านอินเทอร์เน็ตด้วยตนเองมากกว่าสอบถามครูอาจารย์

จันทร์ ๑๖ มกราคม ๒๐๑๗ ๑๑:๔๔
ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส ,อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ ,ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการ และอาจารย์วัฒนา บุญปริตร กรรมการรองผู้อำนวยการสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (ระดับอุดมศึกษา) แถลงผลการสำรวจพฤติกรรมของนักเรียนนักศึกษาในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อการใช้ระบบอินเทอร์เน็ตค้นคว้าหาข้อมูลสาระความรู้เกี่ยวกับการเรียน ซึ่งได้ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 11 ถึง 15 มกราคม พ.ศ. 2560 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,147 คน

ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าวว่า ในปัจจุบันระบบอินเทอร์เน็ตจัดเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทสำคัญและสร้างประโยชน์ให้กับผู้คนทั่วไปในหลายด้านโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการศึกษา ซึ่งรัฐบาลได้มีการส่งเสริมให้นักเรียนนักศึกษาในทุกพื้นที่ได้มีโอกาสเข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ตเพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษา ขณะเดียวกันสถานศึกษาต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชนได้สนับสนุนให้นักเรียนนักศึกษาได้มีโอกาสเรียนรู้และใช้งานระบบอินเทอร์เน็ตมากขึ้น ทั้งนี้ระบบอินเทอร์เน็ตนอกจากจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยขยายโอกาสทางการศึกษาให้กับนักเรียนนักศึกษาในทุกพื้นที่แล้ว ประโยชน์สำคัญของระบบอินเทอร์เน็ตอีกประการหนึ่งคือการที่นักเรียนนักศึกษาสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการค้นคว้าหาข้อมูลสาระความรู้ต่างๆเกี่ยวกับการเรียนได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ทั้งในกรณีที่ต้องการค้นคว้าหาข้อมูลสาระความรู้เพิ่มเติมจากที่ครูอาจารย์สอนในห้องเรียน หรือในกรณีที่ต้องการค้นคว้าหาความรู้ในสิ่งที่ตนเองไม่เข้าใจ รวมถึงการใช้ค้นคว้าหาข้อมูลประกอบการทำรายงานหรือการบ้านที่ครูอาจารย์สั่ง แต่อย่างไรก็ตาม ผู้คนในสังคมรวมถึงพ่อแม่ผู้ปกครองตลอดจนครูอาจารย์และนักวิชาการส่วนหนึ่งได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์แสดงความห่วงใยว่าในปัจจุบันนักเรียนนักศึกษาอาจให้ความสำคัญกับการค้นคว้าหาข้อมูลต่างๆผ่านระบบอินเทอร์เน็ตมากเกินไปจนไม่ได้ให้ความสนใจกับเอกสารประเภทอื่นๆ หรือการที่นักเรียนนักศึกษานิยมค้นคว้าหาข้อมูลความรู้ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตมากกว่าการสอบถามครูอาจารย์โดยตรง นอกจากนี้การใช้งานระบบอินเทอร์เน็ตเพื่อค้นคว้าหาข้อมูลเพียงอย่างเดียวอาจส่งผลให้นักเรียนนักศึกษาได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง รวมถึงอาจมีนักเรียนนักศึกษาบางส่วนใช้ประโยชน์จากระบบอินเทอร์เน็ตในการคัดลอกผลงานหรือรายงานของผู้อื่น ซึ่งปัญหาต่างๆเหล่านี้อาจส่งผลเสียให้กับนักเรียนนักศึกษาในระยะยาวได้ จากประเด็นดังกล่าว สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจพฤติกรรมของนักเรียนนักศึกษาในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อการใช้ระบบอินเทอร์เน็ตค้นคว้าหาข้อมูลสาระความรู้เกี่ยวกับการเรียน

ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าวต่อไปว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างอายุระหว่าง 13 ถึง 20 ปี ซึ่งจำแนกเป็นเพศหญิงร้อยละ 50.65 และร้อยละ 49.35 เป็นเพศชาย สามารถสรุปผลได้ดังนี้ ในด้านพฤติกรรมการใช้ระบบอินเทอร์เน็ตค้นคว้าหาข้อมูลสาระความรู้เกี่ยวกับการเรียนนั้น สำหรับวิชาที่กลุ่มตัวอย่างใช้ระบบอินเทอร์เน็ตค้นคว้าหาข้อมูลสาระความรู้มากที่สุด 5 อันดับได้แก่ สังคมศึกษาคิดเป็นร้อยละ 81.34 คณิตศาสตร์คิดเป็นร้อยละ 79.16 ภาษาไทยคิดเป็นร้อยละ 76.81 ภาษาอังกฤษคิดเป็นร้อยละ 75.15 และเทคโนโลยีคิดเป็นร้อยละ 72.89 ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ระบุว่าตนเองใช้ระบบอินเทอร์เน็ตค้นคว้าหาข้อมูลสาระความรู้เกี่ยวกับการเรียนในกรณีที่ต้องทำการบ้าน/รายงานตามที่ครูอาจารย์สั่งบ่อยที่สุดซึ่งคิดเป็นร้อยละ 38.36 รองลงมาร้อยละ 22.23 ระบุว่าในกรณีที่ต้องการค้นคว้าหาความรู้เพื่อเตรียมสอบต่างๆ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 13.86 และร้อยละ 11.6 ระบุว่าในกรณีที่ต้องการค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมจากสิ่งที่เรียนในชั้นเรียนและในกรณีที่ต้องการค้นคว้าหาความรู้ในสิ่งที่ตนเองไม่เข้าใจในชั้นเรียนตามลำดับ ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 7.67 ระบุว่าในกรณีที่ตนเองขาดเรียน/ไม่ได้เข้าชั้นเรียน และกลุ่มตัวอย่างที่เหลือระบุว่าในกรณีที่ครูอาจารย์สอนไม่ทัน/ไม่ได้เข้าสอนในชั้นเรียนคิดเป็นร้อยละ 6.28

เมื่อเปรียบเทียบช่องทางการค้นคว้าหาข้อมูลสาระความรู้เกี่ยวกับการเรียนระหว่างการค้นคว้าผ่านระบบอินเทอร์เน็ตกับการค้นคว้าผ่านเอกสารในรูปของกระดาษ เช่น หนังสือความรู้ วารสาร นิตยสาร หนังสือพิมพ์ เป็นต้น กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 63.12 ยอมรับว่าตนเองค้นคว้าผ่านระบบอินเทอร์เน็ตมากกว่า ขณะที่มีกลุ่มตัวอย่างเพียงร้อยละ 15.43 ระบุว่าค้นคว้าผ่านเอกสารในรูปของกระดาษมากกว่า โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 21.45 ระบุว่าใช้ทั้งสองช่องทางเท่าๆกัน ส่วนในกรณีที่ไม่เข้าใจ/มีข้อสงสัย/ต้องการความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเนื้อหาบทเรียนในชั้นเรียน กลุ่มตัวอย่างเกือบสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 64.34 ยอมรับว่าตนเองนิยมค้นคว้าผ่านระบบอินเทอร์เน็ตด้วยตนเองมากกว่า ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 21.19 ระบุว่านิยมสอบถามจากครูอาจารย์ผู้วสอนมากกว่า และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 14.47 ระบุว่าใช้ทั้งสองวิธีพอๆกัน

นอกจากนี้เมื่อเปรียบเทียบระหว่างการใช้ระบบอินเทอร์เน็ตค้นคว้าหาข้อมูลสาระความรู้เกี่ยวกับการเรียนกับการใช้ระบบอินเทอร์เน็ตทำกิจกรรมอื่นๆที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนในรอบหนึ่งวัน กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 58.33 ยอมรับว่าตนเองใช้ระบบอินเทอร์เน็ตทำกิจกรรมอื่นๆมากกว่า ขณะที่มีกลุ่มตัวอย่างเพียงร้อยละ 17.52 ที่ระบุว่าใช้เวลาค้นคว้าหาข้อมูลสาระความรู้มากกว่า ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 24.15 ระบุว่าใช้เวลาทำทั้งสองอย่างเท่าๆกัน ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 69.92 ยอมรับว่าการค้นคว้าหาข้อมูลสาระความรู้เกี่ยวกับการเรียนผ่านระบบอินเทอร์เน็ตทำให้ตนเองมีโอกาสได้ติดต่อพบปะกับครูอาจารย์ผู้สอนนอกเวลาเรียนน้อยลง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 30.08 ระบุว่าไม่ได้ทให้มีโอกาสติดต่อพบปะกับครูอาจารย์ผู้สอนนอกเวลาเรียนน้อยลง

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่แต่ไม่ถึงครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 47.95 ระบุว่าตนเองไม่เคยใช้ระบบอินเทอร์เน็ตเพื่อคัดลอกข้อมูลประเภท เรียงความ บทความ บทกลอน รายงาน ของผู้อื่นมาใส่เป็นรายงาน/การบ้านของตนเองแล้วนำส่งครูอาจารย์เลย ขณะที่มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 38.27 ยอมรับว่าเคยบ้างเป็นบางครั้ง และมีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 13.78 ยอมรับว่าเคยเป็นประจำ และกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 54.23 ยอมรับว่าตนเองไม่เคยได้ตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์ของข้อมูลสาระความรู้ที่ค้นคว้าผ่านระบบอินเทอร์เน็ตก่อนที่จะนำมาบรรจุลงในการบ้าน/รายงานเลย ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าว

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๓๑ ม.ค. รู้จักโรคอ้วนดีแล้ว.จริงหรือ?
๓๑ ม.ค. บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี ร่วมกับ MBK ส่งมอบปฏิทินในกิจกรรม ปฏิทินเก่ามีค่า เราขอ
๓๑ ม.ค. BSRC ออกหุ้นกู้รอบใหม่ 8,000 ล้านบาท ยอดจองเกินเป้า ตอกย้ำความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน
๓๑ ม.ค. คปภ. ร่วมสัมมนาประกันภัย ครั้งที่ 29 เตรียมรับมือความเสี่ยงอุบัติใหม่ พลิกโฉมธุรกิจประกันภัยสู่ความท้าทายในอนาคต
๓๑ ม.ค. มอบของขวัญให้กับครอบครัวของคุณช่วงวันหยุดพิเศษที่ สเตย์บริดจ์ สวีท แบงค็อก สุขุมวิท
๓๑ ม.ค. OR เปิดตัว CEO คนใหม่ หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ มุ่งผลักดันไทยสู่ Oil Hub แห่งภูมิภาค พร้อมขับเคลื่อนองค์กรด้วยดิจิทัล-นวัตกรรม
๓๑ ม.ค. เดลต้า ประเทศไทย คว้ารางวัล ASEAN's Top Corporate Brand ประจำปี 2567
๓๑ ม.ค. โรงแรมอลอฟท์ กรุงเทพ สุขุมวิท 11 พลิกโฉมใหม่ สุดโมเดิร์น! พร้อมเปิดตัว w xyz bar ตอกย้ำความสนุกในแบบฉบับ
๓๑ ม.ค. PAUL JOE เปิดตัว GLOSSY ROUGE ต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ 2025
๓๑ ม.ค. บริษัท โกซอฟท์ (ประเทศไทย) ได้รับเกียรติบัตรศูนย์ รับเรื่องและแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคระดับดีเด่น จาก สคบ. และการรับรองมาตรฐาน ISO