ผลกระทบ Brexit ต่อภาคเศรษฐกิจจริงแสดงผลชัดเจนขึ้น ความสำคัญของสหราชอาณาจักรต่อยุโรป ลอนดอนจะสูญเสียความเป็นศูนย์กลางทางการเงิน ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาแนบแน่นขึ้นเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจและการค้าของสหรัฐฯ ลดอำนาจต่อรองของอียู
ตลาดการเงินโลก ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ตลาดปริวรรตเงินตราจะผันผวนหนักขึ้นทั้งปรับขึ้นและปรับลง ทิศทางอัตราดอกเบี้ยสหรัฐอเมริกาจะขึ้นแรงและเร็วกว่าที่คาดจากแรงกดดันเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นชัดเจน ระบบการค้าโลกถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ
ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึง ผลกระทบนโยบายชาตินิยมทางเศรษฐกิจ American First และ นโยบายล่าสุดของประธานาธิบดี โดนัล ทรัมป์อาจกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและระบบการค้าโลกรุนแรงกว่าที่ทุกคนคาดการณ์ไว้ รวมทั้งอาจทำให้องค์กรระหว่างประเทศอย่าง สหประชาชาติ องค์กรการค้าโลก ธนาคารโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศอ่อนแอลง แม้นนโยบาย American First จะเป็นผลบวกต่อกลุ่มทุนขนาดใหญ่สหรัฐฯและตลาดหุ้นสหรัฐฯทะยานแรงแต่จะไม่ยั่งยืน เกิดผลกระทบต่อเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือและความตึงเครียดทางการค้ากับเม็กซิโก ค่าเงินเปโซและตลาดหุ้นเม็กซิโกจะทรุดตัวลง แนะไทยต้องรีบกำหนดยุทธศาสตร์เจรจาการค้าทวิภาคีกับสหรัฐอเมริกาและทวิภาคีกับเม็กซิโก ไทยควรรีบบูรณาการและรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นหลังรัฐบาลสหรัฐอเมริกายกเลิกข้อตกลง TPP นโยบายยกเลิกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียจะทำให้เศรษฐกิจรัสเซียฟื้นตัวเร็วขึ้น เกิดผลบวกต่อการท่องเที่ยวโดยเฉพาะพัทยา แต่การยกเลิกการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลสหรัฐฯกับสภาคองเกรสมีปัญหาเป็นอุปสรรคต่อการพลักดันนโยบายของทรัมป์ในระยะต่อไป ทำให้สหรัฐฯมี
ปัญหาความสัมพันธ์กับพันธมิตรนาโต้ในยุโรป นโยบายการกีดกันผู้อพยพและมีอคติต่อชาวมุสลิมล่าสุดของประธานาธิบดีทรัมป์จะสร้างความขัดแย้งแตกแยกในสังคมอเมริกา เกิดแรงต่อต้านในกลุ่มนายกเทศมนตรีและกลุ่มผู้ว่าการมลรัฐสายเสรีนิยมบางส่วน ปัจจัยเหล่านี้จะทำให้การฟื้นตัวเศรษฐกิจสหรัฐฯเกิดอุปสรรคและอ่อนแอลง
ผลกระทบ Brexit ต่อภาคเศรษฐกิจจริงแสดงผลชัดเจนขึ้น ความสำคัญของสหราชอาณาจักรต่อยุโรปลงลง ลอนดอนจะสูญเสียความเป็นศูนย์กลางทางการเงิน เงินปอนด์อาจตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาแนบแน่นขึ้นเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจและการค้าของสหรัฐฯ ลดอำนาจต่อรองของอียูลง
ดร. อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า เราจะได้เห็นการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจทางด้านอุปทาน (Supply-Side Economic Policy) มากขึ้น ลดภาษีในอัตราก้าวกระโดด (ลดภาษีนิติบุคคลหรือองค์กรธุรกิจจาก 35% ลงมาเหลือ 15%) ซึ่งจะต้องมีการตัดลดสวัสดิการจำนวนมากยกเว้นเศรษฐกิจเติบโตมากๆจึงจะทำให้ไม่เกิดปัญหาเพดานหนี้สาธารณะ การปรับลดภาษีชุดใหญ่และอย่างแรงทั้งภาษีรายได้บุคคลธรรมดาและภาษีนิติบุคคลพร้อมกับการประกาศลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจจะทำให้รัฐบาลสหรัฐฯมีหนี้สาธารณะเพิ่มอีกอย่างน้อย 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ก็น่าจะทำให้อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจของสหรัฐฯสูงขึ้น หากอัตราการเติบโตไม่เพิ่มสูงขึ้นตามเป้าหมาย สหรัฐอเมริกาจะเผชิญกับปัญหาหน้าผาทางการคลังในที่สุด
จะมีการผ่อนคลายกฎระเบียบในการทำธุรกิจมากขึ้นในสหรัฐฯ ขณะที่กีดกันสินค้านำเข้าจากต่างประเทศมากขึ้นอีก มีนโยบายโน้มเอียงสนับสนุนชาตินิยมทางเศรษฐกิจมากขึ้น
การตอบสนองในตลาดปริวรรตเงินตราในระยะสั้น เงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าขึ้นได้อีก เงินเฟ้อจะปรับตัวสูงขึ้นพร้อมดอกเบี้ยแท้จริงลดลง ทำให้ธนาคารกลางจำเป็นต้องปรับเพิ่มดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม อาจความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและเม็กซิโกเพิ่มขึ้นอีกและไม่สามารถตกลงกันได้ว่า ใครจะจ่ายค่าสร้างกำแพงตามแนวชายแดน เงินเปโซเม็กซิโกทรุดลงได้อีก (ไม่ต่ำกว่า 20-30%) ราคาน้ำมันปรับเพิ่มได้อีก ส่วนสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆในตลาดล่วงหน้าปรับตัวสูงขึ้น ตลาดการเงินโลก ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ตลาดปริวรรตเงินตราจะผันผวนหนักขึ้นทั้งปรับขึ้นและปรับลง ทิศทางอัตราดอกเบี้ยสหรัฐอเมริกาจะขึ้นแรงและเร็วกว่าที่คาดจากแรงกดดันเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นชัดเจน ระบบการค้าโลกถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ
นโยบายและมาตรการกีดกันสินค้าจากจีนโดยการตั้งกำแพงภาษี 45% ที่ประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์กล่าวระหว่างการหาเสียงไม่อาจเกิดขึ้นได้จริง เพราะขัดต่อระเบียบองค์กรการค้าโลกและไม่น่าจะผ่านรัฐสภา
ส่วนผลกระทบต่อไทย ผลที่มีต่อตลาดการเงินไม่มีนัยยสำคัญมาก ตลาดหุ้นอาจผันผวนบ้างในระยะสั้น เงินบาทอาจมีการอ่อนตัวบ้าง เงินทุนระยะสั้นอาจเคลื่อนย้ายออกบ้าง ผลกระทบสำคัญน่าจะเป็นด้านการค้ามากกว่าทั้งทางบวกและทางลบ การส่งออกไปสหรัฐฯจะมีความเสี่ยงมากขึ้นตั้งแต่ไตรมาสสองปีหน้าเป็นต้นไป การกีดกันสินค้านำเข้าจากจีนจะกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยด้วยเพราะไทยจีนมี
สินค้าหลายตัวอยู่ในห่วงโซ่อุปทานเดียวกัน ไทยควรกำหนดยุทธศาสตร์ในการปรับโครงสร้างภาคส่งออกและห่วงโซ่อุปทานให้พึ่งพาจีนและญี่ปุ่นน้อยลง ภาคส่งออกไทยจะมีความยากลำบากมากขึ้นเนื่องจากปัจจุบันสหรัฐฯเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย (ถ้าไม่นับอาเซียน 10 ประเทศรวมกัน) โดยในปี 2558 ไทยมีมูลค่าส่งออกไปสหรัฐฯ 24,055 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 11.2 ของมูลค่าการส่งออกของไทยทั้งหมด โดยมีสินค้าสำคัญ อาทิ คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์และส่วนประกอบ และเครื่องนุ่มห่ม รวมทั้งอาหารทะเลและผลไม้กระป๋องแปรรูป ซึ่งสินค้าเหล่านี้มีสัดส่วนรวมกันถึงร้อยละ 51.4 ของการส่งออกไทยไปสหรัฐฯทั้งหมด การเกิดความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯกับเม็กซิโกและการตั้งกำแพงต่อสินค้าจากเม็กซิโกจะทำให้เกิดโอกาสของสินค้าไทยบางประเภทเพิ่มขึ้น เช่น เครื่องนุ่งห่ม เครื่องหนังและรองเท้า อาหารทะเลแปรรูป รถยนต์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น
ส่วนประเทศไทยนั้นควรมียุทธศาสตร์และนโยบายทางการค้าที่ชัดเจนขึ้นและควรพลักดันให้มีความคืบหน้าในการเจรจา FTA กับสหรัฐฯและ FTA กับสหราชอาณาจักรหลังเลือกตั้ง
เม็ดเงินลงทุนของกลุ่มทุนสหรัฐอเมริกาในไทยอยู่ในอันดับต้นๆมาตลอด ในปี พ.ศ. 2555 (ก่อนรัฐประหาร) อยู่ที่ 22,782 ล้านบาท ช่วง ส.ค. พ.ศ. 2558 ถึง ส.ค. พ.ศ. 2559 เม็ดเงินลงทุนอยู่ที่ราว 6,115 ล้านบาท หาก "สหรัฐฯ" เห็น "ไทย" เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคได้ ก็น่าจะเร่งลงทุนในไทยมากขึ้น การลงทุนทางด้านกิจการพลังงาน อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ธุรกิจสถาบันการเงิน น่าจะเพิ่มขึ้น
แรงกดดันของสหรัฐฯต่อไทยในเรื่องสิทธิแรงงาน สิทธิมนุษยชน ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เชื่อมโยงกับการค้าจะลดลง เนื่องจากผู้นำสหรัฐฯคนใหม่ไม่ได้ให้น้ำหนักหรือความสำคัญต่อเรื่องดังกล่าว แรงกดดันต่อไทยให้กลับคืนประชาธิปไตยและการเลือกตั้งลดลง ผู้นำสหรัฐฯจะขับเคลื่อนนโยบายต่างประเทศโดยนำเอาประเด็นเรื่องเศรษฐกิจ การค้าและผลประโยชน์ทางธุรกิจและการลงทุน เป็นตัวนำ