ดร. ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ มร.แอนดรูว์ กลาส ผู้อำนวยการบริติช เคานซิล ร่วมในพิธีเปิด 1 ใน 8 ศูนย์พัฒนาครูภาษาอังกฤษระดับภูมิภาค (Regional English Training Centre) ที่โรงเรียนสุรนารีวิทยา จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งการเปิดการศูนย์การอบรมครั้งนี้เป็นการเปิดศูนย์ฯ 8 แห่งทั่วประเทศตามแผนที่วางไว้พร้อมอบรมครู 5,100 คนให้สอนภาษาอังกฤษที่ใช้ได้จริง โดยบริติช เคานซิลทำหน้าที่เป็นผู้ออกแบบหลักสูตรการอบรมตามรูปแบบ Communicative Approach ในระยะเวลา 3 สัปดาห์ ซึ่งนับเป็นการอบรมในรูปแบบใหม่ของประเทศไทย เนื่องจากหลักสูตรนี้ได้มีการปรับเพื่อให้ตรงตามบริบท และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทย แต่ยังคงคุณภาพมาตรฐานระดับนานาชาติของบริติช เคานซิล โครงการนี้ถือเป็นการพัฒนาการอบรมครูที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของบริติช เคานซิลในอีสท์เอเชียประจำปี 2017 โดยมุ่งเน้นภาคปฏิบัติและช่วยวางรากฐานการอบรมอย่างยั่งยืน การจัดตั้งศูนย์การอบรมครูภาษาอังกฤษระดับภูมิภาคเป็นโครงการขยายผลจากโครงการอบรมพัฒนาครูแกนนำด้าน การเรียนภาษาอังกฤษ (Boot Camp)เมื่อเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน 2559 โดยกระทรวงศึกษาธิการมีเป้าหมายใน การพัฒนากลุ่ม Master Trainer ชาวไทยจำนวน 27 คนจากการเข้าร่วมการอบรมในปีแรก เข้าร่วมเป็นผู้ช่วยผู้เชี่ยวชาญต่างชาติ เพื่อให้ Master Trainer เหล่านี้สามารถพัฒนาตนเองเพื่อเป็นวิทยากรหลักประจำภูมิภาคอย่างมีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืนในอนาตต
ดร. ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการ กล่าวว่า "ผมคิดว่าทุกท่านเป็นส่วนนึงประวัติศาสตร์ที่สำคัญของการเปลี่ยนแปลงการศึกษาในหลายแง่มุม ทั้งในขนาดของโครงการซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการการอบรมครูภาษาอังกฤษที่ใหญ่ที่สุดของบริติช เคานซิลในอีสท์เอเชียในปี 2017 ซึ่งความยิ่งใหญ่นี้สะท้อนให้ถึงความคิดของเราที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาครูของเราอย่างจริงจัง กระทรวงศึกษาธิการมีแผนดำเนินงานในการเปิดศูนย์การอบรมภาษาอังกฤษระดับภูมิภาค 18 แห่งภายในปีนี้ วางแผนขยายผลเพิ่มเติม และเพิ่มสื่อการเรียนการสอนให้คุณครูมากขึ้น ในวันนี้ผมคิดว่านอกจากทุกท่านจะเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่สำคัญแล้ว ท่านยังเป็นส่วนที่สำคัญในการกำหนดอนาคตของประเทศเช่นกัน"
มร.แอนดรูว์ กลาส ผู้อำนวยการบริติช เคานซิล ประเทศไทย กล่าวว่า "ในหลายๆประเทศมักมีการวิเคราะห์และมี ข้อถกเถียงถึงปัจจัยที่ส่งผลถึงพัฒนาการด้านการศึกษาโดยเฉพาะด้านภาษาอังกฤษ เช่น ระบบการดำเนินการของสถาบันการศึกษา การสนับสนุนจากภาครัฐและภาคเอกชน รวมไปถึงความเชื่อมโยงระหว่างหลักสูตร การประเมินผล และสื่อเทคโนโลยีการสอน แต่สิ่งที่ผมมองว่าสำคัญที่สุดและเป็นหัวใจของโครงการนี้ คือ "คุณครูและการสอน" เพราะสุดท้ายแล้วประโยชน์สูงสุดที่เราอยากให้เกิดขึ้นคือ ประโยชน์ต่อผู้เรียน และผมเชื่อว่าหากนักเรียนคนหนึ่งมองย้อนกลับไปในช่วงการเรียนของเขา คงไม่มีนักเรียนคนใดนึกถึงการสอบวิชาฟิสิกส์หรือเทคโนโลยีล้ำสมัยที่ใช้ในห้องเรียน แต่สิ่งที่จะอยู่ในความทรงจำของนักเรียนคือ "คุณครู" ครูที่สร้างแรงบันดาลใจในการเรียน มีความเชื่อและส่งเสริมในความมุ่งมั่นทำให้นักเรียนคนนึงมีความรู้สึกสำคัญและสามารถทำสิ่งที่ตั้งใจให้ประสบความสำเร็จได้ ในโครงการนี้เรากำลังพูดถึงภาคปฏิบัติ สิ่งที่เกิดผลจริง และการน้อมรับความเห็นหรือข้อถกเถียกที่เกิดขึ้นมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับการพัฒนาการสอนภาษาอังกฤษในประเทศไทย และนั่นคือเหตุผลที่ผมคิดว่าโครงการนี้มีความสำคัญและสร้างความแตกต่างอย่างมาก"