ความสัมพันธ์ระหว่างโรคอ้วนและโรคไต
โรคอ้วนเป็นสาเหตุของการเกิดโรคไตได้หลายทาง ที่ชัดเจนที่สุดคือการที่โรคอ้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการเกิดโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคไตเรื้อรังที่สำคัญที่สุด 2 อันดับแรก นอกจากนี้โรคอ้วนยังมีผลต่อการเสื่อมของไตที่เร็วขึ้น เนื่องจากในผู้ป่วยโรคอ้วนไตจะมีอัตราการกรองของเสียสูงกว่าคนปกติ และมีไข่ขาวรั่วออกมาในปัสสาวะในปริมาณที่มากขึ้น เมื่อไตทำงานหนักเป็นเวลานานก็จะทำให้ไตเสื่อมเร็ว นอกจากนี้ยังพบว่าการเพิ่มขึ้นของเซลล์ไขมันทั่วร่างกายจะทำให้มีการหลั่งสารในขบวนการอักเสบต่าง ๆ ออกมาสู่กระแสเลือด ซึ่งสารเหล่านี้มีส่วนทำให้เซลล์ของไตทำงานผิดปกติตามมาในที่สุด
ความสัมพันธ์ของโรคอ้วนและโรคไตไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะโรคไตเรื้อรัง แต่โรคไตวายเฉียบพลัน ซึ่งเป็นภาวะที่มีความรุนแรง จำเป็นต้องให้การรักษาอย่างเร่งด่วนนั้นก็พบในคนอ้วนได้บ่อยกว่าคนที่มีน้ำหนักปกติ และยังพบว่าภาวะไตวายเฉียบพลันที่เกิดในคนอ้วนยังสัมพันธ์กับอัตราการเสียชีวิตที่สูงขึ้น และมีโอกาสที่จะพบไตเสื่อมในระยะยาวสูงขึ้นด้วยเช่นกัน
โรคอ้วน ...วินิจฉัยอย่างไร
โรคอ้วนแบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ
1) อ้วนลงพุง เป็นลักษณะของคนอ้วนที่มีการสะสมของไขมันที่บริเวณช่องท้องและอวัยวะภายใน วินิจฉัยโดยการวัดเส้นรอบเอว โดยโรคอ้วนลงพุงจะได้รับการวินิจฉัยเมื่อมี ค่าเส้นรอบเอวตั้งแต่ 90 เซนติเมตรขึ้นไปในผู้ชาย และตั้งแต่ 80 เซนติเมตรขึ้นไปในผู้หญิง โดยโรคอ้วนลงพุงจะมีความสัมพันธ์กับโรคแทรกซ้อนมากมาย เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น
2) อ้วนทั้งตัว เป็นลักษณะของคนอ้วนที่มีไขมันทั้งร่างกายมากกว่าปกติ โดยไขมันที่เพิ่มขึ้นไม่ได้จำกัดอยู่ที่ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งโดยเฉพาะ คนที่เป็นโรคอ้วนทั้งตัวส่วนใหญ่มักจะมีโรคอ้วนลงพุงร่วมอยู่ด้วย ทำให้โรคอ้วนทั้งตัวมีความสัมพันธ์กับโรคต่างๆ มาก ทั้งโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคข้อเสื่อม โรคปวดหลัง และภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เป็นต้น
การวินิจฉัยโรคอ้วนทั้งตัวเราจะใช้การวัดค่าดัชนีมวลกาย หรือ body mass index (BMI) โดยมีสูตรคำนวณดังนี้
ดัชนีมวลกาย (BMI) = น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) / ส่วนสูง (เมตร)2 และเราสามารถแบ่งระดับความอ้วนและความเสี่ยงต่อโรคตามค่าดัชนีมวลกายได้ดังนี้
ค่าดัชนีมวลกาย (กก./ม2) อยู่ในเกณฑ์ ความเสี่ยงต่อโรค
น้อยกว่า 18.5 น้ำหนักน้อย / ผอม มากกว่าคนปกติ
18.5-22.9 ปกติ (สุขภาพดี) เท่าคนปกติ
23.0-24.9 ท้วม / โรคอ้วนระดับ 1 อันตรายระดับ 1
25.0-29.9 อ้วน / โรคอ้วนระดับ 1 อันตรายระดับ 2
มากกว่า 30.0 อ้วนมาก / โรคอ้วนระดับ 2 อันตรายระดับ 3
ที่มา: องค์การอนามัยโลก
หลักการลดความอ้วน ...เพื่อป้องกันโรคไต
เราสามารถลดน้ำหนักเพื่อป้องกันโรคไตโดยยึดหลัก 3 อ. ดังต่อไปนี้
อาหาร
1) รับประทานให้ครบทั้ง 3 มื้อ
2) เลือกรับประทานอาหารพลังงานต่ำ หรือลดปริมาณอาหารลงอย่างน้อย 1 ใน 3 ของที่เคยรับประทาน
3) ลดอาหารประเภท แป้ง น้ำตาล ไขมัน ลง
4) รับประทานผักหลากสี ผลไม้ที่มีรสไม่หวานจัด เช่น แอปเปิ้ล ชมพู่ ฝรั่ง เป็นต้น
5) เคี้ยวอาหารช้าๆ ใช้เวลาเคี้ยวประมาณ 30 ครั้งต่อ 1 คำ
6) ไม่ควรรับประทานอาหารหลังเวลา 20.00 น.
ออกกำลังกาย
1) แค่ขยับก็เท่ากับออกกำลังกาย
2) เดินขึ้นบันไดแทนการใช้ลิฟท์
3) เพิ่มการเดินให้ได้ 2,000 ก้าวต่อวัน
4) ออกกำลังกายแบบแอโรบิค อย่างต่อเนื่อง 30 นาทีขึ้นไป 5 วันต่อสัปดาห์ โดยเลือกกีฬาที่ชอบ และมีความสุขขณะเล่น อาจจะเป็นเดินเร็ว วิ่ง ขี่จักรยาน หรือว่ายน้ำ เป็นต้น
อารมณ์
การลดน้ำหนักจะประสบผลสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับการควบคุมอารมณ์เป็นสำคัญ เพราะหากยิ่งเครียดก็จะยิ่งรับประทานมาก และที่สำคัญคือต้องมีอารมณ์มุ่งมั่นต่อเป้าหมายลดน้ำหนัก หากไม่สามารถควบคุมอารมณ์และความรู้สึกได้ จะทำให้ล้มเลิกความคิดในการลดน้ำหนักในที่สุด โดยหลักในการควบคุมอารมณ์และความรู้สึกขณะลดน้ำหนัก มีดังนี้
สกัด สกัดสิ่งกระตุ้นที่ทำให้หิว
สะกด สะกดใจไม่ให้บริโภคเกิน
สะกิด ให้คนรอบข้างช่วยเหลือ และเป็นกำลังใจขณะลดน้ำหนัก
ที่มา: หลัก 3 อ. สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
..... ทั้งนี้ขอเชิญผู้ที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมวันไตโลกของสมาคมโรคไตฯ ภายใต้คำขวัญ "อ้วนกลมระทมไต" ในวันอาทิตย์ที่ 12 มีนาคม 2560เวลา 10.00 ถึง 18.00 น. ณ Atrium zone ชั้น 1 ภายในศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ .....