นายวีระ ร่มโพธิ์ภักดิ์ ปศุสัตว์จังหวัดอุบลราชธานี เปิดเผยว่า โครงการ "เนื้อสัตว์ปลอดภัย ใส่ใจผู้บริโภค" หรือ "ปศุสัตว์ OK" ถือเป็นการร่วมกันของทุกภาคส่วนในการยกระดับสถานที่จำหน่ายสินค้าปศุสัตว์เพื่อส่งมอบอาหารปลอดภัยสู่ผู้บริโภค สำหรับครั้งนี้ผู้ประกอบการเถ้าแก่เล็ก 4 รายนำร่อง ได้ร่วมกับ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด หรือซีพีเอฟ พัฒนาจุดจำหน่ายเนื้อสัตว์ที่ปลอดภัย ปลอดโรคระบาด ปลอดสารตกค้างทั้งสารเร่งเนื้อแดงและยาปฏิชีวนะ และสามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาได้ตลอดกระบวนการ
"ที่ผ่านมาปศุสัตว์ได้เร่งดำเนินโครงการฯมาต่อเนื่อง โดยเชิญชวนให้ผู้ประกอบการทุกประเภท ทั้งห้างโมเดิร์นเทรด แผงค้าในตลาดสด รวมถึงเถ้าแก่เล็กตู้หมูชุมชนที่ถือเป็นตัวอย่างของผู้ประกอบการรายย่อย ที่ให้ความสำคัญของการส่งมอบอาหารปลอดภัยแก่ผู้บริโภคในชุมชน โดยเฉพาะการมีตู้แช่เย็นเนื้อสุกรรอจำหน่าย ที่ช่วยคงคุณภาพเนื้อสัตว์ไว้ได้เป็นอย่างดี และจะให้ร้านเหล่านี้เป็นต้นแบบของโครงการแก่ผู้ค้าเนื้อสุกรทั่วไป" นายวีระ กล่าว
ด้าน น.สพ.จตุรงค์ โยธารักษ์รองกรรมการผู้จัดการสายธุรกิจสุกร ซีพีเอฟ กล่าวว่า ในจังหวัดอุบลราชธานี ซีพีเอฟมีฟาร์มระบบปิดสำหรับเลี้ยงแม่พันธุ์ปลอดโรค PRRS จำนวน 2,400 แม่ โดยเลี้ยงสุกรแม่พันธุ์ในคอกขังรวมตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ และส่งสุกรขุนเข้าเลี้ยงในฟาร์มเกษตรกรในโครงการฝากเลี้ยง ที่ได้มาตรฐานฟาร์มของกรมปศุสัตว์ (GAP) จากนั้นจะส่งสุกรที่มีสุขภาพดีปลอดสารเร่งเนื้อแดง เข้าชำแหละในโรงฆ่าที่ผ่านมาตรฐานกรมปศุสัตว์ ได้รับใบอนุญาตและมีการรับรองอย่างถูกกฎหมาย ที่ตลอดกระบวนการจะแขวนซากสุกรไว้กับราวแขวนและไม่สัมผัสพื้น แล้วจึงขนส่งเนื้อสุกรด้วยรถขนส่งที่ควบคุมอุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส เพื่อจำหน่ายยังจุดขายมาตรฐานทั้งที่ร้านสาธิต CP PORK SHOP และร้านเถ้าแก่เล็กตู้หมูชุมชนที่บริษัทร่วมสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการรายย่อย
"ซีพีเอฟเร่งยกระดับมาตรฐานจุดจำหน่ายเนื้อสัตว์ตามนโยบายของภาครัฐ โดยตั้งเป้าว่าจุดจำหน่ายของเถ้าแก่เล็กตู้เย็นชุน ต้องผ่านการรับรองปศุสัตว์ OK ให้ได้ 100% ภายในปี 2560 นี้ ที่สำคัญทุกจุดขายจะมีตู้แช่เย็นที่สามารถรักษาอุณหภูมิ 4 องศาฯ ไว้ตลอด ทำให้เนื้อหมูคงความสดสะอาดปลอดภัย จนถึงมือผู้บริโภค" น.สพ.จตุรงค์ กล่าว
ขณะที่ นางทิพประวัน สายโสภา เถ้าแก่เล็กตู้หมูชุมชน อ.สว่างวีรวงศ์ กล่าวว่า สัญลักษณ์ปศุสัตว์ OK เป็นการยืนยันว่าตนเองเป็นผู้ประกอบการที่ผ่านการตรวจรับรองมาตรฐานจุดจำหน่ายจากกรมปศุสัตว์ โดยการดำเนินการไม่ยุ่งยาก เพียงดูแลจุดจำหน่ายของตนเองให้สะอาดถูกสุขลักษณะ และต้องมั่นใจว่าเนื้อสุกรที่นำมาจำหน่ายต้องมีคุณภาพมาตรฐาน จากนั้นจึงประสานกับปศุสัตว์อำเภอเพื่อให้เข้าตรวจรับรอง ซึ่งเป็นการสุ่มตรวจโดยไม่แจ้งล่วงหน้า
"ขอเชิญชวนผู้ค้ามาร่วมโครงการปศุสัตว์ OK เพื่อช่วยกันส่งต่ออาหารที่มีคุณภาพให้กับพี่น้องประชาชน ส่วนร้านเถ้าแก่เล็กตู้หมูชุมชนนี้ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับผู้บริโภคในชุมชนที่ส่วนใหญ่จะเลือกซื้อปลีก ซึ่งเราแบ่งขายตามความต้องการ จะซื้อ 10-20 บาทก็ขาย เพื่ออำนวยความสะดวกให้ชาวชุมชน" นางทิพประวัน กล่าว
ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ดำเนินโครงการปศุสัตว์ OK อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 ปัจจุบันให้การรับรองและมอบตราสัญลักษณ์ปศุสัตว์ OK รวม 2,805 แห่งทั่วประเทศ โดยตั้งเป้าขยายการรับรองให้ครบ 4,000 แห่ง ภายในปี 2560 นี้.