"4 E" องค์ประกอบยุทธศาสตร์พลังงาน
นายสุรพันธ์ วงษ์โอภาษี นักวิชาการด้านพลังงาน กล่าวถึงกรอบแนวคิดในการกำหนดยุทธศาสตร์ด้านพลังงานของประเทศต้องคำนึงถึงองค์ประกอบ 4 E คือ
1.Economic ด้านเศรษฐศาสตร์ , เศรษฐกิจ ซึ่งไม่ใช่คำนวนเพียงว่าต้นทุนในการผลิตพลังงานมีราคาถูกหรือแพง แต่ครอบคลุมถึงกระบวนการในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะมีการจ้างงาน การลงทุนตามมา
2. Environment ด้านสิ่งแวดล้อม ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสุขภาพของคน สัตว์ และมิติสังคม วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป
3. Energy Security ความมั่นคงด้านพลังงานต้องกระจายความเสี่ยงแหล่งพลังงานไม่พึ่งพาเชื้อเพลิงอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่นญี่ปุ่นใช้เชื้อเพลิงผลิตพลังงานไฟฟ้าจาก 4 แหล่งสำคัญคือ ถ่านหินร้อยละ 25, นิวเคียร์ร้อยละ 25, ก๊าซธรรมชาติซื้อจากต่างประเทศและ ส่วนที่ 4 คือพลังงานหมุนเวียน ขณะที่ไทยพึ่งพาก๊าซธรรมชาติและน้ำมันสูงสุด
4.Engineering ด้านเทคโนโลยีซึ่งการผลิตพลังงานจากเชื้อเพลิงถ่านหินมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยต่างจากในอดีตกรณีตัวอย่างโรงไฟฟ้าแม่เมาะจังหวัดลำปาง ปัจจุบันใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยสามารถอยู่ร่วมกับชุมชน จนจัดงานเฟสติวัลทุกปี ขณะที่เทคโนโลยีผลิตพลังงานจากแหล่งเชื้อเพลิงหมุนเวียนยังอยู่ในขั้นทดลอง เช่นการผลิตไฟฟ้าจากคลื่นใต้น้ำ ต้นทุนการผลิตสูงไม่เหมาะการใช้ในเชิงพาณิชย์ กรณีกลุ่มต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จังหวัดกระบี่ ซึ่งระบุว่าจะใช้เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนชีวมวลและพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งหมด การวิจัยทดสอบสรุปว่าสามารถผลิตไฟฟ้าได้เพียง 170 เมกกะวัตต์ ขณะที่ปริมาณการใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 300 เมกกะวัตต์
แจ้งเกิดโรงไฟฟ้าถ่านหินขึ้นอยู่กับความกล้าตัดสินใจของรัฐบาล
ศาสตราจารย์ ดร.ธราพงษ์ กล่าวว่า ได้ลงพื้นที่ทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงผลกระทบจากโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินที่จังหวัดกระบี่ โดยได้ทำการวิจัยตรวจสอบสัตว์ทะเลที่ชาวบ้านระบุว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินในอดีตทำให้สัตว์ทะเลมีสารปรอทเจือจน แต่การนำสัตว์ทะเลมาตรวจสอบวิเคราะห์ก็ไม่พบปรอทตกค้างแต่อย่างใด
"ที่ผ่านมารัฐบาลทุกสมัยไม่กล้าตัดสินใจเรื่องนโยบายพลังงานเนื่องจากต้องเผชิญกับการคัดค้านกลุ่มเอ็นจีโอ และกระทบผลประโยชน์ทางการเมือง"
ศาสตราจารย์ ดร.ธราพงษ์ กล่าวว่า เชื้อเพลิงจากฟอสซิสมีแนวโน้วลดลงทุกวันหลายประเทศทั่วโลกแสวงหาพลังงานสำรองซึ่งถ่านหินมาเป็นลำดับแรกในแผนพลังงานของแต่ละประเทศ เช่นเดียวกับประเทศไทยที่มีปริมาณถ่านหินยังเพียงพอและมีแหล่งนำเข้าถ่านหินคุณภาพดี ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ต่ำ ปรอทต่ำ ให้ค่าความร้อนสูง ประกอบกับปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยจึงเป็นพลังงานทางเลือกที่คุ้มค่า นอกจากนี้เห็นว่าการผลิตพลังงานจากเชื้อเพลิงทุกประเภทมีของเสียทั้งสิ้น ไม่เว้นแม้กระทั่งพลังงานหมุนเวียนอย่างแผงโซล่าห์เซลล์ซึ่งเมื่อหมดอายุการใช้งานก็ต้องหาวิธีกำจัดเช่นกัน ดังนั้นเห็นว่าการนำเทคโนโลยีมาจัดการของเสียเป็นเรื่องสำคัญ
เผยคนกระบี่ 7 แสนค้านถ่านหินแค่ 13.9 %
พล.ต.ท.ดร.ณรงค์ กล่าวว่า ได้เข้าร่วมเป็นกรรมการไตรภาคี ชุดที่ 3 ในการรับฟังความเห็นประชาชนต่อการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินจังหวัดกระบี่ ระบุว่าในปี 2555 ได้เริ่มเข้าไปทำงานในพื้นที่ทั้งกระบวนการให้ความรู้ประชาชน ให้ข่าวสารข้อมูล สร้างความสัมพันธ์กับชุมชน และสำรวจความคิดเห็นประชาชนใน 7 ตำบลในจังหวัดกระบี่ซึ่งมีประชากร 7 แสนคน ปรากฎว่ามีประชาชนปฏิเสธเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินเพียงร้อยละ 13.9 เท่านั้น แสดงให้เห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ทั้งนี้การดำเนินการเห็นว่าต้องช่วยเหลือชุมชนที่อยู่รอบโรงไฟฟ้าทั้งความช่วยเหลือด้านสุขภาพ โครงการสนับสนุนกองทุนหมู่บ้าน กิจกรรม CSR พร้อมยกตัวอย่างเช่นโรงไฟฟ้า มัตซุอุระ เกาะคิวชู ประเทศญี่ปุ่น เป็นโรงงานผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินกำลังผลิตไฟฟ้า2,000 เมกกะวัตต์ โดยนำกากถ่านหินที่เหลือจากกระบวนการผลิตไฟฟ้าไปถมทะเล ทั้งๆที่เมืองนี้เป็นเมืองเกษตรกรรม ปลูกข้าว พืชผลหลายชนิด โรงไฟฟ้าก็สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้
อนาคตอาเซียนเปิดศึกชิงความมั่นคงทางพลังงาน
นายทรงฤทธิ์ กล่าวว่า ในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 10 ประเทศต่างเร่งจัดหาพลังงานสำรองซึ่งหมายถึงความมั่นคงของประเทศ เช่นสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารโลกสำรวจแม่น้ำโขงสาขาเพื่อสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า ก็ถูกเอ็นจีโอคัดค้านแต่สุดท้ายรัฐบาลตัดสินใจสร้างเขื่อนน้ำเถินทั้งแห่งที่หนึ่งและแห่งที่สองเป้าหมายผลิตกระแสไฟฟ้าขายให้ประเทศไทย ซึ่งปัจจุบัน(ปลายปี 2559)ไทยรับซื้อไฟฟ้าจากสปป.ลาวถึง 9,000 เมกกะวัตต์ โดยสปป.ลาวมีแผนผลิตไฟฟ้าถึง 30,000 เมกกะวัตต์ พร้อมประกาศตัวเป็น "แบตเตอรี่ของเอเชีย"
ขณะที่เมียนมาประกาศเปิดแหล่งขุดเจาะก๊าซธรรมชาติ 36 แห่งทั้งบนบกและในทะเล มี 47 ประเทศเข้าไปลงทุน ร่วมถึงบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ เข้าไปลงทุน ปัจจุบันประเทศจีนรับซื้อก๊าซธรรมชาติจากเมียนมาร้อยเปอร์เซ็นต์ เหมือนมีความต้องการซื้อก๊าซสูง ประเทศไทยที่นำเข้าก๊าซธรรมชาติจากเมียนมาย่อมต้องเผชิญปัญหาด้านราคาซื้อก๊าซธรรมชาติที่สูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อต้นทุนผลิตไฟฟ้า ด้านประเทศเวียดนามมีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ส่วนอินโดนีเซียเป็นผู้ส่งออกถ่านหินอันดับหนึ่งของโลก ส่วนประเทศสิงค์โปร์ ไม่มีปัญหาพลังงาน เพราะน้ำมันดิบครึ่งโลกกลั่นที่นั่น
เมื่อย้อนกลับมาสำรวจประเทศไทยแม้มีแผนแม่บทพลังงานของชาติแต่ไม่สามารถดำเนินการตามแผนได้เลย เป็นโจทย์ที่ต้องคิดว่าทุกประเทศมีความต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆหากไทยไม่มีแผนสำรองการใช้พลังงานอนาคตต้องซื้อพลังงานจากเพื่อนบ้านในราคาสูงขึ้นแน่นนอน
คำตอบสุดท้ายโรงไฟฟ้าถ่านหินขึ้นกับความกล้าตัดสินใจของรัฐบาล
ทั้งนี้วงเสวนาเห็นตรงกันว่ารัฐบาลต้องกล้าตัดสินใจในการวางแผนยุทธศาสตร์พลังงานและการดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินหากเห็นถึงความคุ้มค่าในทุกๆด้าน โดยเสนอให้ตั้งคนกลางเป็นผู้ดำเนินการรับฟังประชาพิจารณ์ ความเห็นประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ไม่ใช่เป็นหน้าที่ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตซึ่งถือเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงเพราะเป็นผู้ดำเนินการโครงการ หากยังไม่มีความชัดเจนถึงแผนการดำเนินการจะส่งผลให้ประเทศไทยเสี่ยงต่อความมั่นคงด้านพลังงานซึ่งส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อระบบเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ และเรียกร้องความเข้าใจของทุกฝ่ายในการพัฒนาพลังงานเพื่อตอบสนองความต้องการในอนาคต การสร้างพลังร่วมของคนในชาติเพื่อขับเคลื่อนความมั่นคงด้านพลังงานเพื่อสร้างความมั่นคงของชาติ