World Economic Forum (WEF) หรือสภาเศรษฐกิจโลก ก่อตั้งขึ้นในปี 1971 โดย คลาอัสมาร์ติน สเควป (Klaus Martin Schwab) มีสำนักงานใหญ่ในกรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ WEF เป็นองค์กร ที่ไม่แสวงหาผลกำไร โดยจะมุ่งเน้นความร่วมมือระหว่างประเทศของผู้นำภาครัฐและเอกชน ทั้งทางด้านการเมือง ภาคธุรกิจ และภาคสังคม เพื่อร่วมกันพิจารณาประเด็นการพัฒนาของโลก ภูมิภาค และภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งมีการจัดประชุมทุกปีที่เมืองดาวอส (Davos) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
ในแต่ละปี WEF ได้เผยแพร่รายงานวิจัยอย่างต่อเนื่องในหัวข้อต่างๆ เป็นจำนวนมาก เช่น GlobalCompetitiveness Report, The Inclusive Growth and Development Report, Global Risk Report, Global Gender Gap Report เป็นต้น แต่องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International :TI) เลือกที่จะนำรายงานวิจัยของสภาเศรษฐกิจโลกที่ชื่อว่า "รายงานการวัดอันดับความสามารถในการแข่งขัน (Global Competitiveness Report: GCR)" มาเพื่อใช้ในการคำนวณดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI)
รายงานการวัดอันดับความสามารถในการแข่งขัน (Global Competitiveness Report :GCR)นำเสนอการวัดอันดับความสามารถทางการแข่งขันผ่านตัวชี้วัดที่เรียกว่า Global Competitiveness Index (GCI) ซึ่ง GCI ได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลก เนื่องจากสามารถใช้เป็นเครื่องมือวิเคราะห์ความสามารถและศักยภาพ ในการแข่งขันของแต่ละประเทศได้ นอกจากนี้ ยังสามารถชี้ให้เห็นถึง จุดแข็ง จุดอ่อน ของแต่ละประเทศ ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์เป็นข้อมูลประกอบในการกำหนดแนวทางการพัฒนาทิศทางของนโยบายในภาคส่วนต่างๆ เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันได้
การจัดทำรายงานการวัดอันดับความสามารถในการแข่งขัน ดำเนินการรวบรวมข้อมูลด้านต่างๆผ่าน "แบบสอบถามความคิดเห็นผู้บริหาร" (Executive Opinion Survey : EOS) ซึ่งถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อสำรวจความพึงพอใจของนักธุรกิจต่างประเทศ และนักธุรกิจภายในประเทศว่า การประกอบธุรกิจในประเทศเหล่านั้น มีความสะดวกระดับใด มีปัจจัยใดบ้างที่เป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจ หลังจากนั้น แบบสอบถามจะถูกนำไปวิเคราะห์ เพื่อจัดทำดัชนีความสามารถทางการแข่งขัน (GCI) ของแต่ละประเทศและรวบรวมไว้ในรายงานการวัดอันดับความสามารถในการแข่งขัน (GCR)
ค่าคะแนน CPI ของไทยจากแหล่งข้อมูล WEF 4 ครั้งหลังสุด
ปี ๒๕๕5 ๒๕๕6 ๒๕๕7 ๒๕๕8
คะแนน 35 35 39 43
องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (TI) ได้เล็งเห็นความสำคัญของแบบสอบถามความคิดเห็นผู้บริหารที่รวบรวมโดยสภาเศรษฐกิจโลก เนื่องจากมีข้อคำถามเกี่ยวกับ "ประเด็นการทุจริตคอร์รัปชัน" ซึ่งแสดงถึงสถานการณ์การทุจริตคอร์รัปชันในแต่ละประเทศ ดังนั้น ค่าคะแนน CPI ของประเทศไทยในแหล่งข้อมูลนี้ จึงมีการนำข้อมูลที่ปรากฏในแบบสอบถามความคิดเห็นผู้บริหารมาประกอบในการคิดค่าคะแนน CPI ด้วย
สำหรับคำถามเกี่ยวกับประเด็นคอร์รัปชัน ในแบบสอบถามความคิดเห็นผู้บริหาร ซึ่งองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ นำคำตอบที่ได้จากหัวข้อเหล่านี้ มาเพื่อคิดคำนวณค่าคะแนน CPI มีดังนี้
1. หัวข้อ Irregular payment and bribes ถามว่า "ในประเทศของคุณ เป็นเรื่องปกติเพียงใดที่บริษัทจ่ายเงินพิเศษโดยไม่มีเอกสารอ้างอิง หรือจ่ายสินบนที่เชื่อมโยงกับเรื่องต่อไปนี้ 1) การนำเข้า – ส่งออก 2) สาธารณูปโภค (เช่น โทรศัพท์และไฟฟ้า) 3) การชำระภาษี 4) การทำสัญญาและการออกใบอนุญาต และ 5) ได้รับการตัดสินใจที่เอื้อประโยชน์จากกระบวนการยุติธรรม"
2. หัวข้อ Diversion of public funds ถามว่า "ในประเทศของคุณ การจ่ายโอนเงินทุนของรัฐไปยังบริษัท บุคคลธรรมดาหรือกลุ่มบุคคลที่เป็นผลมาจากการฉ้อราษฎร์บังหลวงนั้น เป็นเรื่องปกติเพียงใด"
3. หัวข้อ Public trust in politicians ถามว่า "ในประเทศของคุณ คุณจะประเมินจริยธรรมของบริษัท (จริยธรรมในการติดต่อกับเจ้าหน้าที่รัฐ นักการเมือง และธุรกิจอื่น ๆ) อย่างไร"
ในการศึกษาดัชนีการรับรู้การทุจริตสำหรับแหล่งข้อมูลนี้ พบว่า มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยคือ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CHULALONGKORN Business School: CBS) ซึ่งเป็นเครือข่ายพันธมิตร (Partner Institute) ทำหน้าที่จัดเก็บแบบสอบถามความคิดเห็นผู้บริหาร (EOS) และ CBS ได้ให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการของสำนักงาน ป.ป.ช. เป็นอย่างดี
แนวทางการยกระดับค่าคะแนน WEF
กลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ตอบแบบสอบถามของแหล่งข้อมูลนี้ คือ นักธุรกิจหรือนักลงทุนทั้งของประเทศไทยและต่างประเทศซึ่งประกอบธุรกิจในประเทศไทย ดังนั้น การยกระดับค่าคะแนน CPI ของแหล่งข้อมูลนี้ จึงจำเป็นต้อง สร้างความรู้ความเข้าใจให้กับนักธุรกิจที่ประกอบกิจการอยู่ในประเทศไทย ซึ่งการจัดให้มีฐานข้อมูลของภาครัฐที่ดี และสามารถสื่อสารให้กับนักธุรกิจต่างชาติ ย่อมส่งผลต่อภาพลักษณ์ของการบริหารงานภาครัฐที่โปร่งใส เป็นธรรม และตรวจสอบได้ รวมทั้งควรให้ความสำคัญกับข้อร้องเรียนของนักธุรกิจที่เกิดจากการให้บริการภาครัฐหรือการเรียกรับสินบนจากเจ้าหน้าที่รัฐ และพยายามที่จะแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนให้สำเร็จลุล่วงไปได้ เพื่อแสดงความตั้งใจจริง ของหน่วยงานภาครัฐในการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชันดังกล่าวด้วย