นายชัชชัยกล่าวว่า การลงทุนในตราสารหนี้จะมีความเสี่ยงที่สำคัญอยู่ 2 ประเด็นหลักที่ผู้ลงทุนควรทราบ คือ ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของราคา ซึ่งเป็นผลมาจากความคาดหวังในอัตราผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น หรืออัตราดอกเบี้ยในตลาดปรับตัวสูงขึ้น (market risk / interest rate risk) และความเสี่ยงที่เกิดจากการไม่ได้รับชำระเงินคืนตามกำหนดเวลา (default risk) ซึ่งความเสี่ยงอย่างหลังนี้ ถ้าหากเกิดขึ้นก็มักจะกระทบต่อราคาหรือมีโอกาสขาดทุนมากกว่าความเสี่ยงแบบแรก ทั้งนี้โดยหลักการแล้ว การผิดนัดชำระเงินของตราสารหนี้อาจเกิดขึ้นได้กับตราสารต่างๆ ทั้งตราสารประเภทที่ไม่มีการจัดอันดับเครดิต (non rated) ตราสารที่มีอันดับเครดิตต่ำกว่าระดับที่ลงทุนได้ (non investment grade) หรือแม้แต่ตราสารที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตในระดับที่ลงทุนได้ (investment grade) ก็ตาม เพียงแต่ตราสารหนี้ที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตจะมีการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทต่อนักลงทุน ทำให้นักลงทุนมีข้อมูลเบื้องต้นในการประเมินหรือพิจารณาความเสี่ยงก่อนการลงทุน ซึ่งโดยสถิติแล้ว ตราสารหนี้ที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตในระดับที่ดี ส่วนใหญ่จะมีโอกาสของการผิดนัดชำระหนี้น้อยกว่าตราสารหนี้ที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตในระดับที่ต่ำกว่าหรือไม่มีการจัดอันดับเครดิต แต่ก็จะได้รับอัตราผลตอบแทนในระดับที่ต่ำกว่าโดยเปรียบเทียบเช่นเดียวกัน
"สำหรับกรณีการผิดนัดชำระหนี้ของหลายบริษัทที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ จะเห็นว่าบริษัทผู้ออกตราสารเหล่านี้ดำเนินธุรกิจที่แตกต่างกัน จึงไม่อาจเหมารวมว่ากลุ่มอุตสาหกรรมใดกำลังมีปัญหาเรื่องการดำเนินงานหรือขาดสภาพคล่องหรือไม่ ทั้งนี้ความผิดพลาดอาจเกิดจากสาเหตุเล็กๆ เช่น มีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการภายใน หรือปัญหาเรื่องการจัดเงินในระยะเวลาสั้นๆ ไม่ดี (fault settlement) ซึ่งสาเหตุเหล่านี้หากเกิดขึ้นกับเจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงินจะไม่เป็นปัญหาหรือมีผลกระทบไม่มาก เพราะสามารถยืดหยุ่นได้มากกว่ากรณีเจ้าหนี้ที่เป็นกองทุนซึ่งบริหารจัดการโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เพราะต้องนำเงินไปส่งมอบต่อผู้ถือหน่วยให้ทันตามกำหนดเวลา แต่ถ้าพบปัญหาว่ากิจการเริ่มมีการจัดการกับสภาพคล่อง หรือมีปัญหากับธุรกิจที่ดำเนินการอยู่จริงๆ ก็เป็นสิ่งที่ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะเจ้าหนี้ต้องเข้าไปติดตามและแก้ปัญหา นอกจากนี้ประเด็นที่สำคัญคือ แม้ว่ากองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ที่ผิดนัดชำระส่วนใหญ่จะเป็นกองทุนที่จดทะเบียนจัดตั้งกับก.ล.ต. เป็นกองทุนรวมที่เสนอขายสำหรับผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อยก็ตาม บลจ.หรือเจ้าหนี้ก็ยังมีหน้าที่ที่จะต้องชี้แจงให้ผู้ถือหน่วยลงทุนรับทราบถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นด้วย หรือแม้กระทั่งหากมีการผิดนัดชำระหนี้เกิดขึ้นแล้ว ก็ควรมีคำชี้แจงพร้อมแนวทางในการแก้ไขจัดให้แก่ผู้ลงทุนทราบด้วยเช่นเดียวกัน" นายชัชชัยกล่าว
นายชัชชัยกล่าวต่อไปว่า สำหรับการลงทุนในตราสารหนี้ของบริษัทเอกชน บริษัทจัดการจึงจำเป็นที่จะต้องทำการวิเคราะห์ความเสี่ยงในด้านต่างๆ ทั้งระดับมหภาคและจุลภาคไม่แตกต่างจากการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ และต้องมีการติดตามการบริหารผลการดำเนินงานของบริษัทผู้ออกตราสารหนี้อย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง ซึ่งในส่วนของบลจ.กสิกรไทยเองมีกระบวนการกลั่นกรองถึง 2 ชั้น โดยคณะทำงานพิจารณาการลงทุนด้านตราสารหนี้ และคณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยงด้านการลงทุน ทั้งนี้ การวิเคราะห์จะประเมินทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพiรวมถึงบางครั้งจะมีการเข้าพบผู้บริหารและเยี่ยมชมการดำเนินกิจการของบริษัทที่จะไปลงทุนเพื่อเพิ่มความเข้าใจในธุรกิจและความเสี่ยงของธุรกิจให้มากขึ้น ทั้งนี้การพิจารณาการลงทุนของบริษัทจะคำนึงผลประโยชน์สูงสุดที่ผู้ลงทุนจะได้รับและเพื่อให้ผู้ลงทุนเกิดความเชื่อมั่นมากที่สุด