ปัจจุบัน กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ต้องกำหนดแนวทางการดำเนินงานให้สอดคล้องกับ นโยบายของรัฐบาลตามยุทธศาสตร์ 20 ปี ของกรมฯ ที่มีการพัฒนาด้านการดัดแปรสภาพอากาศ ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญของกรม ฯ และขับเคลื่อนให้กรมเป็นองค์กรชั้นนำในการดัดแปรสภาพอากาศในระดับสากล ในการอบรมเชิงปฏิบัติการดังกล่าว เป็นการพัฒนานักวิจัยที่มิใช่เพียงแค่การอบรมให้ความรู้เท่านั้น แต่เป็นการอบรมระยะยาวมีทั้งภาคบรรยายและภาคปฏิบัติระยะเวลา 1 ปี เพื่อนำมาเป็นเทคโนโลยีทางเลือกในสภาพอากาศหรือสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยการสร้างนักวิทยาศาสตร์ให้ได้ความรู้ทั้งทักษะพื้นฐาน และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องด้านต่างๆ ที่จำเป็น โดยมีวิทยากรเฉพาะด้านทั้งจากในประเทศ ได้แก่ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน และอาจารย์มหาวิทยาลัยต่าง ๆ รวมทั้งวิทยากรต่างประเทศเป็นผู้ให้ความรู้ ดังนั้นการอบรมในครั้งนี้ต้องการให้ผู้เข้ารับการอบรมได้เป็นนักวิจัยที่สร้างงานวิจัยได้และทำงานวิจัยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญให้กับกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ในการปฏิบัติงานเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการฝนหลวง การพัฒนาเทคนิคการปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่แล้งซ้ำซาก ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมตอบสนองตามนโยบายของรัฐบาล และยุทธศาสตร์ของกรม ที่จะพัฒนาเป็น "ฝนหลวง 4.0"
นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการฝึกอบรมครั้งนี้มีผู้เข้ารับการอบรมเป็นนักวิทยาศาสตร์ จำนวน 45 คน โดยหลักสูตรการอบรมเป็นระยะเวลา 1 ปี ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ได้แก่ 1) การบรรยายและฝึกปฏิบัติ 2) การจัดทำโครงการวิจัยและพัฒนาที่จะมีผู้เชี่ยวชาญเป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำ และส่วนที่ 3) การดำเนินการวิจัยและพัฒนาตามโครงการที่ได้จัดทำขึ้นในภาคสนามและห้องปฏิบัติการ การอบรมในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) ที่เล็งเห็นความสำคัญของการสร้างนักวิทยาศาสตร์ฝนหลวง ให้มีความรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำ วิจัยอย่างบูรณาการ