นักวิชาการและภาคประชาชนหวั่นคำสั่ง คสช.76/2559 กระทบการปฏิรูปสื่อปฏิรูปคลื่นความถี่

พฤหัส ๒๖ มกราคม ๒๐๑๗ ๑๖:๒๒
เครือข่ายนักวิชาการและภาคประชาชน ได้ออกแถลงการณ์พร้อมยื่นหนังสือถึง นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ต่อกรณีการออกคำสั่งการขยายระยะเวลาการคืนคลื่นความถี่ในกิจการการกระจายเสียง มีรายละเอียด ดังนี้

แถลงการณ์เครือข่ายนักวิชาการและภาคประชาชน

ต่อกรณีการออกคำสั่งการขยายระยะเวลาการคืนคลื่นความถี่ในกิจการการกระจายเสียง

ในแถลงการณ์ ความว่า จากกระการปฏิรูปสื่อในประเทศไทยหลังเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เมื่อปี พ.ศ. 2535 และการเกิดขึ้นของมาตรา 40 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 จนนำมาสู่การเกิดขึ้นขององค์อิสระในการจัดสรรคลื่นความถี่ คือ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กสทช. ทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ โดยแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาความจำเป็นในการใช้คลื่นความถี่ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์เพื่อให้เป็นไปตามแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ พ.ศ. 2555 และแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2555 - 2559) โดยมีมติให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ ซึ่งใช้คลื่นความถี่ด้านกิจการกระจายเสียงอยู่ไม่น้อยกว่า 500 คลื่นความถี่นั้น คืนคลื่นความถี่วิทยุภายในเดือนเมษายน พ.ศ. 2560 ตามกำหนดระยะเวลาสูงสุดในแผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่ดังกล่าว

กระทั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งที่ 76/2559 (ลงวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ.2559) เรื่อง มาตรการส่งเสริมการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ ข้อ 7 ให้ กสทช. หรือสำนักงาน กสทช. ดำเนินการเรียกคืนคลื่นความถี่ เพื่อนำไปจัดสรรใหม่หรือปรับปรุงการใช้คลื่นความถี่ตามแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ (พ.ศ. 2555) เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาห้าปี นับแต่วันครบกำหนดแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ดังกล่าว ทั้งนี้ ให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ ที่ประกอบกิจการกระจายเสียงตามพระราชบัญญัติ การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 และได้รับความเห็นชอบให้ถือครอง คลื่นความถี่ตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 ยังคงมีสิทธิในการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง และการถือครองคลื่นความถี่ดังกล่าวได้ตามขอบเขตและสิทธิเดิม ยังผลให้หน่วยงานรัฐ สามารถถือครองคลื่นวิทยุได้ โดยที่ไม่ต้องคืนคลื่นมาเพื่อจัดสรรใหม่ และนอกจาก กสทช. ไม่สามารถเรียกคืนคลื่นถี่มาจัดสรรใหม่ได้ตามแผนแม่บทที่วางไว้ ทางกองทัพเองยังเสี่ยงต่อการถูกกล่าวหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน เนื่องจากกองทัพเองเป็นหน่วยงานที่ถือครองคลื่นความถี่อยู่จำนวนไม่น้อยด้วย

ในการเสวนาสาธารณะ หัวข้อ "19 ปี ปฏิ-Loop สื่อวิทยุ-โทรทัศน์ไทย...ไปต่ออย่างไร" ที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันอังคารที่ 27 เดือนธันวาคม พ.ศ.2559 โดยภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โครงการสื่อสันติภาพ สถานีวิทยุแห่งจุฬาฯ และศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาฯ โดยมีผู้เข้าร่วมการเสวนาฯ ประกอบด้วยนักวิชาการ สื่อมวลชน สื่อชุมชน สื่อท้องถิ่น นักศึกษา และผู้สนใจ ล้วนมีความห่วงใยต่อกระบวนการปฏิรูปประเทศ โดยเฉพาะวาระการปฏิรูปสื่อ ภายใต้การใช้อำนาจผ่านคำสั่ง คสช. ในลักษณะนี้ ผู้เข้าร่วมการเสวนาจึงมีฉันทามติร่วมกันว่า คำสั่ง คสช. ที่ 76/2559 ส่งผลให้การปฏิรูปสื่อในประเทศไทย "ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง" และมีข้อเรียกร้องต่อ กสทช. ดังนี้

๑. ให้เปิดเผยข้อมูลผลการสำรวจและพิเคราะห์เหตุแห่งความจำเป็นในการถือครองคลื่นความถี่ทั้งหมด ของคณะอนุกรรมการพิจารณาความจำเป็นการใช้คลื่นความถี่ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ต่อสาธารณะ

๒. ให้ กสทช. ชุดนี้ เร่งจัดทำ "แผนยุทธศาสตร์ 5 ปีของการจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่" โดยเฉพาะคลื่นความถี่วิทยุกระจายเสียง ให้ครอบคลุมสำหรับผู้ประกอบการทุกประเภทกิจการ ให้แล้วเสร็จก่อนหมดวาระในเดือนตุลาคม 2560 โดยนำ "แนวทางการแบ่งสัดส่วนการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการกระจายเสียง" จากการดำเนินงานของ คณะทำงานพิจารณาแบ่งสัดส่วนการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ภายใต้คณะอนุกรรมการพิจารณาความจำเป็นการใช้คลื่นความถี่ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์มาร่วมเป็นสาระส่วนหนึ่งด้วย

๓. เมื่อหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐ ได้โอกาสในการถือครองคลื่นความถี่วิทยุกระจายเสียงตามขอบเขตและสิทธิเดิมตามคำสั่ง คสช. ที่ 76/2559 ขอให้หน่วยงานดังกล่าว แจ้งผลการประกอบกิจการ ตลอดจนผลประโยชน์ที่ได้รับต่อสาธารณะทุกปีตลอด 5 ปี

๔. ขณะที่ผู้ถือใบอนุญาตทดลองประกอบกิจการกระจายเสียงจำเป็นต้องเสียค่าธรรมเนียมใบอนุญาตเป็นประจำทุกปี ขอเรียกร้องให้หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐ ซึ่งดำเนินการตามขอบเขตและสิทธิเดิม จ่ายค่าธรรมเนียมให้กับรัฐตามความเหมาะสม เพื่อมิให้รัฐเสียประโยชน์จากการใช้คลื่นความถีวิทยุกระจายเสียง

ทางเครือข่ายภาคประชาชนที่ติดตามการปฏิรูปสื่อจึงมีข้อเสนอต่อ รัฐบาล และ กสทช. ดังนี้

1. ให้ทบทวนและยกเลิก ข้อ 7 ของคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 76/2559 ที่ขยายระยะเวลาการคืนคลื่นความถี่วิทยุไปอีก 5 ปี เพราะมาตรการดังกล่าวไม่ได้เป็นการส่งเสริมการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะตามที่ คสช. ประกาศไว้จริง ซ้ำยังทำให้ไม่สามารถพัฒนากิจการการกระจายเสียงและจัดสรรคลื่นความถี่ได้อย่างเป็นธรรมตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version