นายสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย ผู้ก่อตั้งบริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง (KKTT) กล่าวในงานเสวนา "Smart City ประชารัฐพัฒนาเมือง" จัดโดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ว่า กลุ่มขอนแก่นพัฒนาเมืองตามเรื่อง Smart City มานานแล้ว มีการเสนอแนะกันในกลุ่มว่าจะช่วยพัฒนาประเทศไทยกันอย่างไร ให้เกิดการขับเคลื่อนพัฒนาเมืองในพื้นที่ของตนเองให้เดินไปข้างหน้า โดยไม่ต้องรอพึ่งพางบประมาณจากส่วนกลาง และเพื่อให้ลูกหลานในวันข้างหน้าอยู่ดีภายใต้โจทย์ที่ว่าทำอย่างไรให้เมืองกระชับ (Compact City) ให้ต้นทาง – ปลายทางอยูใกล้กันและใช้เวลาในการเดินทางน้อยจึงเกิดเป็นโมเดลรถรางขึ้นในจังหวัดขอนแก่นภายใต้กรอบ Smart City โดยมองขอนแก่นพัฒนาเมืองไม่ใช่แค่เครือข่ายอินเทอร์เน็ตแรง โครงสร้างพื้นฐานดีอย่างเดียวแต่ในเมืองรถต้องไม่ติด สังคมเมืองเป็นสังคมที่น่าอยู่ ประชาชนมีคุณภาพมีการศึกษา ไม่ใช่เมืองมีแต่ห้องแถวร้าง ผู้คนในเมืองหนีไปอยู่นอกเมืองหมด หรือเมืองมีแต่แรงงานต่างด้าว ซึ่งภาพของเมืองขอนแก่นต้องมีเสน่ห์ น่าอยู่ พลเมืองที่เข้ามาอยู่มีการศึกษา
ดังนั้นการพัฒนาเมืองที่ดีต้องมองถึงการพัฒนาสิ่งแวดล้อม (Smart Environment) คุณภาพขีวิตที่ดี (Smart Living), เศรษฐกิจดี (Smart Economy) และคนในเมืองที่มาอยู่ต้องมีคุณภาพ (Smart People) รวมทั้งสิ่งที่สำคัญคือ Smart Government เป็นกรอบการขับเคลื่อนที่สำคัญของหน่วยงานภาครัฐ อย่างไรก็ตามบริษัทพัฒนาเมือง โมเดลใหม่ ไม่ใช่เพียงแค่มีแอปพลิเคชั่นดี มีแพลตฟอร์มดีเท่านั้น แต่คนทำงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดต้องเปลี่ยนวิธีการคิดจะทำให้เกิดการขับเคลื่อนเมืองที่ดี (Smart Mobility)
อีกกรอบของการทำงานที่สำคัญ และเป็นหัวใจหลักคือการพัฒนาคน สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันด้วย อาทิ การพัฒนาเมืองที่ดีไม่จำเป็นต้องสร้างที่จอดรถ แต่ทำอย่างไรให้รถจอดบนถนนได้ นั่นคือถนนต้องมี 5 เลน ภายใต้การสรรค์สร้างนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งนับเป็นความโชคดีของกลุ่มขอนแก่นพัฒนาเมืองโดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น นอกจากนี้กลุ่มของเรายังมีการส่งแผนเข้าประกวดไปยังกระทรวงพลังงาน โดยใส่เรื่องการออกแบบพลังงงานใหม่ทั้งหมด และแบ่งการพัฒนาเมืองเป็นย่านเมืองใหม่ ย่านเมืองเก่า คือต้องไม่เจอจุดเสื่อมโทรมเหมือนในกรุงเทพฯ มีการฟื้นฟูเมืองเก่าให้มีความทันสมัยโดยใส่รถรางเข้าไปจะทำให้เมืองกลับมามีชีวิตคนกลับเข้ามาในเมืองเช่นเดียวกับฝรั่งเศสในอดีต ซึ่งแต่ก่อนฝรั่งเศสก็เหมือนกรุงเทพฯ มีรถมากและรถติด แต่พอมีรถรางเข้าไปในเมืองห้องแถวเก่าๆ ก็กลับมามีชีวิตชีวา ผู้คนเข้ามาเช่าห้องแถวทำธุรกิจ เมืองก็มีสีสัน เช่นเดียวกับเมือง Oregon ซึ่งเคยมีปัญหารถติดมากแต่เขาเปลี่ยนเมืองได้ภายในระยะเวลา 30 ปี อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยนับว่าโชคดีที่จะไม่ยอมซอยเท้าอยู่กันอีกต่อไป โดยวันนี้เรามี 7 จังหวัดของประเทศไทยที่จะจัดตั้งบริษัทพัฒนาเมือง โมเดลใหม่ ได้แก่ ภูเก็ต เชียงใหม่ ขอนแก่น เป็นต้น
นายก้าน ประชุมพรรณ์ บริษัท ภูเก็ตพัฒนาเมือง กล่าวว่า โมเดลของภูเก็ตเราใช้วิธีเข้าหาผู้หลัก ผู้ใหญ่หลายท่านในจังหวัดภูเก็ตที่มาจากตระกูลเหมืองเก่า โดยเสนอเรื่องระดมทุน ซึ่งผู้ใหญ่หลายท่านมองเห็นประโยชน์บริษัทพัฒนาเมือง โมเดลใหม่ เกิดความเชื่อมั่น จึงเกิดการระดมทุนครั้งแรก 100 ล้านบาท และจะเพิ่มการระดมทุนเป็น 400 ล้านในเดือนเมษายน 2560 ซึ่งการวางผังเมืองใช้กรอบSmart Grow หนึ่งในโครงการ Smart City มีการพัฒนาระบบขนส่ง มีรถบัสวิ่งในเมือง และจะมีการพัฒนาท่าเรือ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระบบไฟฟ้า ประปา การบริหารจัดการน้ำ เพื่อให้จังหวัดภูเก็ตเป็นเมืองชั้นนำระดับโลก รวมทั้งการพัฒนาแอพพลิเคชั่นเป็นเรื่องสำคัญด้วย มีการทำงานร่วมกับ สำนักส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และ CAT Telecom มีการใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในเมืองเพื่อการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวได้ถูกจุด
นายณรงค์ ตนานุวัฒน์ บริษัทเชียงใหม่พัฒนาเมือง กล่าวว่า เชียงใหม่เป็นเมืองใหญ่มีการพัฒนาเมืองมาเป็นเวลา 700 ปี จากพระยาเม็งราย แต่เชียงใหม่ในปัจจุบันถูกทำลายด้วยความเจริญที่ไม่ถูกทาง ระบบขนส่งสาธารณะถูกทำลายด้วยรถเมล์แดง เพราะไม่ได้วิ่งตามเส้นทางที่เคยวิ่ง ทำให้พลเมืองนำรถมอร์เตอร์ไซด์ออกมาวิ่งเต็มไปหมด นอกจากนี้รถส่วนบุคคลมีมากทำให้เชียงใหม่รถติด ซึ่งถ้าไม่มีการแก้ไขหรือพัฒนาระบบขนส่งในอีก 5 ปีข้างหน้า เชียงใหม่จะเป็นอัมพาต อย่างไรก็ตามจุดดีของเชียงใหม่ในปัจจุบันเรามีอุโมงค์ มีวงแหวน แต่การพัฒนาคงที่ใน 20 ปีที่ผ่านมา ระบบขนส่งขาดการพัฒนาที่ยั่งยืน ดังนั้นมองว่าเชียงใหม่พัฒนาเมือง โมเดลใหม่ ต้องเริ่มแล้ว ซึ่งต้องมีพื้นที่รองรับความเจริญ มีสนามบินแห่งที่สองรองรับนักท่องเที่ยว มีรถไฟความเร็วสูงผ่านการกระดมทุนของคนในเชียงใหม่ที่เรียกว่า คลาวด์ฟันดิ้ง ซึ่งเห็นผลในทิศทางที่ดีเพราะมีการระดมทุนคนละ 1-2 แสน ซึ่งขณะนี้ได้ 70 ล้านแล้ว มีการมองทิศทางการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน โดยดูตัวอย่างขอนแก่นพัฒนาเมือง และที่น่าจะดำเนินการได้ก่อนคือรถบัสประจำทางน่าจะเกิดขึ้นในอีก 7 เดือนข้างหน้า โดยบริหารจัดการร่วมกันผ่านพลังประชารัฐ เพื่อการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) กล่าวว่า เสียงสะท้อนจากภาคเอกชนเป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล Thailand 4.0 ผ่านโครงการ Smart City ซึ่งต่อจากนี้ทางสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หน่วยงานในสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมจะได้เตรียมแผนการดำเนินงานขับเคลื่อน Smart City เชิงรุกผ่านพลังประชารัฐเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป