ประเทศไทยจัดงานประชุมนานาชาติเรื่องโรคเอดส์ ใช้ Live Streaming ถ่ายทอดสดการประชุมเป็นครั้งแรกแก่บุคลากรทางการแพทย์

พฤหัส ๐๙ กุมภาพันธ์ ๒๐๑๗ ๑๐:๓๕
ศูนย์ประสานความร่วมมือระหว่าง ไทย-ออสเตรเลีย-เนเธอร์แลนด์ เพื่อการวิจัยทางคลินิกด้านโรคเอดส์ (HIV-NAT) ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย จัดการอบรมวิชาการในระดับนานาชาติ "19th Bangkok International Symposium on HIV Medicine" ขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมีบุคลากรทางการแพทย์และวิทยากรทั้งจากไทยและต่างประเทศเข้าร่วมงานกว่าหกร้อยคน พร้อมกันนี้ยังได้เปิดตัวเทคโนโลยีการประชุมระบบ Live streaming สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่สามารถเดินทางมาร่วมงานประชุมได้

ศ.กิตติคุณ นพ.ประพันธ์ ภานุภาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า HIV-NAT ได้จัด "งานประชุมวิชาการ "Bangkok International Symposium on HIV Medicine" ต่อเนื่องมา 19 ปีแล้ว โดยในปีนี้เป็นครั้งแรกที่ได้มีการนำเทคโนโลยี Webcast หรือ Live Streaming หรือการถ่ายทอดสดมาใช้ ซึ่งช่วยสร้างสีสันให้กับงาน เป็นการนำเอาเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ เพื่อขยายโอกาสให้บุคลากรทางการแพทย์ทั่วโลกเข้าถึงความรู้ได้กว้างขึ้นและอำนวยความสะดวกให้แก่ท่านที่ไม่สามารถเดินทางมาร่วมงานได้ ขอขอบคุณ ViiV Healthcare และ GSK ที่เห็นถึงประโยชน์ของการถ่ายทอดสดของงานประชุมนี้"

การอบรมวิชาการในครั้งนี้ เราคาดหวังให้บุคลากรทางการแพทย์ทั้งจากเมืองไทยและจากต่างประเทศได้รับความรู้ที่ทันสมัยเกี่ยวกับการดูแลผู้ติดเชื้อเอดส์เพื่อนำไปปรับใช้ในท้องถิ่นหรือประเทศของตัวเอง อีกทั้งสร้างความรู้จักคุ้นเคยระหว่างบุคลากรทางการแพทย์จากประเทศต่างๆ เพื่อการประสานงานต่อไปในอนาคต อันจะส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาที่ดีขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย"

ศ.กิตติคุณ นพ.ประพันธ์ กล่าวเสริมว่า สำหรับสถานการณ์ของโรคเอดส์ปัจจุบันทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้ที่เสียชีวิตจากโรคเอดส์ทั่วโลกมีภาวะที่ดีขึ้นมาก เพราะมีการให้ยาต้านไวรัสเอดส์อย่างกว้างขวางกับผู้ติดเชื้อ โดยปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อที่เข้าถึงยาต้านไวรัสกว่า 17 ล้านคน เทียบกับเมื่อสิบกว่าปีที่แล้วที่มีผู้ติดเชื้อเข้าถึงยาต้านไวรัสไม่ถึง 1 ล้านคน ขณะที่ประเทศไทยปัจจุบันมีผู้เข้าถึงยาต้านไวรัสกว่าสองแสนคน หลังจากที่ผู้ติดเชื้อรับประทานยาต้านไวรัสเป็นเวลาต่อเนื่องนาน 6 เดือน ประมาณร้อยละ 95 จะมีปริมาณเชื้อเอชไอวีเหลือน้อยมาก จนไม่สามารถแพร่ไปสู่คนอื่นได้ นอกจากนี้ยังทำให้ผู้ติดเชื้อมีภูมิคุ้มกันดีขึ้นมีสุขภาพดีขึ้น และมีอายุขัยเกือบไม่แตกต่างจากคนทั่วๆ ไป

จากรายงานของโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) พบว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวี หรือโรคเอดส์ ในปี 2558 มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั่วโลกสะสม 36.7 ล้านคน เป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2.1 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตเนื่องจากโรคเอดส์ 1.1 ล้านคน สำหรับประเทศไทย จากการคาดประมาณจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ พบว่าในปี 2559 มีผู้ติดเชื้อเอชไอวี 426,999 คน เป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ 6,304 คน และมีผู้เสียชีวิตที่ติดเชื้อเอชไอวี 16,122 คน

ศ.กิตติคุณ นพ.ประพันธ์ ยังกล่าวถึงแนวทางในการยุติปัญหาโรคเอดส์ว่า "ประเทศไทยมีแผนยุทธศาสตร์ที่ดีมากในการแก้ไขปัญหาโรคเอดส์ โดยเมื่อเร็วๆ นี้ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ พ.ศ. 2560-2573 เพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ให้เหลือไม่เกินปีละ 1,000 คน ภายในปี 2573 และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้ยุทธศาสตร์ดังกล่าวเป็นกรอบแนวทางการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ต่อไป ซึ่งมียุทธศาสตร์ในการดำเนินงานที่สำคัญ คือ 1. การรณรงค์ให้คนไทยมีความตระหนักในการไปตรวจหาเชื้อเอชไอวีโดยสมัครใจ โดยคนไทยทุกคนมีสิทธิตรวจหาเชื้อเอชไอวีได้ฟรี ปีละ 2 ครั้ง เพื่อช่วยในการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ และลดความรุนแรงของโรค 2. ผู้ติดเชื้อจะได้รับยาต้านไวรัสฟรีทันที ไม่ต้องรอให้มีภูมิคุ้มกันต่ำ หรือมีอาการป่วยเสียก่อน ผู้ติดเชื้อจึงมีสุขภาพที่แข็งแรงไม่ป่วยและไม่เสียชีวิตจากเอดส์ และที่สำคัญคือ จะไม่สามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ เพราะฉะนั้นการกินยาต้านเชื้อเอชไอวีจึงเป็นการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อเอชไอวีที่ดีที่สุด 3. สำหรับผู้ที่ไม่ได้ติดเชื้อ แต่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง จะต้องเข้าถึงวิธีการป้องกันที่ครบถ้วน คือต้องให้ความรู้ความเข้าใจ ใช้ถุงยางอนามัย และให้กินยา PrEP หรือยาต้านไวรัสเอดส์ก่อนการสัมผัสเชื้อ และ 4. การลดการตีตราและการเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อฯ เพื่อให้เขาได้ใช้ชีวิตอย่างปกติ มีโอกาสในการทำงานเหมือนคนทั่วไป และ 5. ให้ภาคประชาสังคมได้มีโอกาสเข้ามาช่วยรัฐในการเข้าถึงกลุ่มประชากรที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อเพื่อนำเข้าสู่ระบบการดูแลรักษาและป้องกันอย่างทั่วถึง"

นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ สถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า "ได้มีโอกาสเข้าร่วมการประชุมและการอบรมในครั้งนี้ และได้ทดลองใช้ระบบ Live Streaming พบว่าคุณภาพของสัญญาณภาพและเสียงดีมาก ไม่มีกระตุก สำหรับวันที่สองที่ไม่สามารถเข้าร่วมงานอบรมได้ ได้ใช้ระบบนี้รับชมการประชุมจากที่ทำงานซึ่งมีประโยชน์มาก ผมคิดว่าการมีเทคโนโลยีมาช่วยเป็นสื่อในการเรียนรู้เป็นสิ่งที่ดี เพราะช่วยอำนวยความสะดวกได้อย่างมาก และทำให้ไม่เสียโอกาสที่จะใฝ่หาความรู้ เพื่อนำมาพัฒนาการดูแลรักษาคนไข้โรคเอดส์"

สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ สามารถติดตามข้อมูลและรับชมงานประชุมย้อนหลังได้ที่www.hivnat.org/bangkoksymposium

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๕๐ รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๑๖:๑๔ ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๑๖:๑๓ Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๑๖:๑๐ ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๑๖:๕๒ โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๑๕:๒๖ กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๑๕:๐๑ สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๑๕:๒๙ 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๑๕:๐๘ โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๑๕:๕๒ electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version