มร. เควิน คลาร์ค ซีอีโอ กรุ๊ปเอ็ม ประเทศไทยและพม่า เปิดเผยว่า ล่าสุด กรุ๊ปเอ็ม ได้ผนึกพลังกลุ่มบริษัทในเครือ ประกอบด้วย แม็กซัส เอ็มอีซี มีเดียคอม มายด์แชร์ และเอ็มอินเตอร์แอคชั่น จัดงานสัมมนาเพื่อสะท้อนมุมมองต่อผู้บริโภคและการรับสื่อที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน โดยได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารและสื่อโฆษณา ผู้ผลิตคอนเทนต์ชั้นนำ และสุดยอดนักการตลาดแนวหน้าของเมืองไทย มาร่วมนำเสนอมุมมองเตรียมความพร้อมสู้ศึกการตลาด พร้อมการนำเสนอรายการใหม่จากผู้ผลิตสื่อและคอนเทนต์ชั้นนำของเมืองไทยภายในงานเดียวที่จัดขึ้นเป็นพิเศษเฉพาะลูกค้าของกรุ๊ปเอ็ม
การจัดงาน 'NextM Prepare for what is next' ในครั้งนี้ จะนำประเด็นที่เป็นที่จับตาของวงการธุรกิจสื่อมาวิพากษ์เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานเห็นถึงแนวโน้มในอนาคต อาทิ การวัดเรตติ้ง 2 ระบบ (Dual-Panel measurement) ที่ระบบแรกดำเนินการวัดผลโดย บริษัท เอจีบี นีลเส็น มีเดีย รีเสิร์ช (ประเทศไทย) จำกัด หรือที่เรียกกันว่า Nielsen โดยปีที่ผ่านมานอกจากจะเพิ่มจำนวนกลุ่มตัวอย่างในการตรวจวัดแล้วยังได้ขยายขอบข่ายการวัดไปยังกลุ่มออนไลน์ด้วย และระบบที่ 2 ดำเนินการวัดผลโดยบริษัท กันตาร์มีเดีย จำกัด หลังจากที่ได้รับมอบหมายจากสมาคมวิจัยเพื่อพัฒนาสื่อ(ประเทศไทย) หรือ MRDA ให้ดำเนินการสำรวจความนิยม ในทุกๆ แพลตฟอร์ม หรือเรียกว่า มัลติสกรีนเรตติ้ง (Multi-Screen Rating) ครอบคลุมทุกกลุ่มดีไวซ์ ไม่ว่าจะเป็น โทรทัศน์, สมาร์ทโฟน, คอมพิวเตอร์ และแท็ปเล็ต เป็นต้น ที่จะเผยผลวิจัยเป็นครั้งแรกในปี 2560 ซึ่งการมีบริษัทวัดผลเรตติ้ง 2 บริษัทนั้น แน่นอนว่าอาจจะกระทบต่อผลวิจัย ทำให้ผู้บริโภคข้อมูลเกิดความสับสนได้ในช่วงแรก ลูกค้า นักวางแผนสื่อ และช่องต่างๆก็ต้องปรับตัวให้ทันตามการเปลี่ยนแปลง
นาย รัฐกร สืบสุข กรุ๊ปเอ็ม เทรดดิ้ง พาร์ทเนอร์ ให้ข้อมูลว่า "สำหรับกรุ๊ปเอ็มเองในฐานะที่เป็นผู้นำธุรกิจวางแผนสื่อโฆษณาครบวงจรระดับโลก ได้เริ่มใช้การวัดเรตติ้ง 2 ระบบ (Dual-Panel measurement) แล้วในต่างประเทศ และเพื่อให้ลูกค้า นักวางแผนสื่อ และช่องต่างๆ ได้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นของการวัดเรตติ้ง 2 ระบบ (Dual-Panel measurement) นี้ในงานจึงมีการนำตัวอย่างการวัดผลของกรุ๊ปเอ็มในประเทศมาเลเซียและฟิลิปปินส์ มานำเสนอเป็นครั้งแรกในประเทศไทยอีกด้วย"
สำหรับคำถามเกี่ยวกับเทรนด์ของวงการธุรกิจสื่อในปี 2560 นั้น นาย รัฐกร สืบสุข กล่าวเสริมว่า "เทรนด์แรกคือ Cross-channel targeting แบรนด์จะต้องเข้าใจถึงพฤติกรรมผู้บริโภคตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางเพิ่อเพิ่มศักยภาพทางการสื่อสารให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยครอบคลุมทั้งสื่อ online, offline และ in-store เพื่อเป้าหมายหลักในการทำให้ผู้บริโภคซื้อสินค้า การสื่อสารกับผู้บริโภคจะมีความเฉพาะตัว (Personalization) มากขึ้น และด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปทำให้ การวัดผลแบบมัลติสกรีนเรตติ้ง เป็นประเด็นที่หลายฝ่ายให้ความสำคัญ เพราะจะช่วยให้นักการตลาดวางแผนและเลือกใช้ช่องทางได้อย่างเหมาะสมและสอดคล้องยิ่งขึ้น
เทรนด์ที่ 2 คือ Live VDO ซึ่งกลายเป็นปรากฏการณ์สื่อรูปแบบใหม่ในเมืองไทย หลายแบรนด์ได้นำ Live VDO มาใช้ถ่ายทอดสดการเปิดตัวสินค้าใหม่ การสาธิตวิธีการใช้สินค้า งานอีเว้นท์ และบริการของแบรนด์ ด้วยจุดเด่นในเรื่องของการสื่อสาร 2 ทางกับผู้บริโภค สามารถตอบข้อสงสัย สร้างความสัมพันธ์ หรือดูผลตอบรับของผู้บริโภคได้ในทันที โดยในปี 2560 คาดว่าน่าจะมีการใช้ Live VDO เพื่อสร้างสีสันใหม่ๆ ให้แก่แวดวงธุรกิจสื่อของไทยในหลากหลายรูปแบบมากขึ้น
เทรนด์ที่ 3 คือ Content Leads จากรูปแบบของสื่อที่หลากหลายอย่างมาก หัวใจสำคัญของการสื่อสารที่จะประสบความสำเร็จจึงอยู่ที่คอนเทนต์ที่น่าสนใจ จึงนับเป็นโอกาสของแบรนด์ในการสร้างความสัมพันธ์กับผู้บริโภคโดยการสร้างสรรค์และพัฒนาคอนเทนต์ในรูปแบบ Tailor made ให้เหมาะสมกับสื่อแต่ละสื่อ ไม่ใช่การนำคอนเทนต์จากโทรทัศน์ไปขยายผลเหมือนในอดีต เช่น การผลิตรายการเพื่อออกอากาศทาง LINE TV หรือลักษณะคอนเทนต์จำเพาะสำหรับโซเชียลมีเดียรูปแบบต่างๆ และการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น Sky VR (Virtual Reality) app เพื่อชมรายการแบบ360 องศา
เทรนด์ที่ 4 คือ การเติบโตของธุรกิจ Online Shopping โดยปัจจัยหลักที่สนับสนุนคือพัฒนาการของสมาร์ท โฟนและความแพร่หลายของโซเชียลมีเดีย ความต้องการของผู้บริโภคในเรื่องความสะดวกรวดเร็ว ทำให้ห้างร้านส่วนใหญ่เปิดช่องทางออนไลน์ และมีธุรกิจบริการใหม่ๆ ที่เกิดสืบเนื่องกัน เช่น LINE MAN แอปพลิเคชันในการสั่งอาหาร สั่งซื้อของ รับส่งสินค้าต่างๆ ความท้าทายของนักการตลาด จึงอยู่ที่จะบริหารงบประมาณและสื่อโฆษณาอย่างไรให้เข้าถึงผู้บริโภคทั้งกลุ่มที่ยังคงอยู่กับช่องทางการสื่อสารและซื้อสินค้าแบบเดิม และกลุ่มที่เปลี่ยนพฤติกรรมมาซื้อสินค้าออนไลน์
สุดท้ายกับเทรนด์ Local Touchpoint ความท้าทายของการเข้าถึงผู้บริโภคในต่างจังหวัด อยู่ที่กลุ่มผู้บริโภคเขตนอกเมือง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใหญ่ ที่มีพฤติกรรมการเปิดรับสื่อน้อยกว่าผู้บริโภคในเขตเมือง และยังมีความเคยชินกับวิถีชีวิตแบบเดิมอยู่ ซึ่งผู้บริโภคกลุ่มนี้ในแต่ละพื้นที่ แต่ละจังหวัด จะมีความหลากหลายแตกต่างกันมาก ซึ่งปัจจัยสำคัญในการเข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มนี้คือ การเข้าถึงตัว สร้างความตื่นเต้นและประสบการณ์ให้แก่ผู้บริโภคผ่านกิจกรรมต่างๆ รวมถึงการใช้ Influencer ในท้องถิ่น"
ในส่วน "Content" ที่เป็นหัวใจสำคัญในการเข้าถึงผู้บริโภคในปัจจุบัน "กรุ๊ปเอ็ม และพันธมิตร LINE ได้ร่วมมือกันในการคัดสรรรายการที่สดใหม่คุณภาพจากทั่วทุกมุมโลก นำเสนอแก่กลุ่มเป้าหมายผ่าน Platform LINE TV เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายได้รับชมความบันเทิงชั้นดี นำไปสู่การติดตามอย่างต่อเนื่อง และภาพลักษณ์ของ Premium Content จะช่วยเสริมความมั่นใจให้กับนักการตลาดที่จะจัดสรรงบโฆษณาผ่านคอนเทนต์คุณภาพ และเป็นทางเลือกใหม่ๆ ที่น่าสนใจให้กับนักการตลาดได้อีกด้วย" นาย รัฐกร สืบสุข กล่าวเพิ่มเติม
อีกหนึ่งไฮไลท์ที่สำคัญของงานนี้คือการแชร์มุมมองจากเหล่านักการตลาดระดับแนวหน้าของประเทศไทยบนเวทีสัมนา ว่าในปัจจุบันที่ผู้บริโภคมีพฤติกรรมและการรับสื่อที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วนั้น ส่งผลกระทบต่อนักการตลาดอย่างไรบ้าง รวมถึงความคาดหวังที่นักการตลาดมีต่อเอเยนซี่ ผู้ผลิตคอนเทนต์ และเจ้าของสื่อ ในการปรับตัวให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลง และการสร้างสรรค์สื่อที่ตอบสนองต่อทั้งผู้บริโภคและนักการตลาด รวมไปถึงบู้ธจากผู้ผลิตสื่อชั้นนำของไทยที่นำรูบแบบรายการใหม่และคอนเท้นต์สุดล้ำมาแสดงตลอดทั้งวัน