กรุงเทพฯ--24 พ.ค.--กทม.
ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังประชุมพิจารณาแก้ไขปัญหาป้ายโฆษณา กรณีป้ายไม่มั่นคงแข็งแรง กรณีป้ายก่อสร้างฝ่าฝืนกฎหมายควบคุมอาคาร และป้ายที่บดบังทัศนียภาพ ที่ห้องประชุมเจ้าพระยา ศาลาว่าการกทม.เมื่อวันที่ 20 พ.ค.48 ว่า จากการหารือร่วมกับเจ้าของโครงป้ายที่กทม.สำรวจพบว่าไม่มั่นคงแข็งแรง เจ้าของป้ายทั่วไป สมาคมผู้ผลิตป้ายและโฆษณา สมาคมธุรกิจโฆษณา มีข้อสรุปใน 3 ประเด็น คือ ป้ายที่ไม่มั่นคงแข็งแรง ที่ต้องแก้ไขทันที จำนวน 138 ป้าย โดยให้สมาคมผู้ผลิตป้ายและโฆษณาจัดทำแผนการแก้ไขแล้วรายงานกลับภายในวันพุธที่ 25 พ.ค.48 โดยแบ่งการดำเนินงานเป็น 3 กลุ่ม คือ ประเภทป้ายที่ไม่มั่นคงแข็งแรงสามารถหาเจ้าของป้ายได้ และมีวิศวกรรับรอง จะให้สำนักการโยธาหรือสำนักงานเขตเข้าไปตรวจสอบว่ามีความปลอดภัยหรือไม่ ส่วนกลุ่มที่มีเจ้าของแน่นอนแต่ไม่มีวิศกรรับรอง หากตรวจพบว่าไม่มั่นคงแข็งแรง ก็จะทำการรื้อถอน โดยสำนักงานเขตและสมาคมผู้ผลิตป้ายและโฆษณาเป็นผู้ทำการรื้อถอน ส่วนกลุ่มที่ไม่มีเจ้าของหรือสืบหาเจ้าของไม่ได้ แต่มีสภาพไม่มั่นคงแข็งแรง จะรื้อถอนทันที โดยทุกกลุ่มนี้จะทำการดำเนินการให้เสร็จภายใน 30 วัน นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
อย่างไรก็ดี หากเจ้าของป้ายไม่ดำเนินการปรับปรุง หรือรื้อถอน สำนักการโยธาหรือสำนักงานเขตจะเข้าดำเนินการตามกฎหมายโดยเร็วที่สุด หากเห็นว่าป้ายไหนไม่แข็งแรงจะรื้อถอนโดยทันที โดยกำหนดเวลารื้อถอนให้แน่นอนและรวดเร็ว ซึ่งทั้งหมดได้รับการยืนยันจากสมาคมฯ และเจ้าของโครงป้ายว่าจะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่
ดร.สามารถ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการสำรวจพบป้ายที่ไม่ถูกต้องตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคารที่เรียกว่าป้ายผิดกฎหมาย มีอยู่ถึง 615 ป้ายทั่วกรุงเทพฯ จึงได้ให้สมาคมฯ จัดทำแผนแก้ไขมาเสนอในสัปดาห์หน้าโดยให้ระบุถึงวิธีการแก้ไข ระยะเวลาแก้ไขสิ้นสุด ส่วนเรื่องป้ายที่มีความแข็งแรง แม้จะถูกกฎหมายแต่ติดตั้งบดบังทัศนียภาพ ก็ได้ขอให้จัดทำแผนแก้ไขให้เสร็จสิ้นภายในกลางเดือนมิ.ย.48 นี้เช่นกัน
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาในปี 2547 จนถึงต้นปี 2548 มีการรื้อถอนป้ายไม่มั่นคงแข็งแรง โดยเจ้าของดำเนินการเอง จำนวน 16 ป้าย และกำลังรื้อถอนอีก 5 ป้าย ในด้านของสมาคมฯ ประสานทางเจ้าของป้ายได้ดำเนินการรื้อถอนไปแล้ว 2 ป้าย และกำลังรื้อถอนอีก 6 ป้าย ซึ่งการรื้อถอนใช้เวลามากที่สุด 20 วัน ส่วนใหญ่แล้วป้ายที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายนั้นจะผิดที่ระยะร่นจากถนนสายหลัก เส้นทางรถไฟหรือแม่น้ำเจ้าพระยา--จบ--