ดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index : CPI) ตอนที่ 7 แหล่งข้อมูล ICRG

จันทร์ ๒๓ มกราคม ๒๐๑๗ ๑๓:๕๓
นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. กล่าวว่าองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International : TI) จะประกาศค่าคะแนน Corruption Perceptions Index (CPI) ของปี 2559 ในวันพุธที่ 25 มกราคม 2560 นี้ ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการให้ค่าคะแนน CPI ที่วัดดัชนีการรับรู้การทุจริตประเทศไทย โดย TI อาศัยข้อมูลจาก 8 แหล่งข้อมูลและในตอนที่ 7 นี้ จะพูดถึงแหล่งข้อมูล ICRG

Political Risk Services International Country Risk Guide (ICRG) เป็น 1 ใน 8 แหล่งข้อมูล ที่องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (TI) นำไปใช้ประเมินคะแนน CPI ของประเทศไทย

ประเทศไทยเข้าสู่การประเมิน CPI มาตั้งแต่ปี 2538 แต่ข้อมูลของ ICRG เพิ่งจะถูกนำมาร่วมคิดคำนวณ CPI ครั้งแรกในปี 2553 โดยคะแนนที่ได้จากแหล่งข้อมูลนี้ ในช่วง 2 ปีแรก คือปี 2553-2554 อยู่ที่ 3.1 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน และตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบัน TI ปรับเพดานคะแนน CPI เป็น 100 คะแนน แต่ประเทศไทยยังคงได้คะแนนจากแหล่งข้อมูลนี้ในอัตราเท่าเดิมคือ 31 คะแนน ซึ่งถือว่าเป็นคะแนนที่ "ต่ำ" และ "คงที่" ต่อเนื่องเรื่อยมา

ค่าคะแนน CPI ของไทยจากแหล่งข้อมูล ICRG 4 ครั้งหลังสุด

ปี ๒๕๕5 ๒๕๕6 ๒๕๕7 ๒๕๕8

คะแนน 31 31 31 31

ในเอกสาร ICRG Methodology กล่าวถึงที่มาของ ICRG ว่า เมื่อปี 2523 กลุ่มบรรณาธิการของนิตยสาร International Reports ซึ่งเป็นนิตยสารรายสัปดาห์ที่นำเสนอข่าวสารด้านเศรษฐกิจและการเงิน ได้คิดค้นโมเดล ICRG ขึ้นมา โดยใช้ข้อมูลเชิงสถิติในการคำนวณ วิเคราะห์และจัดอันดับ "ความเสี่ยง" ของประเทศต่าง ๆ ประกอบด้วย 1) ความเสี่ยงด้านการเมือง 2) ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ และ 3) ความเสี่ยงด้านการเงิน โดยรายงานผลการวิเคราะห์และจัดอันดับความเสี่ยงของ ICRG มีความสำคัญต่อบรรษัทข้ามชาติเพื่อใช้ข้อมูลของแต่ละประเทศประกอบการตัดสินใจลงทุน

ต่อมาในปี 2535 จนถึงปัจจุบัน ทีมงานของ ICRG ได้ย้ายไปร่วมงานกับ The PRS Group ซึ่งเป็นองค์กรแสวงหากำไร โดย ICRG เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์สำคัญของบริษัท และตั้งแต่เดือนกันยายน 2544 The PRS group เริ่มให้บริการรายงานผล ICRG แบบออนไลน์แก่ลูกค้าของตน

ICRG รายงานผลการจัดอันดับความเสี่ยงทุกเดือน ครอบคลุม 140 ประเทศทั่วโลก

ในโมเดล ICRG มี "ตัวแปร" ที่ใช้เป็นเกณฑ์ในการจัดอันดับความเสี่ยงทั้ง 3 ด้าน จำนวน 22 ตัวแปรแบ่งเป็น ความเสี่ยงด้านการเมือง 12 ตัวแปร ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ 5 ตัวแปร และความเสี่ยงด้านการเงิน 5 ตัวแปร ทั้งนี้ "การคอร์รัปชัน" จัดอยู่ในกลุ่มตัวแปรที่ใช้วัดความเสี่ยงด้านการเมือง มีค่าคะแนน 6 คะแนน (คะแนนยิ่งสูง ความเสี่ยงเรื่องการคอรร์รัปชันยิ่งน้อย) ซึ่งตัวแปร 12 ตัว ที่ใช้วัดความเสี่ยงด้านการเมืองมีคะแนนรวมทั้งหมด 100 คะแนน ส่วนวิธีการเก็บข้อมูล กลุ่มเป้าหมายหรือกลุ่มตัวอย่างที่นักวิจัยของ ICRG เลือกใช้ ยังไม่มีการเปิดเผย เนื่องจาก The PRS group จำกัดการเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกไว้เฉพาะสมาชิกหรือลูกค้าของตน

จากการศึกษาข้อมูลใน "Corruption Perceptions Index: 2015 Full Source Description" พบว่า TI นำข้อมูลจากผลการประเมิน "การคอร์รัปชัน" ในรายงานของ ICRG ไปใช้ในการคำนวณเป็นค่าคะแนน CPI โดยมีประเด็นคำถามการประเมินความเสี่ยงเรื่อง "การคอร์รัปชัน" ที่มุ่งประเมินการทุจริตในระบบการเมือง ซึ่งพบมากในรูปแบบของความสัมพันธ์ระหว่างผู้มีอำนาจหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกับภาคธุรกิจ การรับสินบน การอำนวยความสะดวกในการนำเข้า-ส่งออก ระบบอุปถัมภ์และระบบเครือญาติ ทั้งนี้ การคำนวณคะแนน CPI จากแหล่งข้อมูล ICRG ประจำปี 2558 ที่ผ่านมา ได้ใช้ข้อมูลจากรายงานของ ICRG ที่เผยแพร่ในช่วงเวลาระหว่างเดือนสิงหาคม 2557 ถึงเดือนสิงหาคม 2558

แนวทางการยกระดับค่าคะแนนแหล่งข้อมูบ ICRG

จากข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นคำถามที่ ICRG ใช้ประเมินความเสี่ยงเกี่ยวกับการคอร์รัปชันดังกล่าวข้างต้น ที่ผ่านมาคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ใช้มาตรการหลายอย่างเพื่อดำเนินการในส่วนนี้ อาทิ การบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม การห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคล นอกเหนือจากทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย เว้นแต่การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด โดยธรรมจรรยาตามหลักเกณฑ์และจำนวนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด รวมทั้งการป้องกันการทุจริตในเรื่องการรับสินบนที่ครอบคลุมกลุ่มผู้กระทำผิดมากขึ้นกว่าเดิม กล่าวคือ ได้มีการออกกฎหมายห้ามมิให้บุคลใดให้ ขอให้ หรือรับว่า จะให้ทรัพย์สินอื่นใดแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่องค์การระหว่างประเทศ เพื่อจูงใจให้กระทำการ ไม่กระทำการ หรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่ ซึ่งได้กำหนดความผิดครอบคลุมไปถึงนิติบุคคล ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลดังกล่าว หากนิติบุคคลนั้นไม่มีมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสมเพื่อป้องกันการกระทำความผิดนั้น

และสิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน คือการตัดวงจรระบบอุปถัมภ์ พรรคพวก และเครือญาติในทางที่ผิด จึงจะช่วยยก ค่า คะแนน ICRG ได้

อย่างไรก็ตาม การประเมินคะแนน CPI เป็นการประเมิน "ภาพลักษณ์" ของประเทศ ซึ่งสะท้อนถึง "การรับรู้" เกี่ยวกับเรื่องการทุจริตในประเทศนั้น ๆ มาตรการทางกฎหมายดังกล่าวข้างต้นเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคำถามเรื่อง "การคอร์รัปชัน" ที่ ICRG ใช้เป็นเกณฑ์เท่านั้น ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือทุกภาคส่วนในสังคมไทย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ต้องร่วมมือกันทำความเข้าใจและปฏิบัติตามกฎหมาย พร้อมกับการสร้างความโปร่งใสในการดำเนินงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ร่วมกันสร้างวัฒนธรรมสุจริตเห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนอื่น อันจะส่งผลต่อ "ภาพลักษณ์" ของประเทศและช่วยในการยกระดับค่าคะแนน CPI

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ