นายสัตวแพทย์พศวีร์ สมใจ เปิดเผยว่า หลังจากได้หารือกับกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ทั้ง 7 ราย ได้แก่ ซีพีเอฟ เบทาโกร เซนทาโก สหฟาร์ม แหลมทองโพลทรี บางกอกแร้นซ์ และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรนครราชสีมา ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าควรจะผลักดันให้นครราชสีมาเป็นจังหวัดนำร่องในการสร้างอาหารปลอดภัยเพื่อผู้บริโภคอย่างเป็นรูปธรรม และให้เป็นตัวอย่างการบูรณาการร่วมกันของภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกร ในการพัฒนามาตรฐานการผลิตสัตว์สู่สากล โดยเฉพาะการควบคุมและเฝ้าระวังยาตกค้างในเนื้อสัตว์ ทั้งก่อนและหลังการชำแหละ ทำให้เกิดความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์ทั้งแก่ผู้บริโภคชาวโคราชและผู้บริโภคทั่วประเทศ ว่าจะได้รับสินค้าเนื้อสัตว์ปลอดภัยอย่างแท้จริง
"นครราชสีมาถือเป็นครัวของประเทศไทย เนื่องจากมีฟาร์มเลี้ยงสัตว์และปริมาณการผลิตรวมของเนื้อสัตว์ทั้งสุกรและสัตว์ปีกมากที่สุด รวมถึงมีการส่งออกสินค้าปศุสัตว์เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาปศุสัตว์จังหวัดมีการติดตามเฝ้าระวังเรื่องการใช้ยาในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ให้มีมาตรฐานมาตลอด โดยเฉพาะการตรวจสารเร่งเนื้อแดงและยาสัตว์ตกค้าง ตามนโยบายของกรมปศุสัตว์ พบว่าตลอดปี 2559 ไม่พบการกระทำผิดทั้งการลักลอบใช้สารเร่งเนื้อแดงและยาปฏิชวีนะตกค้างในเนื้อสัตว์เลย" ปศุสัตว์จ.นครราชสีมา กล่าว
ด้าน น.สพ.พยุงศักดิ์ สมยานนทนากุล รองกรรมการผู้จัดการด้านมาตรฐานการผลิตสัตว์ปีก บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ กล่าวว่า จากวิสัยทัศน์การเป็น 'ครัวของโลก' บริษัทจึงมุ่งมั่นดำเนินกิจการสอดคล้องมาตรฐานสากลมาโดยตลอด เพื่อผลิตอาหารที่มีคุณภาพและปลอดภัยส่งมอบสู่ผู้บริโภคชาวไทยและทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตสัตว์ที่ดีเพื่อให้ได้เนื้อสัตว์ที่เป็นวัตถุดิบหลักสำหรับแปรรูปเป็นอาหารพร้อมรับประทาน ที่ต้องมีความปลอดภัย ปลอดสารตกค้าง และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ในทุกขั้นตอน โดยเน้นหลักสวัสดิภาพสัตว์ หรือ Animal Welfare ทั้งการดูแลเลี้ยงสัตว์ภายในโรงเรือนที่ทันสมัย มีระบบความปลอดภัยทางชีวภาพที่เข้มงวด ทำให้ไก่มีสุขภาพแข็งแรงเติบโตดี จึงมีความเสี่ยงในการใช้ยาปฏิชีวนะน้อย
"ซีพีเอฟมีข้อกำหนดในการใช้ยาเฉพาะที่จำเป็น เมื่อสัตว์เกิดปัญหาสุขภาพหรือมีการเจ็บป่วย เพื่อการรักษาให้หายจากอาการป่วยเท่านั้น ซึ่งเป็นไปตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ไม่ให้สัตว์ต้องทุกข์ทรมาน โดยทุกครั้งสัตวแพทย์จะเป็นผู้สั่งจ่ายยาและควบคุมการใช้ยาอย่างใกล้ชิด และต้องมีระยะหยุดยาตามมาตรฐานที่กำหนดอย่างเคร่งครัด การร่วมบันทึกความมุ่งมั่นฯ ในครั้งนี้จึงสอดคล้องกับสิ่งที่บริษัทได้ดำเนินการมาตลอดอยู่แล้ว" น.สพ.พยุงศักดิ์ กล่าว
ขณะที่ น.สพ.คุณวุฒิ เครือลอย ผู้ชำนาญการอาวุโส ฝ่ายสัตวแพทย์บริการวิชาการ ธุรกิจสุกร ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทมุ่งเน้นให้กระบวนการผลิตอาหารมีความปลอดภัยตลอดห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ โรงชำแหละ โรงแปรรูป กระทั่งจุดจำหน่ายที่ต้องมีการควบคุมอุณหภูมิและสุขอนามัยอย่างดีตามมาตรฐานปศุสัตว์ OK ทั้งในส่วนฟาร์มสุกรของบริษัทรวมถึงฟาร์มของเกษตรกรในโครงการส่งเสริมอาชีพ ที่เป็นฟาร์มระบบโรงเรือนปิดได้มาตรฐานของกรมปศุสัตว์ เน้นวิธี "ป้องกันโรคตามหลัก Biosecurity" และวางระบบการบริหารจัดการฟาร์ม ตลอดจนการให้วัคซีนแก่ลูกสุกรตามระยะเวลาที่สัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มเป็นผู้กำหนด ปัญหาสัตว์ป่วยจึงเกิดขึ้นน้อย ทั้งนี้หากพบสุกรป่วยและจำเป็นต้องใช้ยาในการรักษาตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ ก็จะอยู่ภายใต้การควบคุมโดยสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันไม่ให้มีการตกค้างหรือส่งผลกระทบใดๆ ต่อการบริโภค
"กรณีที่มีการใช้ยาจะมีระยะหยุดยาก่อนถึงเวลาส่งสุกรไปยังโรงชำแหละ เพื่อให้มั่นใจว่าปราศจากสารตกค้างใดๆ และเมื่อไปถึงโรงชำแหละสุกรจะถูกตรวจสอบซ้ำอีกครั้ง สุกรต้องปลอดจากสารตกค้างเท่านั้น จึงจะส่งเข้าชำแหละได้ จะเห็นได้ว่ากระบวนการเช่นนี้มีความปลอดภัยสูง ซึ่งบริษัทเราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อยู่แล้ว จึงมีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้ร่วมกับภาครัฐและเพื่อนผู้ประกอบการทุกบริษัท ในการมุ่งมั่นนำแนวปฏิบัติในการผลิตปศุสัตว์ปลอดภัยไร้สารตกค้างไปดำเนินการต่อไป" น.สพ.คุณวุฒิ กล่าว
ทั้งนี้ บันทึกแสดงความมุ่งมั่นการใช้ยาในฟาร์มปศุสัตว์จังหวัดนครราชสีมา ปลอดภัยไร้สารตกค้างในเนื้อสัตว์ กำหนดให้ทุกฝ่ายมุ่งพัฒนาการผลิตปศุสัตว์เพื่อยกระดับมาตรฐานให้สูงขึ้น ด้วยการควบคุม ตรวจสอบ และเฝ้าระวังสารตกค้างในเนื้อสัตว์อย่างเข้มงวดตามระเบียบกรมปศุสัตว์ สอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยกรมปศุสัตว์ทำหน้าที่ควบคุมและติดตามการใช้ยาสัตว์ในฟาร์มอย่างเข้มงวด ทั้งเรื่องการใช้ยาสัตว์คุณภาพของยาสัตว์และตรวจสอบการตกค้างของยาทั้งก่อนและหลังการเชือดชำแหละ โดยผู้ประกอบการทั้ง 7 รายจะดำเนินการสื่อสารถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบถึงความมุ่งมั่นดังกล่าวและร่วมกันปฏิบัติอย่างเคร่งครัดต่อไป.