นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า อุตสาหกรรมแฟชั่นถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีบทบาทสำคัญและสามารถสร้างเม็ดเงินได้อย่างมหาศาล ซึ่งจะเห็นได้จากตัวเลขการส่งออกของอุตสาหกรรมที่มีมูลค่ารวมกว่า 7 แสนล้านบาท และยังเป็นอุตสาหกรรมที่สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศได้ถึงประมาณ 10 % จากรายได้ทั้งหมด โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมานั้นสินค้าแฟชั่นไทยถือได้ว่ามีการตอบรับที่ดีอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ AEC เนื่องด้วยจุดแข็งของภาพลักษณ์สินค้าที่โดดเด่นรวมถึงเรื่องทักษะฝีมือและคุณภาพที่เป็นที่ประจักษ์ไปทั่วโลก ซึ่งสิ่งเหล่านี้นับเป็นปัจจัยและส่วนสนับสนุนที่สำคัญที่จะทำให้อุตสาหกรรมแฟชั่นของไทยสามารถแข่งขันกับประเทศชั้นนำได้ทั้งยังช่วยเพิ่มช่องทางการค้าทั้งในและต่างประเทศ และยังเป็นเสมือนการปูทางให้ผลิตภัณฑ์แฟชั่นภายใต้ตราสินค้าไทยได้เป็นที่ยอมรับและก้าวสู่ภาวะความเป็นผู้นำได้ในที่สุด
นายกอบชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ว่าทักษะฝีมือของบุคลากรในแวดวงอุตสาหกรรมแฟชั่นของไทยจะเป็นที่ยอมรับและอยู่ในเกณฑ์ที่ดี แต่ก็ยังมีความจำเป็นต้องสร้างและพัฒนาให้เกิดขึ้นทั้งในระดับปริมาณและคุณภาพอย่างต่อเนื่องอีกมาก เนื่องจากผู้บริโภคในยุคใหม่มีความต้องการอย่างไร้ขีดจำกัดและมีพฤติกรรมการใช้ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยการส่งเสริมและพัฒนาจะช่วยให้เกิดทั้งผู้สร้าง ผู้คิดค้น การประดิษฐ์สิ่งใหม่ๆ ไม่ว่าจะด้วยกระบวนการวิเคราะห์ วิจัย การพัฒนาด้านวัสดุ กรรมวิธีการผลิต รวมถึงรูปแบบของผลิตภัณฑ์ให้มีลักษณะที่สวยงาม ตลอดจนสามารถสนองความต้องการและสร้างความพึงพอใจให้กลุ่มผู้บริโภคได้สูงสุด และเพื่อให้เกิดการตอบโจทย์การสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) จึงได้จัดตั้ง "กิจกรรมสร้างนักออกแบบผลิตภัณฑ์" ภายใต้ "โครงการศูนย์ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ Thailand Industrial Design Center: Thai iDC โดยดำเนินการด้วยแนวคิดที่สำคัญคือการยกระดับและพัฒนาศักยภาพของนักออกแบบไทย พร้อมทั้งสร้างศูนย์กลางที่จะเชื่อมโยงนักออกแบบกับภาคอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่ง กสอ.ได้ร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรหลัก คือ บริษัทกันตนา กรุ๊ป มหาวิยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์มาร่วมส่งเสริมศักยภาพและขีดความสามารถของนักออกแบบไทยให้พร้อมกับการแข่งขันในระดับสากล ทั้งนี้ ได้ตั้งเป้าหมายและผลลัพธ์ในการดำเนินงานสูงสุดคือ การยกระดับและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แตะระดับหลักล้านล้านบาท พร้อมทั้งผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการออกแบบของอาเซียนภายในระยะเวลา 5 ปี ซึ่งมั่นใจว่าก้าวสำคัญนี้ไม่เกินความสามารถของผู้ประกอบการไทยอย่างแน่นอน
สำหรับกิจกรรมสำคัญภายใต้ "โครงการศูนย์ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์" Thailand Industrial Design Center: Thai iDC นั้น ประกอบด้วย 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่
1. กิจกรรมเสริมสร้างศักยภาพนักออกแบบผลิตภัณฑ์สู่สากลในรูปแบบ Academy โดยสร้างโอกาสให้นักออกแบบที่มีประสบการณ์ ได้พัฒนาศักยภาพและยกระดับให้เป็นที่ยอมรับสู่ระดับสากล ดำเนินงานด้วยกิจกรรม Workshop แลกเปลี่ยนประสบการณ์ เสริมสร้างแรงบันดาลใจเพื่อขับเคลื่อนพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์ แล้วนำไปประยุกต์ให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับสถานการณ์ ทันกระแสสังคม รวมถึงการปรับทัศนคติ/ความคิดให้มีความเป็นนักออกแบบควบคู่กับการเป็นนักธุรกิจไปพร้อม ๆ กัน ทั้งนี้ องค์ความรู้จาก Academy จะเป็นต้นแบบตัวอย่างของผู้นำเชิงสร้างสรรค์ พร้อมทั้งเป็นสื่อกลางเพื่อเผยแพร่แนวความคิด ประสบการณ์ และผลงาน สู่สาธารณชนในวงกว้าง จำนวน 40 คน โดยมี บริษัท กันตนา กรุ๊ป เป็นที่ปรึกษา
2. กิจกรรมสร้างเครือข่ายและฐานข้อมูลนักออกแบบผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างนักออกแบบผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ เข้าสู่ความเป็นมืออาชีพ และสร้างกลุ่มนักออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีศักยภาพ จำนวน 1 เครือข่าย ไม่น้อยกว่า 40 คนโดยส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มนักออกแบบ มีแหล่งข้อมูลสนับสนุนเพื่อเตรียมตัวสู่ความเป็นนักออกแบบมืออาชีพ จัดทำฐานข้อมูล เว็บไซต์ designernetwork.com โดยมีข้อมูลแนวโน้มการออกแบบผลิตภัณฑ์ในแต่ละสาขาของอุตสาหกรรมแฟชั่น ข้อมูลผู้เชี่ยวชาญ ประวัติ Folio ผลงานที่ผ่านมาของนักออกแบบ เพื่อให้ผู้ที่สนใจหรือต้องการหาบุคลากรมาช่วยออกแบบพัฒนาสินค้าสามารถติดต่อได้โดยตรง ซึ่งข้อมูลทั้งหมดนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการให้บริการแก่นักออกแบบและผู้ประกอบการในอนาคต โดยมี ดร.อโนทัย ชลชาติภิญโญ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นที่ปรึกษา
3. กิจกรรมเชื่อมโยงนักออกแบบผลิตภัณฑ์กับโรงงานอุตสาหกรรม โดยจับคู่เชื่อมโยงนักออกแบบผลิตภัณฑ์ ให้สามารถทำงานร่วมกับโรงงานอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการของตลาด รวมทั้งความเป็นไปได้ในการผลิตในระบบอุตสาหกรรม มีเป้าหมายให้โรงงานอุตสาหกรรมปรับแนวคิดจาก OEM เป็น ODM มากขึ้นและเป็นการสร้างโอกาสให้กับนักออกแบบที่มีแนวคิดเชิงสร้างสรรค์ ได้นำเสนอผลงานสู่อุตสาหกรรม ในภาคการผลิต พร้อมทั้งปรับทัศนคติระหว่างนักออกแบบกับโรงงานให้มีความต้องการตรงกันในด้านแนวคิดที่สอดคล้องกันและกัน ทั้งนี้ ได้เป้าหมายเชื่อมโยงนักออกแบบ จำนวน 50 ราย ภายใต้การดูแลของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์
อย่างไรก็ดีภายใต้กิจกรรมดังกล่าวยังมีกิจกรรมไฮไลท์เพื่อชูผลงานนักออกแบบไทยให้เป็นที่ประจักษ์ในปี 2560 ได้แก่ กิจกรรมสร้างหลักสูตร "Workshop Design Business" ที่ถูกออกแบบขึ้นพิเศษให้ครอบคลุมเนื้อหาและกระบวนการสร้างนักออกแบบรุ่นใหม่ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์และแรงบันดาลใจให้มีความเข้าใจในการทำธุรกิจ นำโดย คุณสมชัย ส่งวัฒนา เจ้าของแบรนด์ Flynow (ฟลายนาว) คุณพลพัฒน์ อัศวะประภา เจ้าของแบรนด์ ASAVA (อาซาวา) คุณสุริยน ศรีอรทัยกุล เจ้าของแบรนด์เครื่องประดับ Beauty Gems (บิวตี้เจมส์) ผศ.ดร. อโนทัย ชลชาติภิญโญ หัวหน้าภาควิชาการสิ่งทอ ม.เกษตรศาสตร์ คุณดลชัย บุญยะรัตเวช ผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างแบรนด์ชื่อดังของเมืองไทย คุณภัทรียา ณ นคร อดีตผู้ดูแลและนำเข้าแบรนด์ระดับโลก Gucci (กุชชี่) คุณพันธ์สิริ สิริเวชพันธ์ ช่างภาพมืออาชีพระดับแถวหน้า คุณบัญชา ชูดวง สไตล์ไดเร็กเตอร์อิสระและอาจารย์พิเศษด้านแฟชั่นดีไซน์
นอกจากนี้ยังนำผู้ประกอบการและนักออกแบบรุ่นใหม่ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้แสดงผลงานการออกแบบสู่สายตาประชาชนในวงกว้างผ่านรายการโทรทัศน์ชื่อดัง The Face Thailand Season 3 และต่อยอดนำผู้ประกอบการเปิดประสบการณ์วงการแฟชั่นระดับโลก กับกิจกรรมการดูงานแฟชั่นวีคสุดยิ่งใหญ่ในงาน Paris Haute Couture Fashion Week (ปารีส โอต์กูตูร์ แฟชั่นวีค)ทั้งนี้ เชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่ากิจกรรมและการส่งเสริมที่ดีดังกล่าวจะช่วยให้เกิดคลื่นลูกใหม่มาร่วมผลักดันและพัฒนาวงการแฟชั่นไทยให้ก้าวไกลสู่สากลในปี 2560 ไม่ต่ำกว่า 130 รายอย่างแน่นอน นายกอบชัย กล่าวปิดท้าย
สำหรับผู้สนใจร่วมกิจกรรม โครงการศูนย์ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์" Thailand Industrial Design Center: ThaiiDC สามารถสมัครได้ตั้งแต่วันนี้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขา 1 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ถนนพระรามที่ 4 เขตคลองเตย กรุงเทพ ฯ โทรศัพท์ 0 2367 8201 , 0 2367 8227 และติดตามข้อมูลข่าวสารโครงการต่าง ๆ ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ที่ www.dip.go.th หรือ facebook.com/dip.pr