ผลสำรวจจากแกรนท์ ธอนตัน ชี้ความเชื่อมั่นธุรกิจในไทยยังคงต่ำและกำลังปรับลดเล็กน้อย

อังคาร ๒๔ มกราคม ๒๐๑๗ ๑๕:๒๙
ผลสำรวจฉบับล่าสุดจากแกรนท์ ธอนตัน ซึ่งทำการสำรวจความคิดเห็นของธุรกิจกว่า 2,600 รายจาก 37 กลุ่มเศรษฐกิจทั่วโลกในรายไตรมาส เปิดเผยว่ากลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่และกลุ่มเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีทัศนคติต่อทิศทางธุรกิจในปี 2560 ที่แตกต่างกัน โดยทัศนคติด้านบวกในกลุ่มเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วในเอเชียแปซิฟิกลดลง 8 จุดในไตรมาสที่ 4 ของปี 2559 มาอยู่ที่ร้อยละ 16 ในขณะที่กลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่มีทัศนคติด้านบวกเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 42 เป็นร้อยละ 53 ทางด้านประเทศไทย ทัศนคติด้านบวกลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 18 เป็นร้อยละ 16 ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงเพียงเล็กน้อย ทว่าฐานเดิมนั้นยังอยู่ในระดับที่ต่ำ

รายงานผลสำรวจธุรกิจนานาชาติของแกรนท์ ธอนตัน (International Business Report: IBR) ที่ทำการสำรวจในไตรมาสที่ 4 ของปี 2559 ยังพบว่านักธุรกิจมีทัศนคติด้านบวกลดลงในแทบทุกหัวข้อเช่นกัน อาทิ ความคาดหวังต่อการตั้งราคาขาย (ร้อยละ 12 เป็นร้อยละ 8), ความคาดหวังต่อการส่งออก (ร้อยละ 22 เป็นร้อยละ 8), การวิจัยและพัฒนา (ร้อยละ 34 เป็นร้อยละ 24) และความคาดหวังต่อการจ้างงาน (ร้อยละ 28 เป็นร้อยละ 12) ส่วนการลงทุนในโรงงานหรือเครื่องจักรเพิ่มขึ้น (ร้อยละ 16 เป็นร้อยละ 24) โดยมองว่าปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อดัชนีดังกล่าวได้แก่ ความผันผวนทางเศรษฐกิจ (ร้อยละ 48), การสั่งซื้อหรือผลิตสินค้าที่ลดจำนวนลง (ร้อยละ 42) และต้นทุนทางด้านพลังงาน (ร้อยละ 40) ซึ่งอาจไม่เป็นที่น่าแปลกใจนัก

แอนดรูว์ แม็คบีน หุ้นส่วนและผู้เชี่ยวชาญในเรื่องประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนของแกรนท์ ธอนตันในประเทศไทย กล่าวว่า "กลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และพัฒนาแล้วในเอเชียแปซิฟิกมีทัศนคติต่อการดำเนินธุรกิจในทิศทางที่ตรงกันข้าม โดยสาเหตุบางส่วนอาจเกิดจากแนวโน้มในการยกเลิกความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership: TPP) ที่กลุ่มเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วอย่างเช่น ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เป็นผู้ได้รับผลประโยชน์สูงสุด อย่างไรก็ตาม จีนยังอยู่ระหว่างการพัฒนาความตกลงทางธุรกิจในระดับภูมิภาคซึ่งอาจชดเชยช่องว่างบางส่วนได้ อย่างที่เราได้เห็นเมื่อปี 2558 ที่มีความตกลงเรื่องประชาคมอาเซียน ดังนั้นการที่กลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่มีทัศนคติด้านบวกในระดับสูง ย่อมสะท้อนให้เห็นถึงสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้น หากการร่วมมือทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างดี"

"ในประเทศไทย ผลการสำรวจ IBR ได้ระบุว่าปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบให้ทัศนคติด้านบวกลดลงคือความผันผวนทางเศรษฐกิจเมื่อปีที่ผ่านมา และยังคงเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความวิตกกังวลสืบเนื่องต่อไป โดยเราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงทั่วโลกมากมาย อาทิ การที่อังกฤษถอนตัวจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (Brexit) และการเลือกตั้งประธานาธิบดีในสหรัฐฯ รวมถึงนโยบายทางการค้าของทีมบริหารชุดใหม่ที่ยังไม่ชัดเจนนัก ซึ่งอาจส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนต้องชะลอตัวลง ดังนั้นในระยะสั้น รัฐบาลจำเป็นต้องหาทางเสริมสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุนในกลุ่มภาคเอกชนและนักลงทุนจากต่างชาติ ทั้งยังจำเป็นต้องมีแผนเศรษฐกิจที่พร้อมต่อการป้องกันความเสี่ยงที่เป็นไปได้ว่าจะเกิดขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ซึ่งอาจยังคงส่งผลกระทบในตลอดทั้งปีนี้อีกด้วย เป็นต้นว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอาจมีแนวโน้มในการกระจายผลประโยชน์สู่สาธารณชนในระดับต่ำในช่วงแรก แต่จะสามารถสร้างผลประโยชน์อย่างมากในระยะยาว เมื่อการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเหล่านั้นสำเร็จแล้ว"

ผลสำรวจฯ ยังเปิดเผยว่าทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีภาพรวมของปัจจัยบ่งชี้สำคัญหลายประการที่ระบุถึงความแข็งแกร่งในการก้าวเข้าสู่ปี 2560 โดยสัดส่วนของนักธุรกิจที่คาดหวังความสามารถในการทำกำไรที่สูงขึ้นภายใน 12 เดือนเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 34 ซึ่งเป็นตัวเลขสูงที่สุดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ สิ่งที่เหล่านักธุรกิจในเอเชียแปซิฟิกมีแนวโน้มในการดำเนินการสูงที่สุดในช่วง 12 เดือนข้างหน้าเพื่อช่วยให้ธุรกิจเติบโต คือการกระตุ้นหรือสร้างแรงจูงใจเพื่อพัฒนาความสามารถในการผลิต ขณะที่นักธุรกิจในไทยกลับมองว่า การพัฒนาหรือเปิดตัวสินค้าและบริการใหม่ๆ (ร้อยละ 42) และพัฒนาประสิทธิภาพของทีมงานฝ่ายขาย (ร้อยละ 40) เป็นสิ่งที่อยากดำเนินการมากที่สุด

แอนดรูว์กล่าวเสริมว่า "พฤติกรรมของผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาในยุคดิจิตอล โดยผู้บริโภคในกลุ่ม Gen Z และกลุ่มมิลเลนเนียล ที่มีความเข้าใจเทคโนโลยีเป็นพิเศษ และรับข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นนักธุรกิจจำต้องคิดค้นสินค้าหรือบริการที่สร้างความตื่นเต้นให้แก่ตลาดและส่งมอบประสบการณ์ที่ดีเยี่ยมแก่ลูกค้าของตน นอกจากนี้ การที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาประชากรสูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น (Aging population) เราจะเห็นว่าหลายธุรกิจมีการเอาระบบอัตโนมัติ (Automation) และเทคโนโลยี มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการ ซึ่งจะส่งผลให้กระบวนการขายมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งยังช่วยแบกรับภาระที่อาจเกิดจากการหดตัวลงของประชากรวัยทำงานในอนาคต ผสมกับการใช้บริการ Outsource ซึ่งเป็นที่ยอมรับในหลายอุตสาหกรรมในปัจจุบัน เพราะช่วยให้พวกเขาสามารถมุ่งเน้นที่กิจกรรมหลักขององค์กรได้อย่างเต็มที่"

"ยังคงมีความท้าทายมากมายรออยู่ในปี 2560 อย่างเช่น ผลกระทบจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางของสหรัฐฯ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราควรจะยกเลิกแผนการขยายธุรกิจที่เตรียมไว้ ในทางกลับกัน เราควรจะมุ่งเน้นในการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ การสรรหาพนักงานที่มีทักษะ หรือการวิจัยเพื่อหาตลาดและบริการใหม่ๆ เพราะธุรกิจที่ตื่นตัวเสมอพร้อมด้วยวิสัยทัศน์ในระยะยาวและให้ความใส่ใจการจัดการ ย่อมได้ผลตอบแทนที่ดี" แอนดรูว์กล่าวสรุป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๑:๐๐ วว. จับมือจังหวัดสระบุรี/อบต.ตาลเดี่ยว ขับเคลื่อนลดก๊าซเรือนกระจก นำ วทน. พัฒนาศูนย์เรียนรู้เทคโนโลยีจัดการขยะชุมชน
๑๑:๐๐ วว.จับมือคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ส่งเสริมวิจัยนวัตกรรม พัฒนาบัณฑิตสมรรถนะสูง ด้วยวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี
๑๑:๓๗ เปลี่ยนธุรกิจคุณให้โตคูณร้อย กับหลักสูตร CMF เปิดรับสมัครรุ่นที่ 21 แล้ววันนี้ !!
๑๑:๒๖ GFC เสิร์ฟข่าวดีรับศักราชใหม่ปี 68 ดีเดย์ให้บริการคลินิกรักษาผู้มีบุตรยาก GFC Ubon เต็มสูบ
๑๑:๐๐ โรงพยาบาลลานนา จัดอบรม ชาวลานนาร่วมใจ ต้านโรคภัยจากภาวะอ้วนลงพุง
๑๑:๑๕ ค้นหา รักแท้ ในมุมมองใหม่กับศูนย์ฯ สิริกิติ์ ในกิจกรรม ธรรมะในสวน ณ สวนเบญจกิติ 1 กุมภาพันธ์ 2568 นี้
๑๑:๑๐ เชฟรอน (ไทย) รุกเจาะตลาดน้ำมันเครื่อง เพื่ออุตสาหกรรมเครื่องจักรกล
๑๑:๐๗ RML เปิดศักราชปี'68 มาแรง! หุ้นกู้มีหลักประกันขายหมดเกลี้ยง 100%
๑๑:๐๐ สมาคมดินโลก ร่วมกับ 4 หน่วยงาน ลงนามความร่วมมือเสริมสร้างการจัดการดินเพื่อเกษตรยั่งยืน
๑๐:๐๐ ศูนย์การค้าเครือเอ็ม บี เค ฉลองเทศกาลตรุษจีนสุดยิ่งใหญ่ CHINESE NEW YEAR 2025