ดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index : CPI) ตอนที่ 4 แหล่งข้อมูล PERC

จันทร์ ๒๓ มกราคม ๒๐๑๗ ๑๓:๔๒
นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. กล่าวว่า องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International : TI) จะประกาศค่าคะแนน Corruption Perceptions Index (CPI) ของปี 2559 ในวันพุธที่ 25 มกราคม 2560 นี้ ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการให้ค่าคะแนน CPI ที่วัดดัชนีการรับรู้การทุจริตประเทศไทย โดย TI อาศัยข้อมูลจาก 8 แหล่งข้อมูลและในตอนที่ 4 นี้ จะพูดถึงแหล่งข้อมูล PERC

Political and Economic Risk Consultancy, Ltd. หรือ PERC ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1976 มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ฮ่องกง โดย PERC เป็นองค์กรที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจและการเมือง ที่มีความเชี่ยวชาญด้านข้อมูลยุทธศาสตร์ทางธุรกิจ สำหรับการลงทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ ยังมีภารกิจในการสำรวจและเผยแพร่รายงานสภาวะความเสี่ยงของประเทศในเอเชีย ซึ่งให้ความสำคัญไปที่ประเด็นทางสังคมและการเมือง อาทิเช่น การคอร์รัปชัน ความเสี่ยงในการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา คุณภาพแรงงาน จุดแข็งและ จุดด้อยของระบบในประเทศแถบเอเชีย เป็นต้น นอกจากการเป็นที่บริษัทให้คำปรึกษาแล้ว PERC ยังมีสื่อสิ่งพิมพ์ ที่หลากหลาย ได้แก่ Asian Intelligence, Country Risk Monitoring Service และ Corruption Report on Asia (เป็นเอกสาร Asian Intelligence ฉบับพิเศษ) ซึ่งสามารถติดตามได้ทางเว็บไซต์ www.asiarisk.com

แหล่งข้อมูล Political and Economic Risk Consultancy Asian Intelligence หรือ PERC เป็น 1 ใน 8 แหล่งข้อมูลที่องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International : TI) นำข้อมูลไปประเมินเพื่อจัดทำค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) สำหรับประเทศไทย

ค่าคะแนน CPI ของไทยจากแหล่งข้อมูล PERC 4 ครั้งหลังสุด

ปี ๒๕๕5 ๒๕๕6 ๒๕๕7 ๒๕๕8

คะแนน 35 39 35 42

การเผยแพร่ค่าคะแนน CPI ในแต่ละปีนั้น TI จะเปิดเผยคำอธิบายที่มาของข้อมูลที่นำมาจัดทำค่าคะแนน คือ Corruption Perceptions Index : Full Source Description ของแต่ละแหล่งข้อมูลไว้ ทำให้สามารถทราบได้ว่า TI นำข้อมูลใดมาใช้จัดทำค่าคะแนน

ในปี พ.ศ. 2558 ที่ผ่านมา Full Source Description ได้อธิบายที่มาของแหล่งข้อมูล PERC สรุปได้ว่า เป็นการนำข้อมูลจากวารสารรายปักษ์ซึ่งจัดทำเพื่อบริการให้แก่สมาชิกของ PERC โดยวารสารดังกล่าวเป็นการรวบรวมและแปลความหมายของข้อมูลจากการสำรวจความคิดเห็นของบุคคลที่ได้รับรายชื่อจากสมาคมธุรกิจ ผู้แทนที่เข้าร่วมการประชุมต่าง ๆ ในเอเชีย รวมทั้งผู้แทนหอการค้าประเทศต่าง ๆ ซึ่งกลุ่มตัวอย่างในแต่ละประเทศ ประกอบด้วย ผู้บริหารในประเทศผู้ที่มีสัญชาติเป็นคนประเทศนั้น ๆ นักวิชาการ และผู้บริหารชาวต่างชาติ จำนวน 15 ประเทศ ในภูมิภาคเอเชีย และประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ PERC จะใช้วิธีในการสำรวจข้อมูล ได้แก่ การสัมภาษณ์ซึ่งหน้า การสอบถามทางโทรศัพท์ การตอบแบบสอบถามออนไลน์ ตลอดจนการสอบถามทางอีเมล์ เป็นต้น ซึ่งทำการสำรวจระหว่างเดือนมกราคม 2558 ถึงเดือนมีนาคม 2558 และเผยแพร่ข้อมูลในเดือนเมษายน 2558 สำหรับคำถาม ที่นำมาวิเคราะห์เพื่อใช้จัดทำค่าคะแนน คือ "ท่านจะให้คะแนนปัญหาการทุจริตในประเทศที่ท่านกำลังทำงาน อยู่เท่าไหร่" โดยการให้คะแนนตั้งแต่ 0 (ไม่ได้เป็นปัญหา) ถึง 10 (เป็นปัญหาร้ายแรง)

สำหรับวารสารรายปักษ์ซึ่งคาดการณ์ว่า TI นำมาใช้จัดทำค่าคะแนน CPI คือ วารสารAsian Intelligence ฉบับ Corruption Report on Asia ซึ่ง PERC ดำเนินการจัดทำและสำรวจต่อเนื่องมาตลอดหลายปี และมีข้อมูลที่สอดคล้องและสัมพันธ์กับ Full Source Description เช่น กลุ่มตัวอย่าง วิธีการสำรวจ จำนวนประเทศที่สำรวจ คำถามและค่าคะแนนที่ได้จากการสำรวจ ช่วงเวลาที่ดำเนินการสำรวจ เป็นต้น

ในปี พ.ศ. 2558 ที่ผ่านมา จากข้อมูลวารสาร Asian Intelligence ฉบับ Corruption Report in Asia พบว่า ดำเนินการสำรวจกลุ่มเป้าหมายในแต่ละประเทศ ๆ อย่างน้อย 100 ราย รวมทั้งสิ้น 1,648 ราย ในประเด็น 3 คำถาม คือ 1) ท่านจะให้คะแนนปัญหาการทุจริตในประเทศที่ท่านกำลังทำงานอยู่เท่าไหร่ 2) ปัญหาการทุจริตในประเทศของท่านลดลง เท่าเดิม หรือเพิ่มมากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา 3) การคอร์รัปชันในแง่มุมใดหรือ ในเรื่องใดที่ท่านเห็นว่ามีความสำคัญต่อประเทศของท่านมากที่สุด โดย PERC จะดำเนินการรวบรวม วิเคราะห์ และจัดทำเป็นวารสารให้บริการแก่สมาชิก

สรุปได้ว่า คำถามสำคัญของ PERC ที่ใช้วัดระดับความรับรู้ในเรื่องการทุจริตของกลุ่มเป้าหมาย และเป็นข้อมูลที่ TI นำมาใช้จัดทำคะแนนค่า CPI คือ "ท่านจะให้คะแนนปัญหาการทุจริตในประเทศที่ท่านกำลังทำงานอยู่เท่าไหร่" โดยมีช่วงค่าคะแนนตั้งแต่ 0 (ไม่ได้เป็นปัญหา) ถึง 10 (เป็นปัญหาร้ายแรง) และมีช่วงระยะเวลาที่จัดเก็บข้อมูลระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม

แนวทางการยกระดับค่า PERC

แนวทางการยกระดับค่าคะแนน CPI ในส่วนของ PERC จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ในการแก้ไขปัญหาการทุจริตอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง โดยเร่งสำรวจและเสริมสร้างทัศนคติ มุมมองการรับรู้ ของกลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย นักธุรกิจภายในประเทศและนักธุรกิจต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ในช่วงเวลาก่อนการสำรวจและในระหว่างการสำรวจ คือ ระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคมของทุกปี โดยให้หน่วยงาน ของรัฐที่มีหน้าที่กำกับดูแล หรือที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจเอกชน ดำเนินการสำรวจการรับรู้หรือทัศนคติในมุมมองของนักธุรกิจเกี่ยวกับประเด็นปัญหาการทุจริตในประเทศไทย รวมทั้งปัญหาการทุจริตในการดำเนินงานของธุรกิจภาคเอกชนเอง เพื่อเสนอต่อรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหา โดยการจัดทำมาตรการหรือกำหนดแนวทางปฏิบัติ ของรัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐเพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริต รวมทั้งการติดตามและประเมิน ผลการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ภาคเอกชนเกิดความรู้สึกว่ารัฐบาลมีความตั้งใจในการแก้ไขปัญหาการทุจริต อย่างแท้จริงและยั่งยืน และการนำเสนอข้อมูลการดำเนินการของภาครัฐต้องมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ครอบคลุม ทุกกระบวนการ ขั้นตอน และนำเสนอข้อมูลเป็นภาษาอังกฤษเพื่อเป็นการง่ายต่อการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของ นักธุรกิจต่างประเทศด้วย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ