สรุปการสัมมนาวิชาการเวทีสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (FPO Forum) ภายใต้โครงการขยายบทบาทสำนักงานเศรษฐกิจการคลังสู่ภูมิภาค ประจำปีงบประมาณ 2560 ครั้งที่ 1/2560 ณ จังหวัดน่าน

อังคาร ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๐๑๗ ๑๐:๕๙
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้เปิดการสัมมนาวิชาการเวทีสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (FPO Forum) เมื่อวันศุกร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ 2560 เวลา 08.00 – 16.00 น. ณ ห้องคอนเวนชั่น ฮอลล์โรงแรมดิอิมเพรส น่าน จังหวัดน่าน เพื่อเป็นการขยายบทบาทของสำนักงานเศรษฐกิจการคลังสู่ภูมิภาครวมถึงการนำเสนอนโยบายและมาตรการของกระทรวงการคลังให้แก่ผู้เข้าร่วมสัมมนาทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาจากจังหวัดน่านและจังหวัดใกล้เคียง รวมประมาณ 350 คน โดยมีนางพิศมัย บุญเทียม คลังจังหวัดน่านกล่าวต้อนรับ ซึ่งได้กล่าวถึงความสำคัญของจังหวัดน่านที่มีขนบธรรมเนียมประเพณีอันสวยงาม ผู้คนมีความเป็นมิตร และมีสถานที่ท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยี่ยมเยือน

ในช่วงเช้าเป็นการสัมมนาภายใต้หัวข้อ "ประชาชนก้าวหน้า รัฐบาลเกื้อหนุน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย" โดยได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย 1) นายประทุม จิณเสน รองประธานหอการค้าจังหวัดน่าน 2) นายยุทธกานต์ แสงงาม ผู้จัดการธนาคารออมสิน สาขาเวียงสา จังหวัดน่าน 3) นายนรพรรษ

เพ็ชรตระกูล ผู้อำนวยการส่วนวิเคราะห์เสถียรภาพเศรษฐกิจ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และ 4) นางสาว พิมพ์นารา หิรัญกสิ เศรษฐกรชำนาญการพิเศษ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ร่วมเป็นวิทยากร โดยมี นางสาว อรกันยา เตชะไพบูลย์ เศรษฐกรชำนาญการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นผู้ดำเนินรายการ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

นายนรพรรษ เพ็ชรตระกูล กล่าวว่า ภาครัฐได้ให้ความสำคัญกับการปฏิรูปเพื่อวางโครงสร้างพื้นฐานด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเป็นลำดับต้นๆ เพื่อให้ประเทศไทยก้าวหน้าอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่นยืน ตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยแม้การปฏิรูปเพื่อปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจใดๆ ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อให้ไทยหลุดพ้นจาก 3 กับดักคือ รายได้ปานกลาง ความเหลื่อมล้ำของความมั่งคั่ง และความไม่สมดุลในการพัฒนา โดยภาครัฐได้ปฏิรูปแนวทางการดำเนินโยบายเศรษฐกิจ เช่น หันมาพึ่งพาแรงส่งเศรษฐกิจจากในประเทศ เพิ่มสัดส่วนการลงทุน และเร่งใช้จ่ายภาครัฐโดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งนอกจากช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและการจ้างงานในระยะสั้นแล้วยังช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ นอกจากนี้ ยังหันมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านหน่วยงานในพื้นที่และใช้ความร่วมมือในรูปแบบประชารัฐ ซึ่งทำให้เงินงบประมาณกระจายไปได้ทั่วพื้นที่ เบิกจ่ายรวดเร็ว และเป็นแรงส่งของเศรษฐกิจไทย ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปสู่ Thailand 4.0 ซึ่งแนวการปฏิรูปเหล่านี้ จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ต่อเนื่องในปี 2560 คาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 3.6 เร่งขึ้นจากที่คาดว่าเศรษฐกิจในปี 2559 จะขยายตัวที่ร้อยละ 3.2

นางสาวพิมพ์นารา หิรัญกสิ ชี้ให้เห็นว่า เศรษฐกิจไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปี ๒๕๕๙ มีการขยายตัวที่เร่งขึ้นจากปี 2558 ทั้งในภาคการบริโภคและลงทุนภาคเอกชน โดยได้รับอานิสงส์จากมาตรการภาครัฐที่สนับสนุนทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจ ซึ่งจะช่วยให้มีเงินหมุนเวียนในระบบ เพื่อให้เศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง นอกจากนี้ หากพิจารณาตัวเลขเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจของภาคเหนือ พบว่าเครื่องชี้ต่างๆ บ่งชี้ว่าการบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวต่อเนื่อง การใช้จ่ายภาครัฐตลอดจนภาคการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวดี ซึ่งการท่องเที่ยวนี้เป็นภาคส่วนที่ภาคเหนือยังมีศักยภาพสูง และสามารถสร้างรายได้ให้แก่จังหวัดต่างๆ และสำหรับปี 2560 มาตรการต่างๆ ของภาครัฐที่ยังคงดำเนินการอยู่ในขณะนี้จะยังเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยมาตรการที่ประชาชนในเขตภาคเหนือจะได้รับผลประโยชน์ อาทิเช่น มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร มาตรการเพิ่มรายได้แก่ผู้มีรายได้น้อย โครงการบ้านประชารัฐ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมให้บริษัทใหญ่ช่วยบริษัทเล็ก และมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในชนบท เป็นต้น

นายประทุม จิณเสน ชี้ให้เห็นว่า จังหวัดน่าน ยังมีอีก 2 กับดักซึ่งเป็นความท้าทายสำคัญ คือ 1) กับดักเชิงภูมิศาสตร์ เนื่องจากน่านมีพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่เป็นป่าไม้ส่วนใหญ่ ทำให้มีพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการนำไปพัฒนาเชิงพาณิชย์ค่อนข้างจำกัด ทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจในจังหวัดทำได้ไม่เต็มที่เท่าที่ควร และ 2) กับดักเชิงนโยบาย ซึ่งการพัฒนาที่ผ่าน ๆ มามุ่งเน้นพัฒนาการขนส่งทางถนน โดยเฉพาะ ถนนสาย 101 ทำให้การคมนาคมขนส่งด้านอื่นๆ หรือถนนเส้นอื่นไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร นอกจากนี้ เนื่องจากพืชเศรษฐกิจของจังหวัดน่าน คือ ข้าวโพด ปัจจุบันหน่วยงานท้องถิ่นจึงต้องพยายามสร้างแรงจูงใจให้แก่เกษตรกรเพื่อลดพื้นที่ปลูกข้าวโพดลงร้อยละ 20 เพื่อนำพื้นที่แหล่งนี้ไปทำกิจกรรมอื่น ๆ โดยเฉพาะการทำเกษตรอินทรีย์ครบวงจร เช่น เลี้ยงสัตว์ ปลูกพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ เป็นต้น พร้อมด้วยศูนย์กระจายสินค้าเพื่อรองรับสินค้าเกษตรจากเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรมั่นใจได้ว่า การทำเกษตรอินทรีย์จะมีแหล่งจำหน่าย ซึ่งตัวอย่างสำคัญในการพัฒนาภาคการเกษตรของจังหวัดน่าน คือการดำเนินนโยบายประชารัฐ โดยส่งเสริมการปลูกกาแฟ และร่วมมือกันระหว่างเกษตรกรและร้านกาแฟ เพื่อให้เกษตรกรมีแหล่งจำหน่ายและสามารถเพิ่มราคากาแฟได้ นอกจากนี้ ภาคประชาขนควรร่วมมือกับภาครัฐโดยแสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้โครงการ นโยบายต่างๆ มีประสิทธิภาพ และตอบสนองความต้องการของประชาชนได้

นายยุทธกานต์ แสงงาม ได้กล่าวว่า ภารกิจหลักของธนาคารออมสินคือการส่งเสริม สนับสนุน และเป็นแหล่งเงินออมและเงินทุน โดยที่ผ่านมาได้ดำเนินโครงการต่างๆ เช่น โครงการธนาคารประชาชน เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับประชาชนในการประกอบอาชีพ เป็นต้น รวมถึงเป็นที่ปรึกษาในเรื่องต่างๆ เช่น แหล่งเงินทุน บัญชีรายรับ-รายจ่ายครัวเรือนเพื่อสร้างวินัยในการออม และการใช้จ่ายของประชาชน เป็นต้น นอกจากนี้ ธนาคารยังมีโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินนอกระบบให้กลับเข้าในระบบ และยังทำโครงการ SME Start up เพื่อให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ทั้งที่เป็นลูกค้ารายเดิมและลูกค้ารายใหม่ ที่มีแนวคิดนวัตกรรมใหม่ๆ ได้มีแหล่งเงินทุนและมีที่ปรึกษาในการทำธุรกิจ ในขณะเดียวกัน ธนาคารยังสนับสนุนนโยบายลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยเพื่อรับสวัสดิการภาครัฐ โดยธนาคารออมสินเป็นหน่วยงานหนึ่งที่รับให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยมาลงทะเบียน

กล่าวโดยสรุป การสัมมนาวิชาการฯ ในช่วงเช้า ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นของการปฏิรูปเศรษฐกิจไทย ซึ่งภาครัฐได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว เช่น การขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากแรงส่งภายใน ควบคู่กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านภาคประชาชน ภาครัฐ ตลอดจนหน่วยงานในพื้นที่ เป็นต้น เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้สามารถขยายตัวได้เต็มศักยภาพต่อไป

การเสวนาในช่วงบ่าย เรื่อง รู้ลึก รู้ทัน การเงินฐานราก ได้มีผู้เสวนา 3 ท่านได้แก่ นายสมบุญ จึงคูพัฒนา ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาสังคมและชุมชน ธนาคารออมสิน นายสุทัศน์ พรหมมา สถาบันการเงินชุมชนบ้านซาววา อำเภอเชียงกลาง จังหวัดน่าน และนางสาวปภาภรณ์ ชุณหชัชราชัย เศรษฐกรชำนาญการพิเศษ สำนักนโยบายพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน โดยมีนางกุลวีร์ สภาวสุ เศรษฐกรชำนาญการ สำนักนโยบายการออมและการลงทุน เป็นผู้ดำเนินรายการ ในการเสวนาในช่วงบ่าย เป็นการกล่าวถึงบทบาทของกระทรวงการคลังในด้านการเงินฐานราก โดยกระทรวงการคลังได้จัดทำแผนพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน พ.ศ. 2560 – 2564 (แผนพัฒนาฯ) ซึ่งจะเป็นการกำหนดทิศทางในการพัฒนาระบบการเงินระดับฐานรากและกำหนดหน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างชัดเจน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจชุมชนและบูรณาการการทำงานร่วมกันของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ภายใต้แผนพัฒนาฯ ดังกล่าว กระทรวงการคลังได้เสนอแนวทางแก้ไขหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและยั่งยืน ร่วมกับหน่วยงานภาคี ใน ๕ มิติ ได้แก่ 1. การดำเนินการอย่างจริงจังกับเจ้าหนี้นอกระบบ 2. เพิ่มช่องทางการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ 3. ลดภาระหนี้นอกระบบโดยการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้ 4. เพิ่มศักยภาพของลูกหนี้นอกระบบ และ ๕. สนับสนุนการดำเนินงานแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบของหน่วยงานภาครัฐและองค์กรการเงินชุมชนที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้เพิ่มช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบเพิ่มขึ้น โดยการอนุญาตให้มีการประกอบธุรกิจการให้สินเชื่อรายย่อยประเภทใหม่ ได้แก่ สินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) และ สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ (สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์)

นายสุทัศน์ พรมมา ซึ่งเป็นปราชญ์บ้านซาววา ได้กล่าวถึง ความเป็นมาของการจัดตั้งสถาบันการจัดการเงินทุนชุมชนบ้านซาววา ซึ่งเป็นตัวอย่างของการยกระดับกองทุนหมู่บ้านให้เป็นสถาบันการเงินชุมชน และเป็นการพัฒนาต่อยอดให้ประชาชนในพื้นที่มีนิสัยรักการออม ตามแนวพระราชดำริหลักเศรษฐกิจพอเพียง และส่งเสริมคนในชุมชนให้ได้เรียนรู้หลักบริหารจัดการการเงิน เพื่อเป็นการเสริมสภาพคล่องในด้านการเงิน นอกจากนี้ สถาบันการจัดการการเงินทุนชุมชนยังเป็นแหล่งเงินทุนและสนับสนุนการสร้างอาชีพให้กับคนในหมู่บ้าน รวมถึงแจกจ่ายสวัสดิการต่างๆ ให้กับชาวบ้านที่เป็นสมาชิกซึ่งช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในหมู่บ้านอีกด้วย

นายสมบุญ จึงคูพัฒนา กล่าวถึงบทบาทของธนาคารออมสินในฐานะที่เป็นธนาคารพี่เลี้ยงให้กับสถาบันการจัดการเงินทุนชุมชน โดยธนาคารออมสินมีเป้าหมายในการสนับสนุนการดำเนินงาน กลุ่ม องค์กร กองทุนการเงินให้แก่สถาบันการจัดการเงินทุนชุมชนให้เกิดประสิทธิภาพ และเป็นแหล่งทุนและสวัสดิการชุมชนโดยการบูรณาการด้านการบริหารจัดการร่วมกันเป็นแหล่งเงินทุนและให้บริการทางการเงินแก่สมาชิกสถาบันการจัดการเงินทุนชุมชน อำนวยความสะดวกให้คนในชุมชนไม่ต้องเดินทางไปฝากถอนเงินที่ธนาคารในอำเภอ โดยธนาคารออมสินได้สนับสนุนระบบสินเชื่อผ่านสถาบันการจัดการเงินทุนชุมชน ซึ่งปัจจุบันประชาชนในระดับฐานรากเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยากเนื่องจากมีการพิจารณาในการอนุมัติสินเชื่อ ซึ่งมีขั้นตอนและกฎเกณฑ์ที่เข้มงวด ดังนั้น การที่ธนาคารออมสินสนับสนุนการจัดตั้งสถาบันการจัดการเงินทุนชุมชน จะทำให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น และเป็นการลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการทางการเงิน

กล่าวโดยสรุป การสัมมนาวิชาการฯ ในช่วงบ่ายชี้ให้เห็นถึงบทบาทของกระทรวงการคลังในด้านการเงินฐานราก โดยกระทรวงการคลังได้จัดทำแผนพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน พ.ศ. 2560 – 2564 (แผนพัฒนาฯ) ซึ่งจะเป็นการกำหนดทิศทางในการพัฒนาระบบการเงินระดับฐานราก เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจชุมชนและบูรณาการการทำงานร่วมกันของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version