อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า จากเหตุการณ์ความสูญเสียครั้งนี้ บุคคลในครอบครัวและญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิต ย่อมได้รับผลกระทบทางจิตใจเป็นอย่างมาก จึงจำเป็นต้องมีการประเมินและดูแลปฐมพยาบาลทางใจ เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในระยะยาว ซึ่งทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการช่วยลดผลกระทบด้านจิตใจให้กับครอบครัวและผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ได้ ซึ่งต้องขอความร่วมมือสื่อมวลชนและโลกออนไลน์พึงเคารพสิทธิผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ โดยการไม่แชร์หรือเผยแพร่ภาพหรือคลิปต่างๆ ของเหตุการณ์ความสูญเสียในครั้งนี้ เพราะจะยิ่งกระตุ้น ให้ครอบครัวและญาติของผู้เสียชีวิต รวมทั้งผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์คิดถึงภาพเหตุการณ์สะเทือนใจซ้ำไปซ้ำมา ตอกย้ำสถานการณ์ให้แย่ลงไปอีก
นอกจากนี้ กลุ่มเด็กที่อยู่ในเหตุการณ์หรือรับชมรับฟังข่าวหรือภาพเหตุการณ์ ย่อมมีโอกาสได้รับผลกระทบด้านจิตใจแตกต่างกันออกไป ซึ่งสามารถแบ่งเด็กออกได้เป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรก คือ เด็กปฐมวัย แรกเกิด – 5 ปี เนื่องจาก ยังไม่รับรู้ถึงความตายว่าเป็นอย่างไร จึงขอแนะนำพ่อแม่ผู้ปกครองไม่ให้เด็กรับชมคลิป หรือไม่พูดถึงเหตุการณ์มากนัก หากเด็กถามก็ตอบเพียงว่าเป็นการเกิดอุบัติเหตุ เป็นต้น ทั้งนี้ หากมีผลทำให้เกิดอาการตกใจในกลุ่มเด็กวัยนี้ อาการที่อาจพบได้ คือ มีภาวะถดถอย ในบางช่วง เช่น กลับไปดูดนิ้ว ปัสสาวะรดที่นอนในตอนกลางคืน ไม่ยอมห่างจากพ่อแม่ เป็นต้น แต่อาจเกิดได้น้อยมาก กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มเด็กอายุ 5-10 ปี ซึ่งกลุ่มนี้ น่าห่วงมากที่สุด เนื่องจากรับรู้ความหมายของการตายแล้ว มีความคิดซับซ้อนมากขึ้น ข้อแนะนำ คือ ให้หลีกเลี่ยงการดูคลิป อาการที่ต้องเฝ้าระวัง คือ ตื่นตกใจง่าย หวาดกลัว คิดวนเวียนซ้ำไปซ้ำมาถึงเหตุการณ์ หลีกเลี่ยงคนหรือเหตุการณ์ที่ทำให้ตกใจ เป็นต้น หากพ่อแม่ผู้ปกครองพบเห็นอาการเหล่านี้ ให้ปรึกษาหรือพามาพบผู้เชี่ยวชาญ และกลุ่มสุดท้าย คือ กลุ่มวัยรุ่น ซึ่งสามารถใช้เหตุผลและอธิบายถึงเรื่องราวที่มาที่ไปของเหตุการณ์ต่างๆได้ หากเกิดผลกระทบต่อจิตใจสามารถเล่าถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้นให้ผู้ใหญ่ฟังได้ พ่อแม่ผู้ปกครองจึงอาจเพียงแนะนำให้พวกเขาหลีกเลี่ยงการรับชม รับฟัง เหตุการณ์ คลิป หรือภาพ ที่ทำให้เกิดผลกระทบทางใจกับพวกเขา เป็นต้น ทั้งนี้ สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว