"ขลุ่ยคือ...ชีวิต" อาจารย์ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี
อาจารย์ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี เกิดเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2494 ณ ต.หัวป่า อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี เป็นบุตรคนที่ 2 ของคุณพ่อสุบิน และคุณแม่ตี๋ ศรีกลิ่นดี มีพี่น้องจำนวน 4 คน สมรสกับคุณจุฬาลักษณ์ (เสียชีวิต)มีบุตรด้วยกันสองคนคือ ศศิวรรณ และสมวุฒิ ศรีกลิ่นดี อาจารย์ธนิสร์เดินทางเข้าสู่กรุงเทพมหานคร เพื่อศึกษาต่อที่วิทยาลัยการศึกษาปทุมวัน แต่ศึกษาได้เพียง 3 ปี ก็ลาออกก่อน เพื่อไปสอบเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร เอกฟิสิกส์ เรียนอยู่ประมาณ 1 ปี จึงตัดสินใจลาออกอีกครั้ง เมื่อรู้ว่าทางมหาวิทยาลัยได้เปิดสาขาเอกดนตรี จึงได้สอบเข้าใหม่อีกครั้งที่สถาบันเดิม ในวิชาเอกดนตรี เป็นรุ่นแรก ศึกษาอีก 2 ปี จนสำเร็จการศึกษาด้านดุริยางคศาสตร์ (ปัจจุบันเป็นภาควิชาในคณะศิปกรรมศาสตร์)วุฒิ กศ.บ. หลังจากจบการศึกษาอาจารย์ธนิสร์ เข้าทำงานเป็นอาจารย์สอนหนังสือที่วิทยาลัยครูจันทรเกษมอยู่ประมาณ 10 ปี ในตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาดนตรี พร้อมกับเป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาดนตรีศึกษา ที่ มศว.ประสานมิตร สถาบันที่เคยร่ำเรียนมา อีกทั้งเป็นอาจารย์พิเศษสอนดนตรีที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมกับทำงานดนตรีไปด้วยเช่นเคย จนในที่สุดก็ตัดสินใจลาออกจากการทำหน้าที่อาจารย์สอนดนตรี เพื่อเข้าสู่วงการดนตรีอาชีพอย่างเต็มตัว จนเป็นที่มาของการสร้างตำนานดนตรีร่วมกับวงคาราบาวในที่สุด
ปัจจุบัน อาจารย์ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี ประกอบอาชีพเป็นศิลปินอิสระ มีความถนัดทางด้านดนตรีหลายประเภท อาทิเช่น ขลุ่ย คลาริเน็ต แซ็กโซโฟน ออร์แกน เปียโน กีต้าร์ และเป็นผู้เรียบเรียงเสียงประสานติดอันดับหนึ่งของเมืองไทย อาจารย์ใช้เวลาในการพัฒนาขลุ่ยไทยมาอย่างต่อเนื่องกว่า 30 ปี จวบจนมาถึงวันนี้ ได้มีขลุ่ยไทยที่ชื่อ "ธนิสร์" ไว้หลากหลายรุ่น พร้อมทั้งการวิจัยปรับแต่งคุณภาพเสียงให้สามารถเล่นกับเครื่องดนตรีสากลทั่วโลกได้ โดยอาจารย์ยังมุ่งมั่นเดินหน้าพัฒนาขลุ่ยไทยต่อไปอย่างไม่หยุดยั้งเพื่อเป็นมรดกทางดนตรีให้กับเมืองไทย
ด้วยคุณูปการทางดนตรีที่ อาจารย์ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี มีให้กับสังคมไทยมากมาย ในวันที่ 14 ธันวาคมที่ผ่านมา กระทรวงวัฒนธรรม โดยคณะกรรมการอำนวยการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ ได้ประกาศยกย่อง อาจารย์ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี เป็นศิลปินแห่งชาติประจำปี 2559 สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล) โดยจะเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เพื่อรับพระราชทานเข็มและโล่เชิดชูเกียรติ ในโอกาสต่อไป
ขอบคุณข้อมูลจาก...วิกิพีเดีย , มิติชน และคุณชัยยุทธ์ ลิมลาวัลย์