ในช่วงพิธีเปิดการประชุมหลักเมื่อวันพฤหัสที่ 2 กุมภาพันธ์ 2560 พล.ต.อ. วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ได้กล่าวสุนทรพจน์ถึงความพยายามของประเทศไทยในการต่อต้านการทุจริต โดยเฉพาะการปรับปรุงขีดความสามารถของประเทศด้วยการอนุวัติกฎหมายภายในที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ. 2003 (United Nations Convention against Corruption: UNCAC) โดยมีเป้าหมายที่จะดำเนินการให้ได้อย่างสมบูรณ์ ขณะที่ Mr. Jeremy Douglas ผู้แทนระดับสูงของ UNODC ได้กล่าวถึงความสำคัญของการต่อต้านการทุจริต ซึ่งเป็นหนึ่งในวาระหลักตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 ขององค์การสหประชาชาติ ที่ประชาคมโลกตระหนักถึงความเสียหายจากการทุจริตที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศ โดยหวังว่าการประชุมครั้งนี้จะนำไปสู่การเสริมสร้างความเข้มแข็งในการต่อต้านการทุจริตของภูมิภาค ตลอดจนการระดมความคิดเห็นจากทุกฝ่าย เพื่อสร้างนวัตกรรมความคิดใหม่ๆที่จะผลักดันให้ภูมิภาคสามารถอนุวัติการตามอนุสัญญา UNCAC ได้อย่างเป็นรูปธรรม ในช่วงท้ายของพิธีเปิด Ms. Susie Kitchens ผู้อำนวยการกรมพัฒนาธุรกิจและการเติบโตทางเศรษฐกิจ สำนักงานการต่างประเทศและเครือรัฐเอกภพแห่งสหราชอาณาจักร ได้เล่าถึงประสบการณ์ของประเทศอังกฤษในการต่อต้านการทุจริตที่ผ่านมา ทั้งการแก้กฎหมายภายในประเทศและความร่วมมือกับนานาประเทศ อาทิ ความร่วมมือในการก่อตั้ง International Anti-Corruption Co-ordination Centre การจัดการประชุม London Anti-Corruption Summit (2016) เป็นต้น
ในการประชุมยังจัดให้มีการอภิปรายร่วมกัน (Panel Discussion) ของผู้แทนจาก UNODC และหัวหน้าหน่วยงานต่อต้านการทุจริตจากประเทศอาเซียน ซึ่งแต่ละประเทศได้แสดงความมุ่งมั่นในการต่อต้านการทุจริต และวิสัยทัศน์ที่มีต่อการเร่งรัดกระบวนการอนุวัติการตามอนุสัญญาUNCAC ปัญหาและอุปสรรค ตลอดจนประสบการณ์ความร่วมมือระหว่างประเทศที่ผ่านมา ซึ่งมีการยกตัวอย่างความสำเร็จในการติดตามทรัพย์สินการทุจริตกลับคืน และการประสานงานเพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดีทุจริตระหว่างประเทศ
นอกจากกิจกรรมในการประชุมหลักแล้ว ในช่วงเช้าของวันเดียวกัน พล.ต.อ. วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. พร้อมด้วย นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. และผู้บริหารสำนักงาน ป.ป.ช. ได้ร่วมหารือข้อราชการกับผู้แทนคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ (Anti-Corruption Commission: ACC) ถึงความร่วมมือในการต่อต้านการทุจริตของสองประเทศ ตลอดจนการและเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านวิชาการ และการประสานงานคดีทุจริตระหว่างประเทศ ในโอกาสเดียวกันยังได้มีการส่งมอบ คู่ฉบับบันทึกความเข้าใจ (MoU) ระหว่างทั้งสองหน่วยงานด้วย