อ็อกแฟม ประเทศไทยเปิดรายงานความเหลื่อมล้ำในไทย พบคนรวยที่สุด 10% เป็นเจ้าของทรัพย์สิน 79% ของประเทศ !!!

จันทร์ ๐๖ กุมภาพันธ์ ๒๐๑๗ ๑๓:๐๗
พร้อมจัดเสวนา "เท่าไหร่ (ถึง) เท่ากัน?" ดึงคนดังทุกภาคส่วนมาร่วมถกหวังกระตุ้นสังคมไทยเห็นปัญหาของ "ความเหลื่อมล้ำ" เพื่อหาทางออกร่วมกันในอนาคต

เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 ที่สยามสมาคม กรุงเทพ องค์การอ็อกแฟม (Oxfam) ประเทศไทยได้จัดกิจกรรม "เท่าไหร่ (ถึง) เท่ากัน?" โดยมีการเปิดเผย "รายงานเบื้องต้นว่าด้วยความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย" พร้อมเสวนาในหัวข้อ 'เท่าไหร่ (ถึง) เท่ากัน' โดยมีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ควอลิตีเฮาส์ จำกัด (มหาชน) และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม , นายอธิคม คุณาวุฒิ บรรณาธิการบริหารจาก Way Magazine, น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล นักเขียน นักแปล และกรรมการผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด, นางนุชนารถ แท่นทอง ประธานเครือข่ายสลัม 4 ภาค และนายวินัย ดิษจร ช่างภาพมืออาชีพ ร่วมแลกแปลี่ยนความคิดเห็นถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำทางทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย

นายจักรชัย โฉมทองดี ผู้ประสานงานด้านนโยบายและรณรงค์ องค์การอ็อกแฟม (Oxfam) เปิดเผยว่า ความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ไม่จำกัดเพียงแค่ด้านเศรษฐกิจเท่านั้น แต่รวมถึงภาคส่วนอื่นๆของสังคม อาทิ วิถีชีวิต การศึกษา สวัสดิการด้านสุขภาพ ซึ่งการแก้ปัญหาความเหลือมล้ำนั้นจะต้องแก้ในทุกภาคส่วนพร้อมกัน โดย เริ่มจากการปฏิรูปในภาคเอกชนให้มีห่วงโซ่อุปาทานในการประกอบธุรกิจให้เป็นธรรม ควบคู่ไปกับการผลักดันมาตรการลดความเหลื่อมล้ำจากภาครัฐ เช่น ปรับระบบภาษีให้เป็นระบบก้าวหน้า เพิ่มอัตราภาษีในกลุ่มผู้มีรายได้สูงและกลุ่มผู้ครอบครองทุน เก็บภาษีที่ดินสำหรับคนที่มีที่ดินมากกว่า 50 ไร่ขึ้นไป เพราะแม้รัฐจะมีมาตรการเก็บภาษีที่ดิน แต่ผู้ที่ได้รับผลกระทบคือกลุ่มรายได้ปานกลาง

"ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 เป็นต้นมา ประเทศไทยได้ยกระดับสถานภาพจากประเทศที่มีรายได้ปานกลางขึ้นมาเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูง ในขณะที่ความยากจนลดลงไปมาก เรากลับเผชิญกับสถานการณ์ที่ความเหลื่อมล้ำในการครอบครองทรัพย์สินและความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ยังคงมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งคนที่ยากจนตกเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำ ความเหลื่อมล้ำมีที่มาจากหลายสาเหตุ แต่สาเหตุสำคัญที่สังคมต้องร่วมกันมอง คือลักษณะโครงสร้างของสังคม ระบบ ระเบียบ นโยบายของภาครัฐ และการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน ซึ่งมีส่วนสำคัญที่จะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำแต่ในขณะเดียวกันก็มีส่วนสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำได้เช่นเดียวกัน เราจำเป็นที่ต้องกล้าพูดและยอมรับจริงๆว่าประเทศไทยยังมีความเหลื่อมล้ำอยู่มาก เกษตรกร ชาวประมงพื้นบ้าน ต้องทำงานถึง 4 เดือนถึงจะทำรายได้เท่าคนในเมืองเดือนเดียว มีความแตกต่างกันตรงนี้ การยอมรับจะนำไปสู่การตระหนักร่วมกันว่านั่นคือปัญหา ซึ่งไม่ใช่ปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ไม่สามารถทำอะไรได้ แต่เป็นปัญหาที่สามารถเยียวยาได้

อ็อกแฟมในประเทศไทยได้ทำงานเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในหลายระดับ โดยเราได้เล็งเห็นว่ากลุ่มที่มีบทบาทในการแก้ปัญหา คือกลุ่มผู้บริโภคเมือง กลุ่มธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งมีทั้งกำลังขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจและสังคม โดยหวังว่าจะแก้ปัญหาและสื่อสารให้สังคมตระหนักรู้ถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำ และประชาชนและสังคมจะตื่นตัวและช่วยแก้ไข เช่นเดียวกับสังคมประเทศอื่น เช่น สหรัฐอเมริกา กลุ่มประเทศยุโรป สิงคโปร์ และฮ่องกง"

โดย "รายงานเบื้องต้นว่าด้วยความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย" ซึ่งอ็อกแฟมประเทศไทยได้จัดทำและรวบรวมข้อมูลสถิติต่างๆตั้งแต่แต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ.2559 พบว่ารายได้ 1 ปีของคนรวยที่สุดในไทย สามารถนำมาใช้ลดความยากจนของคนทั้งประเทศได้ โดยคนรวยที่สุด 10% แรกมีรายได้มากกว่าคนที่จนที่สุด 10% สุดท้ายถึง 35 เท่า

โดยในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา เศรษฐีระดับพันล้านของไทยเพิ่มขึ้นเป็น 28 คน จาก 5 คน และทั้งหมดมีทรัพย์สินรวมกันถึง 9,142,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ประชากรของไทย 7 ล้านคนยังอยู่ใต้เส้นความยากจน นอกจากนี้ยังพบว่าคนรวยที่สุด 10% เป็นเจ้าของทรัพย์สิน 79% ของประเทศ และ 5 ปีที่ผ่านมาคนรวยที่สุด 1% เป็นเจ้าของความมั่งคั่งมากกว่าคนที่เหลือทั้งประเทศรวมกัน

นอกจากนี้ดัชนีชี้วัดความมุ่งมั่นต่อการลดความเหลื่อมล้ำไทยอยู่ในลำดับที่ 122 จาก 155 ประเทศ คนงานนอกระบบ 25ล้านคนหรือ 64% ของแรงงานทั้งหมดไม่ได้รับความคุ้มครองจากประกันสังคม สิทธิด้านสหภาพแรงงานในไทยยังห่างไกลจากมาตรฐานสากล คนทำงานในเมืองได้ค่าจ้างที่สูงกว่าคนทำงานนอกเมือง เกษตรกร 2.2 ล้านคนมีปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน โดย 40% ไม่มีที่ดินทำกินของตัวเอง และ 37% ไม่มีโฉนดที่ดิน ที่เหลือที่ดินไม่พอทำกิน นอกจากนี้ยังพบว่ายิ่งเจ้าของธุรกิจมีความมั่งคั่งมากเพียงใด โอกาสที่จะลงเล่นการเมืองก็จะมากขึ้น ซึ่งจะทำให้คนรวยสามารถเข้าถึงเครือข่ายต่างๆ เพื่อสนับสนุนนโยบายที่ตัวเองได้ประโยชน์ (รายละเอียดตามเอกสารแนบ)

นางนุชนารถ แท่นทอง ประธานเครือข่ายสลัม 4 ภาค เปิดเผยว่า การเป็นคนยากจนที่อยู่ในเมือง มักถูกตัดสินในแง่ลบจากคนอื่นเสมอ โดยเฉพาะเมื่อใช้ชีวิตในสลัม ซึ่งจริงๆแล้วไม่มีใครไม่อยากได้โอกาสในชีวิต แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายที่โอกาสจะมาถึงคนจนโดยเฉพาะในแง่ของการศึกษาซึ่งจะช่วยยกระดับชีวิตของคนได้จริงๆ นอกจากนี้เมื่อเอ่ยถึงประเด็นความเหลื่อมล้ำ มีเรื่องหนึ่งที่ตนเป็นกังวลมากคือเรื่องที่อยู่อาศัย และที่ทำกินของคนจน

"ที่ผ่านมาเราจะเห็นข่าวที่มีคำสั่งไล่ออกจากป่า หาว่าบุกรุกป่า และเมื่อพื้นที่ชายแดนเปิดเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ คนในพื้นที่ก็จะถูกไล่ออกไป โดยอ้างว่ากำลังนำความเจริญมาสู่ ก็เลยงงว่าเอ๊ะตกลงยังไงกันแน่ จะไล่คนข้างนอกเข้าข้างใน จะไล่คนข้างในออกข้างนอก นี่คือสิ่งที่เราเห็นชัดเจนเลย และก็เป็นปัญหาสำหรับพวกเราคนจน เพราะคนที่ทำมาหากินหรือคนที่ทำนาหรือเกษตรกรนี่ จะไร้ที่ดินทำกิน ที่ดินเหล่านั้นถูกต่างชาติเข้ามาทำการเช่า เพื่อปลูกพืชผักของเขาเอง พืชผักเรากลับหายไปแล้วเปลี่ยนพันธุ์ไป ต่อไปความมั่นคงทางอาหารของเราอยู่ตรงไหน อันนี้คือความห่วงใย และมีความรู้สึกว่าเรากำลังจะสูญเสียที่ดิน โดยที่คนจนอย่างพวกเราเองคงจะไม่มีโอกาสมีที่ดินอีกต่อไป"

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ควอลิตีเฮาส์ จำกัด (มหาชน) และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่าหน้าที่ของภาครัฐมี 2 ส่วนสำคัญ 1. คือสร้างความเจริญให้ประเทศ 2.นำความเจริญนั้นมากระจายให้คนส่วนใหญ่ของประเทศ ที่ผ่านมาเราเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจในแง่ของ GDP แต่ไม่ได้ดูรายได้ประชาชน ซึ่งรัฐจะต้องกระจายโอกาสเพื่อลดความเหลื่อมล้ำให้กับคนในประเทศ

"การคมนาคมเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย เพราะเป็นสิ่งที่คนเจอทุกวัน จะรวยหรือจนก็ต้องใช้ถนนร่วมกัน ในกรุงเทพคนจนโดยสารรถเมล์ราว 3 ล้านคน คนส่วนใหญ่อยู่กับรถเมล์ รถเมล์จึงเป็นหัวใจสำคัญในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ เราเน้นการก่อสร้างรถไฟฟ้า แต่คมนาคมที่คนส่วนใหญ่ใช้คือรถเมล์ เราต้องมีรถเมล์ที่ดีก่อน เพราะเป็นปัจจัยพื้นฐานในการใช้ชีวิตของคนส่วนใหญ่ ภาครัฐต้องเกลี่ยและกระจายโอกาสให้ทุกคน

แต่จริงๆแล้วการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำจะต้องมาจากตัวเราเป็นหลัก ไม่ใช่จากภาครัฐหรือเอกชนรายใหญ่ ตัวเราต้องเห็นความสำคัญของความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคม ต้องเห็นความสำคัญของชีวิตคนอื่นด้วยว่ามีความสำคัญไม่ต่างจากเรา เพราะปัญหาความเหลื่อมล้ำแก้จากรัฐหรือเอกชนรายใหญ่ ต้องเริ่มจากตัวเรา เริ่มที่การเห็นชีวิตของคนทุกคนสำคัญเหมือนกันและเท่ากัน ความชินชากับความเหลื่อมล้ำที่เจอเป็นเรื่องที่อันตราย ซึ่งคงต้องฝากความหวังไว้ที่คนรุ่นใหม่"

โดยนอกจากกิจกรรมเสวนาแล้วภายในงาน "เท่าไหร่ (ถึง) เท่ากัน?" ยังมีการแสดงผลงานภาพถ่ายแนว Street Photo ในหัวข้อ 'Tales from the Streets' โดย "วินัย ดิษจร" การออกร้านของธุรกิจเพื่อสังคมร้านคนจับปลา (Fisherfolk Social Enterprise)และธุรกิจเพื่อสังคมวนิตา (Wanita Social Enterprise) ซึ่งเป็นโครงการที่อ็อกแฟมในประเทศไทยให้การสนับสนุนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำอย่างยั่งยืนในสังคมไทยอีกด้วย โดยได้รับความสนใจจากประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมอย่างคับคั่ง

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๗:๐๐ เกษตรเขต 2 จับมือเกษตรจังหวัด 8 จังหวัด วางแผนขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปี 2568 ในพื้นที่ภาคตะวันตก
๒๑:๔๒ เคาน์ดาวน์หลากบรรยากาศใจกลางกรุงเทพฯ ที่โรงแรมอีสติน แกรนด์ สาทร กรุงเทพฯ
๑๙ ธ.ค. หนิง ปณิตา นำทีม Dr.master ปฏิวัติวงการสินค้าดูแลเส้นผม! ปั้น Creator ให้เป็น Hair Master ตัวจริง
๒๐:๔๖ นักศึกษา มจพ.คว้า 2 เหรียญทอง หมากรุกไทยและหมากรุกอาเซียน กีฬาแห่งชาติ จันท์เกมส์ ครั้งที่ 49 ณ จังหวัดจันทบุรี
๑๙ ธ.ค. JAS Group จัดกิจกรรม JAS Virtual Run ก้าวสู่ปีที่ 42 อย่างยั่งยืน
๑๙ ธ.ค. เจียไต๋เดินหน้าจัด เจียไต๋ โซเชียล เดย์ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 รวมพลังเจียไต๋อาสาทั่วประเทศปลูกความยั่งยืนให้ชุมชน
๑๙ ธ.ค. กิฟฟารีน แนะนำไอเท็มเด็ด กิฟฟารีน อัลตร้า นอริชชิ่ง ลิป แอมพูล มาสก์ เติมความชุ่มชื้นให้ปากฉ่ำในช่วงฤดูหนาวนี้
๑๙ ธ.ค. 3 ร้านอาหารเครืออิมแพ็ค แนะนำเมนู Festive เชิญร่วมฉลองส่งท้ายปีกับเมนูแสนอร่อย ตั้งแต่ วันนี้ - 31 ธันวาคม
๑๙ ธ.ค. กิฟฟารีน แนะนำไอเท็มเด็ด กิฟฟารีน กิฟฟี่ ฟาร์ม คิดส์ เจล ทูธเพสท์ สำหรับเด็กๆ
๑๙ ธ.ค. โคคา-โคล่า ไทยน้ำทิพย์ นำโรงงานรังสิตคว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่นประเภทการจัดการพลังงาน ชูนวัตกรรมด้านความยั่งยืนในฐานะผู้นำอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม