นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงานกล่าวภายหลังเป็นประธานเปิด "โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการความร่วมมือแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับเพื่อมุ่งสู่การถอดสินค้าไทยออกจากบัญชีรายชื่อที่ถูกกล่าวหา" ณ โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค กรุงเทพฯ วันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๖๐ ว่า การถูกขึ้นบัญชีรายชื่อสินค้าไทยของกระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกา
ที่มีเหตุผลให้เชื่อว่าผลิตโดยการใช้แรงงานเด็กหรือแรงงานบังคับซึ่งประเทศไทยถูกขึ้นบัญชีรายชื่อสินค้าอยู่๕ รายการ ได้แก่ อ้อย เครื่องนุ่งห่ม กุ้ง ปลา และสื่อลามก ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๕๒ ส่งผลต่อภาพลักษณ์และอาจเชื่อมโยงเป็นประเด็นอุปสรรคทางการค้า การส่งออกที่มีมูลค่าสำคัญของประเทศไทย พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าวได้กำหนดให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานเป็นหนึ่งในวาระปฏิรูปแรงงาน โดยวางระบบการแก้ไขปัญหาอย่างครบวงจรเพื่อไปสู่เป้าหมายหลัก คือ ปัญหาแรงงานบังคับและปัญหาการค้ามนุษย์ต้องหมดไปจากประเทศไทย ซึ่งกระทรวงแรงงาน โดย กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็กอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมายและการใช้แรงงานบังคับอย่างต่อเนื่อง ทั้งในเรื่องของการตจรวจบังคับใช้กฎหมาย การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของแรงงานเด็กให้มีโทษสูงขึ้นเพื่อป้องปรามการกระทำผิด ตลอดจนร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานสถิติแห่งชาติ องค์การแรงงานระหว่างประเทศในการสำรวจข้อมูลแรงงานเด็กเพื่อให้การดำเนินการในการคุ้มครองแรงงานเด็กเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น การดำเนินการในการเสนอขอถอดสินค้าออกจากบัญชีรายชื่อสินค้าที่มีเหตุผลเชื่อได้ว่าผลิตจากการใช้แรงงานเด็ก ไม่สามารถดำเนินการได้โดยภาครัฐแต่เพียงฝ่ายเดียว ต้องอาศัยความร่วมมือของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ในการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงาน และต้องเร่งดำเนินการให้บรรลุผลเป็นที่ประจักษ์สามารถนำไปสู่การถอดสินค้าออกจากบัญชีรายชื่อสินค้าดังกล่าว ซึ่งไม่ใช่เพียงเพื่อการค้าการส่งออกสินค้าเท่านั้น แต่เกี่ยวเนื่องไปถึงภาพลักษณ์ของประเทศไทยในเรื่องการบริหารจัดการ เรื่องการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ
อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมวว่า การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการฯในวันนี้ กสร.ได้เชิญหน่วยงานภาครัฐที่เป็นภาคี ภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง สถานประกอบกิจการ ตลอดจนสายโซ่การผลิตประเภทสินค้าที่เกี่ยวข้อง รวม ๑๐๐ คน เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจและร่วมมือกัน การดำเนินงานอย่างจริงจังในการป้องกันและแก้ไขการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกิจการที่เกี่ยวข้องกับสินค้าไทยที่ถูกระบุในบัญชีรายชื่อสินค้าไทยของกระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกา ที่มีเหตุผลให้เชื่อว่าผลิตโดยการใช้แรงงานเด็กหรือแรงงานบังคับ ซึ่งความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในวันนี้ ไม่เพียงแต่จะเป็นประโยชน์ในทางการค้า การส่งออกเท่านั้น แต่ยังส่งผลถึงภาพลักษณ์ของประเทศในสายตาชาวโลกด้วย